เอกชนรอไม่ไหว วิกฤต“โคโรน่า-ฝุ่น PM 2.5-ภัยแล้ง-บาทแข็ง” ทุบเศรษฐกิจไทยอ่วม

วิกฤต “โคโรน่า-ฝุ่น PM 2.5 – แล้ง-บาทแข็ง” ทุบเศรษฐกิจ กกร.เตรียมปรับประมาณการณ์จีดีพี 2562 ‘เอกชน’ ไม่รอรัฐ เร่งเครื่องมาตรการแก้วิกฤติฝุ่น วอนทบทวนมาตรการห้ามวันคู่-วันคี่ เร่งลดการเผาอ้อย ยืดสัญญาโครงการก่อสร้าง เร่งเบิกงบประมาณ

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมร่วมภาคเอกชน (กกร.) อยู่ระหว่างเตรียมปรับประมาณการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทย ปี 2562 จากที่คาดการณ์ไว้ 2.5-3.0% เนื่องจากต้องประเมินผลกระทบจากปัญหาไวรัสโคโรนาที่แพร่กระจายว่าจะส่งผลต่อการท่องเที่ยวอย่างไร อาจจะมีนักท่องเที่ยวจีนลดลง หรือนักเที่ยวจากประเทศอื่นหันมาที่ไทยมากขึ้น ประกอบกับผลจากวิกฤติฝุ่นละออง PM 2.5 และภัยแล้งที่จะกระทบต่อภาคเกษตร รวมถึงปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่าที่อาจจะกระทบต่อการส่งออก

“ภาคเอกชนยังมั่นใจในมาตรการรัฐ แต่มาตรการอะไรบ้างที่ทำได้ด้วยตัวเองก็ต้องทำ หรือมาตรการใดที่รัฐออกมาแล้วอาจจะต้องมีการทบทวนเราก็เสนอไปที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามขอให้รัฐบาลเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อมาใช้ดำเนินงานตามแผนภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ เพื่อไม่กระทบสภาพคล่องเอกชนและช่วยเติมเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ”

นายศรัณยู ชเนศร์ กรรมการรองเลขาธิการหอการค้าไทย กล่าวว่า ขณะนี้มาตรการภาครัฐสามารถดูแลการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าได้ เพราะยังเป็นไปตามมาตรฐาน 13 ดัชนีของ Global Index

แต่ความท้าทายตอนนี้เกิดปัญหาว่าสถานพยาบาลบางพื้นที่ขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ อาทิ หน้ากากป้องกันเชื้อ เจลล้างมือ จากที่มีความต้องการเพิ่มขึ้น 100% ทั้งจากประชาชน และนักท่องเที่ยวมีการซื้อกักตุน ส่งผลให้มีการฉวยโอกาสปรับราคา เช่น หน้ากาก N95 ราคาไม่ควรเกิน 90 บาท แต่ขายถึง 120 บาท ดังนั้นขอให้รัฐเข้ามาดูแลราคาจำหน่ายให้เกิดความเหมาะสม และเพียงพอต่อความต้องการ

พร้อมกันนี้เสนอให้ลดการเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศและหันมาเที่ยวในประเทศมากขึ้น และระวังการเผยแพร่ข่าวเฟคนิวส์

นพ.สุวินัย บุษราคัมวงษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกล้วยน้ำไทย กล่าวว่า รัฐบาลต้องขยายวงกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังเพิ่มขึ้น เพราะเดิมเราเน้นนักท่องเที่ยวจีน และผู้ที่เคยเดินทางไปจีน แต่ล่าสุดเราพบผู้ป่วยที่เป็นพนักงานสปาที่ให้บริการแก่นักเที่ยวจีน ดังนั้น เราต้องขยายวงการเฝ้าระวังไปยังกลุ่มเสี่ยงที่ใกล้ชิด สัมผัสหรือ พักอาศัยในที่เดียวกันกับผู้เสี่ยง เช่น พนักงานในโรงแรม สปา ร้านอาหารต่างๆ แต่ไม่ถึงขนาดที่ต้องคุมเข้มผู้ที่แค่เดินผ่าน หรือแค่เสิร์ฟอาหารให้นักท่องเที่ยว

