10 ปี…ไทยยังไม่ปลอด “แร่ใยหิน” ปรับกลยุทธ์คุมต้นทางห้ามนำเข้า

กลายเป็นมหากาพย์เรื่องหนึ่งของประเทศไทยไปแล้ว ว่าด้วยการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน จากข้อเท็จจริงที่ว่า อนุภาคของแร่ใยหินสามารถฟุ้งกระจายสู่ปอดจนทำให้เกิด โรคปอดอักเสบจากแอสเบสทอส ไปจนกระทั่งถึงโรคมะเร็งปอด และโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอด ซึ่งในวงการแพทย์ต่างทราบกันดีมาไม่ต่ำกว่า 20-30 ปีมาแล้ว การดำเนินการในเรื่องนี้ได้เริ่มต้นขึ้นในปี 2553 หรือเมื่อ 10 ปีที่แล้ว จากการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3 และการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 6/2553 ให้ความเห็นชอบ มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหินและยุทธศาสตร์การทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน

คณะรัฐมนตรีได้มีมติในเดือนเมษายน 2554 เห็นชอบกับสมัชชาสุขภาพแห่งชาติมีสาระสำคัญอยู่ที่การบริหารจัดการความเป็นอันตรายของแร่ใยหินชนิด “ไครโซไทล์” ที่ถูกใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นกระเบื้องซีเมนต์ใยหิน ท่อซีเมนต์ใยหิน กระเบื้องมุงหลังคา ผ้าเบรกและคลัตช์ที่ใช้ในรถยนต์ ด้วยการห้ามนำเข้าแร่ใยหินไครโซไทล์และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบ การห้ามผลิต ห้ามนำเข้า-ส่งออกห้ามครอบครอง อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ของกระทรวงอุตสาหกรรม ให้แร่ใยหินชนิดไครโซไทล์เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4

โดยให้กระทรวงอุตสาหกรรมกลับไปทำแผนในการยกเลิกการนำเข้า ผลิต จำหน่ายแร่ใยหินและผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบทุกชนิด ขณะเดียวกันกับให้กระทรวงสาธารณสุข กลับไปศึกษาผลกระทบของแร่ใยหินที่มีต่อสุขภาพของผู้ใช้แรงงานที่ทำงานสัมผัสกับแร่ใยหินและผู้บริโภคที่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหิน จากข้อเท็จจริงที่ว่า แม้จะทราบกันดีว่าแร่ใยหินก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอด แต่ประเทศไทยไม่มีการจัดเก็บข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์เพียงพอที่พิสูจน์ได้ว่า อัตราการเพิ่มขึ้นของโรคมะเร็งปอดนั้นคิดเป็นสัดส่วนเท่าใดจากการสัมผัสแร่ใยหิน

เวลาได้ผ่านมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ผ่านการประชุมสมัชชาสุขภาพหลายต่อหลายครั้ง มีข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาฯ จนมาถึงการประชุม ครม.ครั้งสุดท้ายในปี 2556 ที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอกรอบระยะเวลาการยกเลิกการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์เป็นวัตถุดิบในการผลิตภายใน 2-5 ปี (2558-2561) มีการออกประกาศของคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ในปี 2553 เรื่องให้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ด้วยการระบุข้อความที่ว่า “ระวังอันตราย ผลิตภัณฑ์นี้มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ การได้รับสารนี้เข้าสู่ร่างกายอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งและโรคปอด” เท่านั้นที่ดูก้าวหน้ามากที่สุด แต่จนแล้วจนรอด สังคมไทยก็ยังไม่ปลอดจากแร่ใยหินอยู่ดี

ล่าสุด สมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้จัดการประชุมครั้งที่ 12 ในวันที่ 20 ธันวาคม 2562 มีการทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ผ่าน ๆ มา ว่าด้วยมาตรการที่ทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหินอีกครั้ง ดูเหมือนว่ามติของการทบทวนที่ออกมาใหม่ล่าสุดจะ “ยอมรับ” ว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหินนั้น “ยังเดินไปไม่ถึงไหน” โดย นพ.ประธีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวถึงข้อเสนอใหม่ที่ว่า ให้ยกเลิกการใช้แร่ใยหินชนิดไครโซไทล์เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระเบื้องแผ่นเรียบ/กระเบื้องยางปูพื้นภายในปี 2565 กับยกเลิกการใช้แร่ใยหินชนิดไครโซไทล์เป็นวัตถุดิบในการผลิตผ้าเบรก/คลัตช์-ท่อซีเมนต์ใยหิน-กระเบื้องมุงหลังคาภายในปี 2568 (หรืออาจกล่าวได้ว่า เป็นข้อเสนอที่ “เลื่อน” การยกเลิกการใช้แร่ใยหินที่เคยระบุไว้ในแผนของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ให้เลิกผลิต-เลิกใช้ในปี 2558-2561 ที่ไม่ประสบความสำเร็จนั่นเอง)

