ทัพ”เกษตรกร”1แสนรายบี้รัฐ เจรจา USTR ห้ามเปิดตลาดหมูแลก GSP

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ฮึ่มนำทัพ1 แสนรายต้านเปิดตลาดหมูใช้สารเร่งเนื้อแดงสหรัฐแน่ หากทีมพาณิชย์-เกษตรฯ ใช้เกษตรกรเป็นข้อแลกเปลี่ยนตัดสิทธิจีเอสพี 573 รายการสินค้า ชี้เหตุผลสำคัญคือมาตรฐานเดียวเพื่อผู้บริโภค-ต้นทุนเกษตรกรไทยแพงกว่าเท่าตัว แถมถูกคุมราคาปลายทาง แนะสหรัฐไปขายจีนแทน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ในวันที่ 30 มกราคม 2563 นี้ สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องกรณีที่ยูเอสทีอาร์จะพิจารณาตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) สินค้าไทย 573 รายการในวันที่ 25 เมษายน 2563 เป็นผลจากการที่สมาพันธ์ผู้ผลิตสุกรแห่งชาติสหรัฐได้ยื่นเรื่องให้ยูเอสทีอาร์ตัดสิทธิไทยมาตั้งแต่ 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยอ้างไทยไม่เปิดตลาดนำเข้าสินค้าจากสหรัฐโดยเฉพาะหมูที่มีสารเร่งเนื้อแดงแรกโตพามีน ซึ่งการเปิดตลาดเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่สหรัฐใช้พิจารณาจะให้สิทธิหรือตัดสิทธิ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ เตรียมจัดคณะรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวด้วย

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เผยว่าที่ผ่านมาไทยได้ยื่นคำร้องให้ยูเอสทีอาร์พิจารณาทบทวนไม่ให้ตัดสิทธิจีเอสพี เพราะการที่ยังไม่เปิดตลาดหมู เนื่องจากยังเกรงถึงอันตรายกับผู้บริโภค และไทยห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงโดยเด็ดขาด ดังนั้น ต้องรอผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้ร่วมกันจัดทำก่อนว่าการบริโภคหมูมีสารเร่งเนื้อแดงและจะเป็นอันตรายหรือไม่

“หากประกาศจะตัดสิทธิอีก 3 เดือน หรือ 6 เดือนข้างหน้า ไทยยังพอมีเวลาหารือเพื่อขอคืนสิทธิ และปัจจุบันยังมีสินค้าอีก 3,000 รายการที่ยังคงได้รับสิทธิจีเอสพีจากสหรัฐ และไทยเตรียมมาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบผู้ส่งออกไว้แล้ว”

นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ มอบหมายให้นายพิศาล พงศาพิชณ์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เป็นตัวแทนร่วมหารือกับกระทรวงพาณิชย์ในการเปิดตลาดเนื้อสุกรให้สหรัฐ อย่างไรก็ตามกรมยืนยันในแนวทางเช่นเดิม จากที่ก่อนหน้านี้ได้เคยทำหนังสือถึง USTR ชี้แจงความจริงเกี่ยวกับการนำเข้าสุกรสหรัฐว่าจะกระทบต่อสุขภาพของไทย เพราะไทยเป็นประเทศที่ไม่ให้มีการใช้สารเร่งเนื้อแดง

“กรมปศุสัตว์ยังยืนยันว่า ในส่วนของกรมคงยืนยันตามเดิมว่าหมูของสหรัฐที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยง ผลการวิจัย และศึกษาผลกระทบของไทย พบว่าเป็นอันตรายกับคนไทย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเป็นเรื่องที่กระทรวงพาณิชย์ต้องพิจารณา”

ด้านนายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้หารือกับกรมปศุสัตว์ ถึงแนวทางการเตรียมข้อมูลเพื่อไปชี้แจงสหรัฐ โดยฝ่ายไทยจะยืนยันข้อเท็จจริงให้สหรัฐเข้าใจว่าปัจจุบันไทยมีกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองผู้บริโภค โดยยังห้ามใช้เนื้อสุกรที่มีสารเร่งเนื้อแดงแรกโตพามีนโดยเด็ดขาด หากไทยอนุญาตให้มีการนำเข้าจากสหรัฐซึ่งเป็นประเทศที่มีการใช้สารนี้ ก็จะกลายเป็นประเทศไทยมีการกำหนดมาตรฐาน 2 มาตรฐาน ซึ่งจะไม่สามารถทำได้ อีกทั้งปัจจุบันการผลิตสุกร

ของไทยยังมีซัพพลายส่วนเกินอยู่พอสมควร เพราะที่ผ่านมาเศรษฐกิจไม่ดี กำลังซื้อชะลอตัว ความต้องการบริโภคสุกรลดลงจาก 50,000 ตัวต่อวันเหลือ 45,000 ตัวต่อวัน หรือประมาณ 10% จึงไม่ใช่ตลาดที่น่าสนใจ สหรัฐหันไปทำตลาดจีนหรือตลาดอื่น ๆ จะเป็นตลาดที่ดีกว่า

“หากภาครัฐนำเกษตรกรไปแลกเปลี่ยนกับสินค้าอื่น ๆ ทางสมาคมก็ยืนยันว่าจะไม่ยินยอมแน่นอน ตอนนี้ไทยมีผู้เลี้ยงสุกร 1 แสนรายทั่วประเทศ พร้อมที่จะรวมตัวกันเรียกร้องให้รัฐบาลดูแลเรื่องนี้แน่นอน เพราะไทยเสียเปรียบในด้านการเลี้ยง และหากยอมให้นำเข้าได้เท่ากับไทยจะมี 2 มาตรฐานในประเทศเดียว เป็นไปไม่ได้”

ทั้งนี้หากเปรียบเทียบกันในปัจจุบันจะเห็นว่า การผลิตสุกรของไทยยังเสียเปรียบสหรัฐอยู่มาก เพราะผู้ผลิตสหรัฐมีต้นทุนการเลี้ยงต่ำกว่า จากการที่สหรัฐเป็นผู้ปลูกพืชที่ใช้ผลิตอาหารสัตว์เอง เช่น ข้าวโพดราคาแค่ กก.ละ 4 บาท หรือข้าวสาลี กก.ละ 3.50 บาท แต่วัตถุดิบอาหารสัตว์ของไทยมีต้นทุนสูงถึง กก.ละ 9 บาท ซึ่งเมื่อคำนวณเทียบกันแล้ว ไทยจะมีต้นทุนการเลี้ยงสุกรอยู่ที่ กก.ละ 68-70 บาท ขณะที่สหรัฐมีต้นทุนต่ำกว่าไทยครึ่งหนึ่งหรือประมาณ กก.ละ 40 บาทเท่านั้น ขณะที่ราคาขายหน้าฟาร์มไทยจะขายได้ กก.ละไม่เกิน 80 บาทตามที่กรมการค้าภายในขอความร่วมมือไว้ เพื่อให้ราคาเนื้อสุกรชำแหละหน้าเขียงอยู่ที่ไม่เกิน กก.ละ 160 บาท