ทั้งนี้ ผู้ที่กังวลว่ามีความเสี่ยงให้เฝ้าสังเกตอาการในระยะเวลา 14 วัน หลังสัมผัสและใกล้ชิดผู้ที่มีความเสี่ยง

พร้อมกันนี้หอการค้าไทยได้เสนอแนวทางและมาตรการในการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ในหลาย ๆ ด้าน อาทิ ด้านการเกษตร

นายกลินท์ กล่าวว่า รัฐควรส่งเสริมให้มีการเพิ่มมูลค่าเศษวัสดุที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว ใบอ้อย ต้นและซังข้าวโพด มาอัดเป็นก้อนแล้วขายให้โรงงานไฟฟ้าชีวมวลในท้องถิ่น รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรมที่สามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ พร้อมขยายโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ให้ครอบคลุมพื้นที่ที่มีวัตถุดิบทางการเกษตร เพื่อลดการเผาทิ้ง โดยให้เผาเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าระบบปิดแทน ทั้งนี้ ควรมีการจัดทำแผนลดการเผาข้าวและข้าวโพด เหมือนกรณีอ้อย ที่มีแผนการลดการเผาเป็น 0% ในปี 2565

“หอการค้าไทยเห็นด้วยกับมาตรการลงโทษของภาครัฐ สำหรับเกษตรกรที่มีการเผาพื้นที่ไร่นา เช่น งดให้เงินช่วยเหลือจากภาครัฐสำหรับเกษตรกร”

อีกทั้ง ภาครัฐควรส่งเสริมการจัดการแปลงที่ดิน เช่น การจัดเวลาเพาะปลูก การรวมแปลง เพื่อรองรับการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรให้เหมาะสมและคุ้มทุน รวมทั้งภาครัฐอาจจะส่งเสริมให้เกษตรกร สหกรณ์การเกษตร และวิสาหกิจชุมชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ในการซื้อเครื่องจักรกลทางการเกษตร เพื่อรับจ้างหรือให้บริการเกษตรกรรายย่อย ในขณะเดียวกัน ก็ควรสนับสนุนให้มีการ share utilization เครื่องจักรกลการเกษตร หรือนำมารับจ้างเก็บเกี่ยวผลผลิตและไถกลบ หรือรวบรวมชีวมวลที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวไปใช้ประโยชน์ เพื่อลดการเผาทำลาย ทั้งใน ข้าว อ้อย และข้าวโพด นอกจากนั้น ควรมีการส่งเสริมธุรกิจบริการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร และให้เกษตรกรรายใหญ่ช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยในการเก็บเกี่ยวผลผลิตด้วย

นายรังสิต เฮียงราช ผู้อำนวยการ บริษัท ไทยชูการ์มิลเลอร์ จำกัด กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาการเผาอ้อย เพื่อลดฝุ่น PM 2.5 นั้น พบว่าหลังเปิดหีบ 50 วันมานี้ โรงงานสามารถลดการรับซื้ออ้อยไหม้ได้ 50% ตามเป้าหมายที่วางไว้ในปีนี้ และคาดว่าจะทำให้การรับซื้ออ้อยไหม้กลายเป็น 0% ได้ในปี 2565

อย่างไรก็ตาม รัฐต้องเร่งส่งเสริมการนำเครื่องจักรทางการเกษตรมาใช้ลดปัญหาการเผา โดยปัจจุบันไทยมีรถตัดอ้อยให้บริการ 2,000 คัน ตัดได้ 30 ล้านตันอ้อย จะต้องลงทุนเพิ่มขึ้นอีก 4,000 ตัวเพื่อให้ครอบคลุมทั้งประเทศซึ่งจะใช้เงินทุน 60,000 ล้านบาท และเพิ่มการให้สินเชื่อเกษตรกร การเพิ่มการบริหารจัดการในการนำเศษวัสดุทางการเกษตรไปใช้ประโยชน์สร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น การรับซื้อใบอ้อยไปผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวถึง มาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ด้านการขนส่ง ว่าขอให้ทบทวนมาตรการการเดินรถวันคู่-วันคี่ และการจำกัดเวลาเดินรถ เพราะกระทบต่อการขนส่งสินค้าเกษตรและอาหาร ทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนที่เกิดจากการจอดรถรอขนส่ง ถือว่าไม่เป็นมาตรการที่เหมาะสม

