รัฐอัดฉีดเศรษฐกิจชุดใหญ่ ยืดภาษีนิติ-บุคคลธรรมดา

รัฐบาลทุ่มทุกมาตรการชุดใหญ่ ปลุกเศรษฐกิจ ชะลอจ่ายภาษีนิติบุคคล เยียวยาธุรกิจท่องเที่ยว ยืดชำระหนี้ 6 เดือน ลดภาษีน้ำมันอากาศยาน-ค่าธรรมเนียมขึ้น-ลงเครื่องบิน เลื่อนส่งเงินประกันสังคม สั่ง 3 กระทรวงถกยกเลิกวีซ่า VOA ขยายเวลาสถานบริการกลางคืน ลุ้นใช้ร่างงบปี’63 ฉบับ ครม. ขยายวงเงินไปพลางพรวด 100%

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล เลขานุการกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) แถลงผลการประชุม ครม.เศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 63 ว่า รัฐบาลมีมติเห็นชอบมาตรการพยุงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ประกอบด้วยมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโรคปอดอักเสบจากเชื้อโคโรน่าไวรัส สายพันธุ์ใหม่ 2019 (ระยะเร่งด่วน ก.พ.-เม.ย. 63)

ให้กู้ ดบ.ต่ำ-ยืดชำระหนี้ 6 เดือน

มาตรการประกอบด้วย 1.การเยียวยาธุรกิจท่องเที่ยว เน้นบริษัทนำเที่ยว โรงแรม หรืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบ แบ่งออกเป็นกระทรวงการคลังร่วมกับสมาคมธนาคารไทยจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และยืดระยะเวลาชำระหนี้เงินกู้/ดอกเบี้ย 6 เดือนของธนาคารรัฐและธนาคารพาณิชย์ปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบิน คาดว่าจะมีมูลค่า 2-3 พันล้านบาท กระทรวงคมนาคมปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมการขึ้น-ลงของอากาศยาน

“ทั้งนี้ นายอุตตม สาวนายน รมว.การคลังเสนอเพิ่มเติม ให้ยืดระยะเวลาการชำระภาษีนิติบุคคลออกไป พร้อมเลื่อนการจ่ายเงินประกันสังคมออกไปด้วยเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง”

2.กระตุ้นการท่องเที่ยว โดยมหาดไทยสนับสนุนให้องค์กรส่วนท้องถิ่น จัดประชุมสัมมนาในต่าง ภาคเอกชนและส่วนราชการ ให้หักภาษีได้ 2 เท่า เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) หาตลาดทดแทนที่มีศักยภาพ

กอบศักดิ์ ภูตระกูล เลขานุการกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ

ท่องเที่ยวซึมยาว 5 เดือน

3.สื่อสารสร้างความเข้าใจแก่คนไทยและนักท่องเที่ยว กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงต่างประเทศ กรมประชาสัมพันธ์ และ ททท. ร่วมกันสื่อสารแบบข้อความเดียว (single message) ตามภารกิจของแต่ละหน่วยงาน

4.เฝ้าระวังและอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว โดยกระทรวงการท่องเที่ยวฯกับกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ยกระดับศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวทั่วประเทศ (TAC) ให้เป็น one stop service

“คาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้นเมื่อทางการจีนยกเลิกคำสั่งออกนอกประเทศภายใน 3 เดือน แต่อาจจะใช้เวลาหลังจากนั้น 1-2 เดือนฟื้นฟูกลับมาเต็มที่ ซึ่งอาจจะใช้โอกาส 5 เดือนนี้ฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้เป็นเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป”

ตั้ง “อนุทิน” คุมเบ็ดเสร็จ

มาตรการเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน ระยะยาว (พ.ค. 63 เป็นต้นไป) ให้จัดตั้งคณะกรรมการ Ease of Traveling เพื่อปลดล็อกอุปสรรคการท่องเที่ยว โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุขเป็นประธาน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬาเป็นรองประธาน มีคณะทำงานประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐและเอกชน

มีอำนาจและหน้าที่ในการดำเนินการ ดังนี้ 1.ปรับปรุงบริการ การอำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าประเทศไทย 2.ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม การยกระดับคุณภาพและบริการด้านการท่องเที่ยว และ 3.กระตุ้นตลาด การสนับสนุน charter flight สำหรับนักท่องเที่ยวคุณภาพใช้จ่ายสูงเพื่อเข้าสู่พื้นที่เมืองรองมากขึ้น

มีอำนาจดำเนินการ 4 เรื่อง 1.จัดทำ MICE visa สำหรับกลุ่มประชุมสัมมนา 2.บริหารจัดการตารางบิน (time slot) 3.เปิดสนามบินนานาชาติเพิ่มและพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก และ 4.เพิ่มความรวดเร็วในการเข้าเมือง

ให้มหาดไทยและกระทรวงการท่องเที่ยวฯพิจารณาขยายเวลาเศรษฐกิจภาคกลางคืน นำร่องเฉพาะพื้นที่ท่องเที่ยว และยกระดับมาตรฐานและบริการทางการท่องเที่ยว

Photo by Anusak Laowilas/NurPhoto via Getty Images

สูญรายได้จีนเหยียบแสนล้าน

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล เลขานุการ ครม.เศรษฐกิจกล่าวว่า คาดว่าภาคการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วน 12% ของจีดีพี และมีการจ้างงานประมาณ 5 ล้านคน และที่เกี่ยวเนื่องนับ 10 ล้านคน รวมถึงโรงแรม การจ้างงาน การนำเที่ยว สายการบิน การใช้จ่ายและของที่ระลึก จะได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรน่า 3-6 เดือน
และจะเข้าสู่สถานการณ์ปกติในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่นจะเร่งเครื่องขึ้นมาได้

