ปี 2563 ปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า คาด GDP หดเหลือ 2.5% จี้รัฐเร่งเครื่องหนัก

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวระหว่างงานสัมนา “How to รอด  รอดอย่างไรในสถานการณ์เศรษฐกิจร้อน การเมืองแรง ว่า  ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน จะมีการประเมินทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ หลังจากที่เศรษฐกิจไทยประสบปัญหาปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้น ทั้งเรื่องไวรัสโคโรนา สงครามการค้า งบประมาณ ถ้าการท่องเที่ยวลดลงจากปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนรวมไปถึงนักท่องเที่ยวอื่นๆ โดยเบื้องต้นมองว่า GDP ของไทยอาจจะโตอยู่ที่ 2.5% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ 2.5 – 3%

อย่างไรก็ดี แม้ไทยจะเจอปัจจัยเสี่ยงเข้ามาเพิ่มเติม แต่ประเทศไทยยังมีปัจจัยบวกโดยเฉพาะในเรื่องของการย้ายฐานการลงทุนจากปัญหาสงครามการค้าซึ่ง จีน ญี่ปุ่น ไต้หวันให้ความสนใจเข้ามาลงทุนทั้งไทยและเวียดนาม ดังนั้น มองว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการอย่างไรเพื่อดึงดูดการลงทุนเข้ามาภายในประเทศมากขึ้น รวมไปถึงการส่งเสริมให้กับภาคเอกชน เรื่องของการลดภาษีหรือการส่งเสริมด้านปัญหาภัยแล้งที่จะช่วยกระตุ้นอย่างไรระหว่างที่งบประมาณส่งเสริมยังไม่ออก

นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า  สิ่งที่ประชาชนผู้ประกอบการหรือหน่วยงานภาครัฐจะต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่ให้ก้าวทันเทคโนโลยี โครงสร้างสังคม เศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากปัจจัยเหล่านี้ล้วนกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศและสิ่งที่ภาครัฐจะต้องดำเนินการ คือ การกระจายอำนาจบริหารเงินงบประมาณโดยอาศัยกฎหมายฉบับปี 40 โดยงบประมาณแผ่นดิน 35 % ควรให้องค์กรท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการเองได้ เพื่อกระจายรายได้สู่ประชาชน

รัฐต้องปรับแพลตฟอร์มสร้างโอกาสให้เอกชนและประชาชนสามารถหาเงินได้โดยอาศัยนวัตกรรมเข้ามาทำมาหากิน รัฐบาลต้องให้ความสำคัญเรื่องของนโยบายการคลังเพิ่มขึ้น หลังจากที่เน้นนโยบายการเงินมานาน เนื่องจากมองว่านโยบายการคลังของภาครัฐจะช่วยกระตุ้นและผลักดันการลงทุน อีกทั้งประเทศไทยยังมีโอกาสในการขยายวงเงินกู้เพิ่มเติมได้ เน้นการสร้างโอกาสให้กลุ่มผู้ประกอบการ SME รวมไปถึงการออกนโยบายโดยมีประชาชนเป็นเป้าหมาย เพื่อ ส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดรายได้ให้กับประชาชน

นางกิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัยด้านการวิจัยและคำปรึกษาระหว่าง ประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ( TDRI) กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยเจอปัจจัยเสี่ยงตั้งแต่ต้นปี ทั้งปัญหาภายในและต่างประเทศโดยเฉพาะเรื่องของปัญหาไวรัสโคโรน่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อในหลายภาคส่วนโดยเฉพาะในเรื่องของภาคการท่องเที่ยวทั้งนักท่องเที่ยวจีนและนักท่องเที่ยวต่างชาติอื่นๆที่อาจจะเข้ามาในประเทศไทยลดลง  โดยอาจจะทำให้ภาพรวมการเติบโตทางเศรษฐกิจจากปัญหานี้และเรื่องของงบประมาณล่าช้า ผลกระทบจากภัยแล้ง อาจจะส่งผลให้ GDP ของไทยโตต่ำกว่า 2 % ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้

ภายใต้ปัจจัยเสี่ยงประเทศไทยก็ยังมีปัจจัยบวกที่ส่งเสริมกระตุ้นให้เศรษฐกิจมีโอกาสเติบโตได้อย่างเช่น ค่าเงินบาทในขณะนี้อ่อนค่าลง ราคาน้ำมัน แนวโน้มปรับลดลงโดยมองว่าทั้งปีหน้าจะลดลง 5% แต่อย่างไรก็ดีแม้ปัญหาเรื่องของสงครามการค้าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นแต่ยอมรับว่ายังไม่น่าไว้วางใจเนื่องจากปัจจัยนี้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวมอีกครั้งแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย คาดว่าจะอยู่ในช่วงขาลงซึ่งของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงหรืออาจจะคงที่ได้ในปีนี้

นายชัยยงค์ สัจจิพานนท์ อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กล่าวว่า มองว่าปัญหาสงครามการค้าหลังจากนี้อาจชะลอและเบาบางลงเนื่องจากจะเข้าสู่ในช่วงของการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐโดยในมุมมองของตน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์มีโอกาสที่จะกลับเข้ามาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งมีความเป็นไปได้มากและจะทำให้นโยบายและการสร้างให้สหรัฐมีความเข้มแข็งตามนโยบายของทรัมป์ยังอยู่ ทั้งนี้ อาจจะกลับมาดูความสัมพันธ์ในแต่ละประเทศในอนาคตโดยเป็นเรื่องที่น่าติดตามภายในปีนี้

นายปณิธาน วัฒนายากร ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของนายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า  กรณีที่มีหลายส่วนให้ความสนใจว่าประเทศไทยควรที่จะปิดประเทศหรือไม่มองว่าในเรื่องนี้ปิดไม่ได้หรือหากจะปิดก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้อยู่ดีเนื่องจากมองว่าในขั้นตอน ยังมีความซับซ้อนอีกครั้งต้องดำเนินการภายใต้แนวทางพิเศษดังนั้นหากไม่สามารถปิดประเทศได้การดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องของไวรัสโคโรน่าทางภาครัฐจะดำเนินการดูแลอย่างไรในเรื่องนี้อาจจะต้องหามาตรการพิเศษเข้ามาดูแลและควบคุมอีกครั้งแรกเปลี่ยนข้อมูลไปทุกหน่วยงานรวมถึงต่างประเทศโดยมองว่าในสัปดาห์หน้าทางคณะรัฐมนตรีอาจจะมีการพิจารณาเรื่องของวีซ่าเป็นพิเศษซึ่งก็ต้องดำเนินการและติดตามเรื่องนี้ต่อไป


ส่วนแนวทาง การดูแลความมั่นคงขณะนี้ได้มีแผนที่จะสามารถบังคับใช้ได้อย่างเป็นทางการแล้วซึ่งในแผนฉบับนี้ให้ความสำคัญในเรื่องของการดูแลความขัดแย้งภายในและต่างประเทศการสร้างความมั่นคงในสถาบันพระมหากษัตริย์และยุทธศาสตร์ชาติซึ่งจะเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนและสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