นอกจากนั้น ขอให้ยกเลิกรถบริการสาธารณะทุกประเภทที่หมดอายุการใช้งาน และให้เปลี่ยนเป็นรถที่ใช้พลังงานสะอาด รวมทั้งให้มีมาตรการจูงใจลดหย่อนภาษีให้กับผู้ใช้รถยนต์เก่า (10 ปีขึ้นไป) ที่ต้องการเปลี่ยนเป็นรถยนต์ Hybrid หรือ EV ขณะเดียวกันก็ขอให้มีสถานีบริการสำหรับรถยนต์ EV มากขึ้น

ทั้งนี้ เอกชนเห็นด้วยที่รัฐเพิ่มความเข้มงวดการตรวจจับรถควันดำทุกประเภท และให้มีการตรวจวัดควันดำตั้งแต่ต้นทางของบริษัทรับขนส่งสินค้าเพื่อลดความแออัด เสนอให้มีการตรวจสภาพรถบรรทุกและรถยนต์ที่มีอายุเกิน 7 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นเป็นปีละ 2 ครั้ง

“ในส่วนภาคเอกชน ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนตรวจสภาพรถยนต์ของตนเองให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ พร้อมตรวจเช็คสภาพอุปกรณ์กรองไอเสียให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน และให้ศูนย์บริการรถยนต์ ศูนย์ตรวจสภาพรถเอกชน ให้คำแนะนำและเสนอบริการที่จะลดควันดำด้วย นอกจากนั้น ภาคเอกชนต้องร่วมกันกำกับดูแลคู่ค้าที่เป็นเครือข่ายการรับส่งสินค้า ให้มีรถที่อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ พร้อมทำงานและไม่มีควันดำ”

นางลิซ่า งามตระกูลพานิช อุปนายกสมาคมสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในการก่อสร้างว่า ภาครัฐจะต้องกำกับดูแลให้พื้นที่ก่อสร้างที่อยู่ในโซนที่มีค่ามลภาวะทางอากาศวิกฤต ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตาม มาตรการของภาครัฐในการขยายเขตพื้นที่จำกัดรถบรรทุกเข้ากรุงเทพฯ และการห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ แม้ว่าจะเป็นมาตรการที่ดีในช่วงวิกฤต แต่อาจจะกระทบต่อระบบงานก่อสร้างตามโครงการต่าง ๆ

“ขอให้รัฐพิจารณามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ เช่น การขยายเวลาก่อสร้างโครงการภาครัฐให้เป็นไปตามช่วงเวลาที่ต้องหยุดเดินรถเข้าเขตพื้นที่ที่กำหนด”

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการก่อสร้างก็จะต้องดำเนินการตามแผน EIA อย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้พื้นที่ก่อสร้างเป็นพื้นที่ที่สร้างมลพิษทางอากาศ นอกจากนั้น จะต้องรณรงค์ให้ผู้ประกอบการก่อสร้างมีการวางแผนและเปลี่ยนรูปแบบการก่อสร้างที่มีความเหมาะสม โดยใช้ชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูป (precast) และนำมาประกอบที่หน้างาน (prefab) เพื่อลดฝุ่นจากการขนส่งวัตถุดิบและการใช้เครื่องมือเครื่องจักรจำนวนรถบรรทุกดินหรืออุปกรณ์ก่อสร้าง นอกจากนั้น ควรมีการล้างล้อรถบรรทุกเพื่อไม่ให้ดินโคลนตกหล่นบนถนน และมีการใช้สเปรย์ฉีดพ่นน้ำในพื้นที่ก่อสร้าง เพื่อป้องกันฝุ่นฟุ้งกระจาย

