“ส.อ.ท.” จี้รัฐรับมือเศรษฐกิจโลกยังหนัก

หลังจากประเมินสถานการณ์โดยรวมในปี 2563 “นายสุพันธ์ มงคลสุธี” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ยอมรับว่า ภาคเอกชนต้องปรับตัวกันครั้งใหญ่ เศรษฐกิจยังคงได้รับแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลก สงครามค่าเงินการเมือง แม้รัฐจะมีมาตรการกระตุ้นการลงทุน การใช้จ่ายออกมา แต่บรรยากาศกลับไม่ฟื้นตามข้อเสนอหลักคือต้องลดภาระ โดยเอกชนขอให้รัฐพิจารณาเรื่องของการลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการรายเล็กและประชาชนบางส่วน โดยการลดค่าไฟให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และบ้านพัก 5% เป็นระยะเวลา 1 ปี

ขณะเดียวกันขอให้รัฐพิจารณาลดภาษีนำเข้าเครื่องจักรใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในสินค้าที่ไทยผลิตเองไม่ได้ ให้เหลือ 0% เป็นระยะเวลา 1 ปี เพราะจะเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ช่วงของค่าเงินบาทแข็ง นำเข้าเครื่องจักรลงปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ขยายการลงทุน เป็นการกระตุ้นการลงทุนในส่วนหนึ่ง

นอกจากนี้การที่รัฐใช้แนวทางดึงหน่วยงานรัฐวิสาหกิจเข้ามา เพื่อเป็นอีกหนึ่งในเครื่องมือในการช่วยเศรษฐกิจฐานราก นับเป็นแนวทางที่ถูกต้อง เช่น ปตท. กำหนดโครงการที่ลงไปช่วยชุมชน ไม่ใช่แค่ CSR เป็นยุทธศาสตร์และจัดสรรงบประมาณลงไป ซึ่ง ปตท.จะได้สิทธิประโยชน์จากบีโอไอ หรือแม้แต่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่จะเข้ามาช่วยภาคเกษตรและในส่วนของภาคเอกชนเอง ปตท.สามารถเข้ามาเป็น Bigbrother ช่วยรายเล็กได้ เช่นเดียวกับกิจกรรมที่ผ่านมา

“รัฐจะต้องหาเครื่องมือเข้ามาช่วยทั้งประชาชนที่เขากำลังแบกรับภาระ ธุรกิจ SMEs รายเล็ก ๆ รวมถึงชุมชนในระดับท้องถิ่นในแต่ละภาค เพราะเขาเหล่านี้ได้รับผลกระทบ เราไม่ต้องห่วงรายใหญ่ เขามีแผนรับมือและยังอยู่ได้”

นอกจากนี้รัฐจำเป็นที่ต้องผลักดันให้แต่ละภาคถูกพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์ ดึงการลงทุนเข้ามาเช่นเดียวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยภาคเหนือควรถูกยกเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (NEC) ให้เป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารและ Creative Economy เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคอีสาน(NEEC) ให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว อาหาร และLogistics Hub และเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ให้เป็นเมืองอัจฉริยะและท่องเที่ยว รวมถึงอุตสาหกรรมฮาลาล