วิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ชูแม่แจ่มโมเดล นำร่องโรงไฟฟ้าชุมชน

“การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย” ได้ชื่อว่าเป็นรัฐวิสาหกิจที่ส่งรายได้ให้กับรัฐอันดับ 2 ในปี 2562 กว่า 12,000 ล้านบาท แต่ต้องเผชิญกับความท้าทายจากเทคโนโลยียุคใหม่ที่ผู้บริโภคหันมาเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง ขณะที่ กฟผ.ยังคงต้องรักษาบทบาทในการเป็นส่วนหนึ่งของกลไกนโยบายรัฐขับเคลื่อนพลังงานเพื่อทุกคน (energy for all) ไปสู่การตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน “วิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย” ผู้ว่าการ กฟผ. ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงก้าวต่อไปของ กฟผ. 2020 ว่า

ดันโรงไฟฟ้าชุมชนผ่าน PPP

กฟผ.ได้รับนโยบายจากกระทรวงพลังงานชัดเจนในเรื่องโรงไฟฟ้าชุมชน ขณะนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการแล้ว ต้องรอดูว่าหลักเกณฑ์ที่รัฐออกมาเป็นอย่างไร เช่น หลักเกณฑ์ทางเทคนิค การร่วมทุน การให้ชุมชนนั้นมีส่วนร่วมจะมีกติกาอย่างไร เอกชนลงทุนเท่าไร รัฐลงทุนเท่าไร

ทางกระทรวงมอบให้ กฟผ.ดูพื้นที่ที่มีศักยภาพ เช่น พื้นที่รอบเขื่อนรอบโรงไฟฟ้า กฟผ.ว่ามีศักยภาพเพียงพอจะสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนได้หรือไม่ ก็ขอให้ไปพบปะพูดคุยกับประชาชน ชุมชนว่ามีความสนใจสร้างหรือไม่

ตอนนี้เข้าใจว่าภาครัฐกำลังพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ซึ่งอาจเป็นแบบหลวม ๆ เพื่อให้ใช้ได้หลายพื้นที่ หรือกำหนดเป็นตัวเลขตัวเดียวซึ่งอาจทำให้บางพื้นที่ทำได้ บางพื้นที่ทำไม่ได้ หลักเกณฑ์นี้ยังไม่ผ่าน ครม.

Q1 นำร่องโรงไฟฟ้าชุมชน “แม่แจ่ม”

กฟผ.ดูที่เป็นไปได้มากที่สุด คือ อ.แม่แจ่ม เพราะจุดนั้นเรามีความสัมพันธ์กับชุมชนพอสมควร ได้มีการลงพื้นที่ดูวัตถุดิบชุมชนซึ่งเดิมปลูกพืชเชิงเดียวบริเวณต้นน้ำปิง ถ้าไม่พัฒนาฝนตกลงมาจะทำให้ตะกอนนั้นถูกชะล้างตกลงไปต้นน้ำ ไหลไปรวมที่เขื่อนภูมิพล และจะสะสมที่หน้าเขื่อน บังกระแสน้ำที่จะไหลเข้าไปผลิตกระแสไฟฟ้า จึงต้องป้องกันตั้งแต่ตอนนี้

ขณะเดียวกัน เมื่อทีมลงไปดูในพื้นที่แล้วพบว่าที่แม่แจ่มปลูกข้าวโพดเป็นหลัก เมื่อขายเมล็ดไปแล้วเหลือซังข้าวโพดทางชุมชนเผาทิ้งจนกลายเป็นต้นเหตุฝุ่นละอองจิ๋ว PM 2.5

เราต้องศึกษาว่าซังข้าวโพดน่าจะนำมาทำพลังงานได้ ก็ต้องไปคุยกับชุมชน และต้องดูว่าให้ความร้อนสูงเพียงพอหรือไม่ ถ้าไม่มากพอที่จะต้มน้ำเปลี่ยนเป็นกระแสไฟฟ้าเท่ากับว่าไม่คุ้มที่จะลงทุนโรงไฟฟ้า ก็อาจนำพลังงานความร้อนนั้นไปทำอย่างอื่น เช่น นำไปอบ และต้องศึกษาว่ามีซังข้าวโพดพอใช้ตลอดปีหรือไม่ หากมีจะเก็บอย่างไร ถ้าไม่ได้เปลี่ยนสภาพก็บูดเก็บได้ไม่นาน เป็นต้น