“มติสมัชชาสุขภาพครั้งที่ 12 คือ การปรับกลยุทธ์ใหม่ จากเดิมที่เรามุ่งไปที่การยกเลิกการใช้แร่ใยหินด้วยการห้ามนำเข้า ห้ามใช้ การผลิต ห้ามจำหน่าย ห้ามครอบครอง ด้วยการนำแร่ใยหินชนิดไครโซไทล์เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ตามพ.ร.บ.วัตถุอันตราย มาตั้งแต่ปี 2554 แต่ข้อเท็จจริงก็คือ การดำเนินยุทธศาสตร์แบบนี้กลับมีการนำเข้าแร่ใยหินเพิ่มขึ้นในระหว่างปี 2557-2559 ถือเป็นอันดับที่ 6ของโลก นั่นหมายถึงเรามีการใช้แร่ใยหินมากขึ้นจากช่วงปี 2554-2556 ถามว่ามันเกิดอะไรขึ้น ทั้ง ๆ ที่ ครม.ก็มีให้สังคมไทยไร้แร่ใยหินออกมาตั้งแต่ปี 2554 ตรงนี้ผมเข้าใจว่า มันเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขึ้นในปี 2557 ทำให้ภาคประชาสังคมอ่อนแอลง แต่สถานการณ์ตอนนี้มันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว มีการใช้วัตถุดิบอื่นที่ทดแทนแร่ใยหินได้ในการผลิตกระเบื้อง เบรก/คลัตช์ โรงงานผู้ผลิตกระเบื้องวัสดุก่อสร้างรายใหญ่สุดของประเทศได้เลิกใช้แร่ใยหินเป็นวัตถุดิบแล้ว เหลือแต่โรงงานกระเบื้องรายเล็ก ๆ ที่ยังทำการผลิตอยู่ที่สำคัญก็คือ การนำแร่ใยหินชนิดไครโซไทล์ให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 นั้น ยังติดปัญหาเรื่องของการห้ามครอบครอง เนื่องจากไม่เพียงวัสดุก่อสร้างชนิดใหม่ที่เราต้องการห้ามไม่ให้ใช้แร่ใยหิน แต่ปัจจุบันเรายังมี “ขยะ” วัสดุก่อสร้างพวกกระเบื้องใยหินที่ใช้ไปแล้ว รอการรื้อถอน ทำลาย หรือยังใช้อยู่บนหลังคาบ้านของประชาชนด้วย ตรงนี้มันทำไม่ได้เพราะเขายังครอบครองมันอยู่”

จึงเป็นที่มาของการ “ปรับกลยุทธ์ใหม่”ในครั้งนี้ ซึ่ง นพ.ประธีปมั่นใจว่า จะประสบความสำเร็จจากกรอบระยะเวลาการ “ยกเลิก” ที่เลื่อนออกไปเป็นปี 2565 กับปี 2568 ด้วยมาตรการ 1) ให้หน่วยงานภาครัฐพยายามออกมาตรการยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหินเพื่อไม่ให้มีวัตถุดิบต้นทางในการผลิตถูกนำเข้ามาอีก 2) ต้องสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกข้อบัญญัติท้องถิ่นในการจัดการรื้อถอน-กำจัดผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหิน 3) ส่งเสริมสนับสนุนวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ทดแทนที่ไม่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินให้หาซื้อได้ง่าย มีราคาถูก แข็งแรงและปลอดภัย และ 4) เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจให้กับทุกภาคส่วนในสังคมไทย

ถ้าทุกภาคส่วนผลักดันให้มีการปฏิบัติตามมาตรการหลักทั้ง 4 ประการข้างต้น ก็จะมีความเป็นไปได้ที่สังคมไทยจะไร้แร่ใยหินอย่างถาวรในอีก 5 ปีข้างหน้า