และสุดท้าย หอการค้าเสนอมาตรการส่งเสริมพื้นที่สีเขียว เสนอให้มีการลดหย่อนภาษีเงินได้และภาษีที่ดินสำหรับเอกชนผู้ปลูกป่าเศรษฐกิจ เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในการดูดซับมลพิษ

หอการค้าไทยตระหนักว่า ปัญหามลพิษทางอากาศควรเป็นเรื่องที่ทุกคนควรมีส่วนเกี่ยวข้อง ดังนั้น ภาครัฐอาจมีการเปิดช่องทางให้ประชาชน แจ้งข้อมูลข่าวสารการกระทำความผิดที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ โดยจะรณรงค์ให้ประชาชนใช้ Social Media เป็นเครื่องมือในการแจ้งข้อมูลและติดตามการกระทำความผิดที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ เพื่อให้ภาครัฐนำข้อมูล Real time มาใช้ในการวิเคราะห์ เพื่อออกมาตรการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ต่อไป

สำหรับการเฝ้าระวังปัญหาไวรัสโคโรนา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญของคนไทยในขณะนี้นั้น หอการค้าไทยมีความมั่นใจในมาตรการต่าง ๆ ของรัฐ ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่อยู่ในมาตรฐานสากล โดยหอการค้าไทยยินดีให้ความร่วมมือ และจะช่วยเป็นช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องไปสู่สมาชิกและเครือข่าย และขอให้ประชาชนให้ความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ ที่ภาครัฐเสนอ ที่สำคัญคือการให้ความรู้และข้อมูลที่ถูกต้องกับผู้ป่วยและประชาชน เพื่อป้องกัน เฝ้าระวัง และเข้าใจในธรรมชาติของไวรัส สร้างความพร้อมในการแก้ไขปัญหา และรักษาได้อย่างทันท่วงที โดยขอให้ประชาชนมีสติ ไม่ตื่นตระหนก และติดตามข้อมูลข่าวสารอยู่เสมอ โดยภาครัฐควรกำหนดหน่วยงานที่จะให้ข้อมูลที่ถูกต้องเป็นศูนย์กลาง เนื่องจากกระแสข่าวออนไลน์ที่อาจสร้างความสับสนและผิดพลาดได้

สำหรับสถานพยาบาล คลินิก โรงพยาบาล หน่วยงานหรือองค์กรที่เป็นสถานที่ดูแลป้องกันรักษาผู้ป่วย จะต้องเพิ่มความระมัดระวัง และมีมาตรการป้องกันการแพร่เชื้ออย่างเข้มงวด โดยอาจจะเพิ่มจุดคัดกรองพิเศษเพื่อตรวจสอบผู้ที่สงสัยว่าอาจจะติดเชื้อ ทั้งนี้ หอการค้าไทยสนับสนุนแนวทางของสถานประกอบการประเภทโรงแรมในหลายจังหวัด ที่มีมาตรการคัดกรองนักท่องเที่ยวที่มาพัก ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้มาใช้บริการอีกด้วย หรือในกรณีที่มีนักท่องเที่ยวมาพักเป็นกลุ่มใหญ่ ก็อาจจะแจ้งหน่วยงานสาธารณสุขในจังหวัด เพื่อขอความร่วมมือให้มีหน่วยเคลื่อนที่มาตรวจสอบคัดกรอง


นอกจากนั้น ขอเสนอให้ภาครัฐจัดสรรอุปกรณ์ป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสให้แก่ประชาชนอย่างเพียงพอ เช่น ชุด kit set ที่ประกอบไปด้วย หน้ากาก กระดาษทิชชูแบบพกพก และเจลล้างมือ โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เช่น เด็กอนุบาล หรือผู้สูงอายุในชุมชนแออัด รวมทั้ง ผู้โดยสารในสถานีขนส่งมวลชนทางบกและทางน้ำ นอกจากนั้น ขอเสนอให้มีการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคในรถบริการสาธารณะ เช่น รถประจำทางหรือรถแท็กซี่ที่มารับผู้โดยสารในสนามบิน เป็นต้น