ผลศึกษาแม่แจ่มโมเดล

แพลนไว้จะเสร็จในไตรมาส 1 ปีนี้ นอกจากการศึกษาร่วมกับชุมชนแล้ว จะพิจารณาว่าจะมีเอกชนรายใดสนใจร่วมด้วยหรือไม่ สมมุติว่ากติกาปกติ ถ้ารัฐลงทุนเกินกว่า 50% ก็จะเป็นรัฐ และใช้กติการัฐแต่อาจไม่คล่องตัว ฉะนั้น ถ้าการลงทุนมีความเป็นรัฐไม่ถึง 50% ความคล่องตัวมากกว่าจะใช้โมเดลใดได้บ้าง ทางหนึ่งที่มองไว้ว่าจะช่วยได้ คือ ใช้ พ.ร.บ. PPP ร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนนำมาเป็นโมเดลต้นแบบก่อน

อนาคตโรงไฟฟ้าชุมชนรอบเขื่อนทุกเขื่อน

ต้องไปดูวัตถุดิบรอบ ๆ เขื่อนว่ามีวัตถุดิบอะไรบ้าง เช่น รอบ ๆ เขื่อนภูมิพลเป็นพื้นที่ปลูกกาแฟ เขาก็ถามว่ากาแฟเปลี่ยนเป็นพลังงานได้หรือไม่ คุ้มค่าต้นทุนหรือไม่ ถ้าไม่คุ้มค่าต้องดูว่าเรามีศักยภาพจะปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น ๆ ไหม หรือชุมชนไม่มีความต้องการปลูกพืชพลังงาน แต่เขาต้องการปลูกกาแฟให้มากขึ้น เราก็จะต้องไปช่วยเขาหาช่องทางจัดจำหน่ายให้กับเขื่อน เช่น รอบเขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนภูมิพล นำผลผลิตกาแฟมาขายให้ร้านกาแฟ

จัดสรรงบประมาณลงทุน

เบื้องต้นยังไม่ถึงกับจัดสรรงบประมาณ ต้องรอหลักเกณฑ์คร่าว ๆ ว่าโรงไฟฟ้าชุมชนที่จะส่งเสริมไซซ์เท่าไร ลงทุนตามขนาด ถ้าบอกว่าชุมชนทำ 1 เมกะวัตต์ วงเงินลงทุน 100-200 ล้านบาท แล้วแต่เชื้อเพลิง เช่น ไบโอแมส หรือไบโอก๊าซ จะใช้เครื่องลักษณะไหน หรือชุมชนมีพื้นที่ทำพลังงานอื่นมาเสริม เช่น โซลาร์ มาเสริมการลงทุนก็จะเป็นอีกแบบ และ่ในแต่ละพื้นที่คงแตกต่างกันไปจะประเมินโดยใช้ผลการศึกษาแบบเดียวกันทั้งหมดไม่ได้

ลงทุน 8 โรงไฟฟ้าหลักตาม PDP

ส่วนแผนการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าหลักตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ก็ต้องลงทุน 8 โรงตามแผนคู่ขนานกันไป ส่วนโรงไฟฟ้าชุมชนเป็นแผนงานตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งขณะนี้ได้นำเสนอแผนก่อสร้าง 8 โรงไฟฟ้า ขอความเห็นชอบทางคณะกรรมการบริหาร กฟผ. (บอร์ด กฟผ.) ไปแล้ว ตอนนี้อยู่ในกระบวนการที่จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติโครงการ เพราะตอนเรารับแผนพีดีพีมาก็จะเป็นลักษณะในภาพใหญ่ว่า 8 โรงมีกี่เมกะวัตต์ และต้องเข้าระบบ (COD) เมื่อไร

“เราต้องทำแผนในรายละเอียด หรือฟีซิบิลิตี้สตัดดี้ด้วยตัวเองก่อนว่ามีความคุ้มค่า มีผลตอบแทนเป็นอย่างไรบ้างก่อนเข้า ครม. คาดว่าจะเข้าได้ในช่วงกลางปีนี้ จากนั้นจะเริ่มดำเนินการโครงการต่อไป ส่วนการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม EIA อีกส่วนเราก็จ้าง third party ซึ่งปกติเราก็จ้าง”

นายวิบูลย์ยืนยันว่า แม้ว่าจะมีการปรับ PDP 2018 ใหม่ ก็จะไม่ทำให้แผนการสร้าง 8 โรงสะดุด เท่าที่เราทราบการปรับแผนPDP 2018 จะปรับในส่วนของพลังงานทดแทน ในส่วนของโรงไฟฟ้าหลักก็ยังเป็นไปตามแผน PDP 2018 เดิม