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท.กล่าวว่า สำนักงาน ททท.ในจีน 5 แห่ง รายงานว่า จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่จะเดินทางเข้าไทยตั้งแต่มกราคม-เมษายน ลดลง 80% มูลค่าความเสียหาย 95,000 ล้านบาท 3 กระทรวงถกยกเลิก VOA

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า VOA จะสิ้นสุดวันที่ 30 เม.ย. 63 ดังนั้นยังพอมีเวลาที่จะพิจารณาว่าจะยกเลิกหรือไม่
ซึ่งต้องใช้เวลาในการพิจารณาได้ถึงเดือนมีนาคม ทั้งนี้ หากจะยกเลิกจะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เนื่องจากมีข้อกฎหมายที่สำคัญต้องพิจารณา โดยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศได้เสนอว่า วีซ่าประกอบด้วย 3 ประเภท โดยเฉพาะจากจีน 1.วีซ่าที่ไปขอที่สถานทูต 2.วีซ่า VOA และ 3.วีซ่าออนไลน์ ซึ่งต้องพิจารณาทั้ง 3 ระบบร่วมกัน

แม้ระงับวีซ่า VOA แต่ถ้ายังมีวีซ่าออนไลน์ได้ง่ายอยู่และยังมากันได้ ซึ่งไม่ได้กีดกันที่จะให้มา แต่ต้องการควบคุมในส่วนนี้ ครม.จึงมอบหมายให้ 3 กระทรวงไปพิจารณา ซึ่งในการประชุม ครม.วันอังคารที่ 4 ก.พ.นี้ จะนำกลับเข้ามาเสนอใหม่อีกครั้ง

ชงปลดล็อกงบฯ 63 ล่าช้า

ที่ประชุมยังได้หารือกรณีศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ซึ่งในช่วงเวลาที่ศาลยังไม่ได้วินิจฉัย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง และสภาพัฒน์ เตรียมเสนอมาตรการต่อ ครม.ในวันอังคารที่ 4 ก.พ.นี้

นายวิษณุกล่าวว่า โครงการใหม่เอี่ยม ไม่เคยผูกพัน สำนักงบประมาณได้เคยเสนอไว้ก่อนแล้วว่า อาจจะมีการคัดเลือกเจรจา ร่างสัญญา อาจจะส่งอัยการตรวจร่างสัญญาเตรียมไว้ก่อนได้หมด เพียงแต่อย่าลงนาม”

ผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดต่อร่าง พ.ร.บ.ฯ ได้เตรียมการไว้แล้ว และสามารถดำเนินการให้รวดเร็วได้ “ยังมีอีกหลายวิธี ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ต้องเปิดสภา เช่น การใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญมาตรา 143 กรณีร่าง พ.ร.บ.ไม่เสร็จภายใน 105 วัน ให้สามารถนำร่าง พ.ร.บ.ที่ผ่าน ครม.มาใช้ได้ และการออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แต่ถ้าเปิดสภา รัฐบาลก็พร้อมที่จะออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เปิดสมัยประชุมวิสามัญ”

นายวิษณุกล่าวว่า การใช้อำนาจของสำนักงบประมาณขยายกรอบเงินใช้ไปพลางก่อนได้ถึง 100% สามารถทำได้ แต่ต้องระวังเรื่องวินัยการเงินการคลัง เพราะถ้าขยาย 100% และเวลายังเหลืออีก 6 เดือน หากเบิกจ่ายหมดจะทำให้เกิดวิกฤต จึงต้องค่อย ๆ เพิ่ม โดยคำนึงถึงกรอบเวลาที่เหลือเพราะไม่รู้ว่าจะล่าช้าไปนานแค่ไหน

เดินหน้า NEC-SEC-WEC

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบในหลักการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาแผนเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศเพื่อกระจายความมั่งคั่งสู่ภูมิภาค ได้แก่ แผนพัฒนาภาคเหนือ (NEC) แผนพัฒนาภาคตะวันออก และแผนพัฒนาภาคใต้ (SEC) และในอนาคตจะแก้กฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อให้ครอบคลุมทั้ง NEC SEC EEC และเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ให้ทำแผนพัฒนาภาคกลางและภาคตะวันตก (WEC) เพิ่มเติม

Photo by Artur Widak/NurPhoto via Getty Images

ลดภาษีน้ำมันเครื่องบิน 8 เดือน

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ครม.เศรษฐกิจให้กระทรวงการคลังปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบิน จากปัจจุบันจัดเก็บที่ 4.70 บาทต่อลิตร กลับไปคิดที่ 0.20 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 8 เดือน ตั้งแต่เดือน ก.พ.-ก.ย. 2563 นี้ โดยจะเสนอ ครม.พิจารณาในวันที่ 4 ก.พ.นี้

“การลดภาษีน้ำมันเครื่องบินเป็นการชั่วคราว คาดว่าจะมีผลกระทบต่อรายได้ประมาณกว่า 2,000 ล้านบาท” แหล่งข่าวกล่าว

นอกจากนี้ในส่วนของกรมสรรพากรจะมีการขยายเวลายื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาออกไปอีก 3 เดือน หรือจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 2563 ด้วย เพื่อให้ประชาชนมีเงินเหลือในกระเป๋า ซึ่งจะทำให้เงินยังหมุนเวียนอยู่ในระบบในช่วงดังกล่าว