แนวโน้มค่าไฟในอนาคต

ในส่วนของโรงไฟฟ้าหลักตามแผน เราจะควบคุมโดยดูว่าใช้เชื้อเพลิงจากอะไร แล้วต้นทุนแต่ละโรงเป็นเท่าไร ต้องมีข้อมูลนี้เสนอ ครม.เช่นกัน และต้องได้รับการเห็นชอบจากเรกูเลเตอร์เช่นกัน ส่วนค่าไฟโรงไฟฟ้าชุมชนก็อย่างที่ทราบว่าเป็นนโยบายรัฐบาล ต้นทุนอาจไม่ถูกหากเทียบกับโรงไฟฟ้าหลัก เนื่องจากโรงไฟฟ้าชุมชนขนาดเล็กกว่าเยอะ และต้นทุนเชื้อเพลิงก็ไม่ได้ถูกกว่าโรงหลัก แต่รัฐบาลต้องการให้ชุมชนมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ฉะนั้น ถ้าเป็นนโยบายส่วนนี้รัฐบาลก็ต้องกำหนดนโยบายค่าไฟออกมาว่า ถ้าผลิตไฟฟ้าชุมชนมาจะให้ดำเนินการอย่างไร เช่น ให้เริ่มใช้ในพื้นที่ตัวเองก่อน ให้ใช้ในชุมชนตัวเองเพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้กับการไฟฟ้าฯก็ลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไป หากยังมีไฟเหลือจะขายเข้าสู่ระบบเท่าไรก็ต้องตกลงกันระหว่างชุมชน หรือระหว่างภาครัฐกับเรกูเลเตอร์ว่าจะมีนโยบายอย่างไร รัฐเองอาจต้องสนับสนุนซึ่งได้ยินว่ามีแนวคิดในการนำกองทุนอนุรักษ์พลังงานเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง หรือ กฟผ.เข้าไปลงทุนส่วนหนึ่ง

ต่อยอดธุรกิจจากเทคโนโลยีใหม่

อย่างที่เราเห็นและมีข้อมูลมาต่อเนื่องว่าเทรนด์และเห็นแนวโน้มนี้มาหลายปีแล้ว ว่าหลังจากโซลาร์เซลล์ วินด์ฟาร์มเข้ามา ทำให้การซื้อไฟจากระบบน้อยลง แต่จริง ๆ การใช้ไฟของประเทศเพิ่มขึ้น เพียงแต่ผู้ใช้สามารถผลิตใช้เองมากขึ้น เช่น โรงงานลงทุนโซลาร์รูฟท็อปได้เอง ซื้อไฟฟ้าจากระบบน้อยลง

“ทางเรามีหน่วยงานภายในไปดูว่ามีตรงส่วนไหนบ้างที่สามารถมีธุรกิจใหม่เกิดขึ้นได้ โดยที่เราไม่ได้แย่งรายได้กับการไฟฟ้าฯจำหน่าย คือ เราคงไม่ใช่ที่เราจะไปเป็นผู้ตั้งการไฟฟ้าฯจำหน่ายอีกแห่งหนึ่ง แต่มองว่าอาจมีธุรกิจอื่นซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ที่เกิดจากเทคโนโลยีใหม่ และจะเข้าไปตรงนั้นอย่างไร เช่น เราจะเป็นผู้ให้บริการโซลูชั่น หรือไปเป็นที่ปรึกษา หรือส่วนหนึ่งอาจจะบอกว่าเราไม่ได้หากำไร แต่เข้าไปช่วยเหลือชุมชนผ่านโรงไฟฟ้าชุมชน เข้าไปร่วมลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชน”

โอกาสพัฒนาสถานีชาร์จรถอีวีก็เป็นธุรกิจในอนาคตได้แต่ต้องเสนอกระทรวงแก้พระราชกฤษฎีกาให้สามารถขายไฟจากสถานีชาร์จเสียก่อน ตอนนี้ขายไม่ได้ แต่มีการทำภายในพื้นที่ส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคตามเขื่อนหรือในชุมชน บริการในลักษณะ CSR ได้ หากแก้ไขจะมีสถานีชาร์จเกิดขึ้น ก็จะมีการใช้รถอีวีมากขึ้นเป็นไปตามนโยบาย ถือเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่น่าจะเป็นไปได้

ส่วนการกระจายไปตั้งสถานีชาร์จในเขื่อนเป็นโอกาสเหมือนกัน และหากจะทำจริงจังต้องดูโลเกชั่น ถ้าทำในเขื่อนจะได้กลุ่มนักท่องเที่ยวเท่านั้น เช่น ถ้าวิ่งจากเมืองกาญจน์เข้าเขื่อนศรีนครินทร์ 60-70 กม. โลเกชั่นในเขื่อนอาจไม่ใช่ธุรกิจที่จะสามารถใช้ได้ทั่วไป