ทุ่มซื้อ”ใบอ้อย”ตันละพัน มิตรผลนำร่องลดฝุ่น PM 2.5

ชาวไร่เฮ โรงงานน้ำตาลประกาศรับซื้อ “ใบอ้อย” ตันละ 1,000 บาท เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าชีวมวล เริ่มนำร่องแล้วโดย “กลุ่มมิตรผล” หวังแก้ปัญหาการเผาอ้อยที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ตามแผนโรดแมปของรัฐบาลจะไม่มีอ้อยไฟไหม้เข้าโรงงานน้ำตาลภายในปี 2565

ฝุ่น PM 2.5 ที่เกินค่ามาตรฐานต่อเนื่องมาหลายปี ทำให้ภาครัฐต้องออกมารณรงค์แก้ปัญหา โดยหนึ่งในมาตรการที่กำหนดออกมาบังคับใช้ก็คือ ลดการเผาในที่โล่ง ส่งผลให้โรงงานน้ำตาลต้องออกมาตรการจูงใจโดยให้ผลตอบแทนที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการรับซื้ออ้อยที่ตัดสดไปจนกระทั่งถึงการประกาศรับซื้อใบอ้อยตัดสด ในราคาสูงถึงตันละ 1,000 บาท

นายรังสิต เฮียงราช ผู้อำนวยการ บริษัท ไทยชูการ์มิลเลอร์ จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้กลุ่มผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทราย 57 โรง ซึ่งบางส่วนมีโรงไฟฟ้าชีวมวลได้เริ่มมาตรการเพิ่มมูลค่าเศษวัสดุที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว ใบอ้อย ต้นและซังข้าวโพด ด้วยการรับซื้อมาอัดเป็นก้อนเพื่อป้อนให้โรงไฟฟ้าชีวมวล โดยโรงงานน้ำตาลรายใหญ่ที่นำร่องไปแล้ว ได้แก่ “มิตรผล” เช่นกันกับทางไทยชูการ์ฯก็มีการดำเนินมาตรการนี้ด้วยการเป็นตัวแทนของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายในการรับซื้อ ให้เป็นไปตามแผนลดการเผาอ้อย เพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการไม่ให้มีการเผาอ้อยภายในปี 2565

รังสิต เฮียงราช

“มิตรผลออกประกาศรับซื้อกากอ้อย-ใบอ้อยในพื้นที่แล้ว ทำให้เราคาดการณ์ว่าปีนี้จะมีทั้งกากใบ กากอ้อย รวม 25-27% ของปริมาณผลผลิตอ้อยโดยรวมที่คาดว่าจะมี 90 ล้านตันอ้อย หรือลดลงจากปีก่อนที่มี 130 ล้านตัน” นายรังสิตกล่าว

ทั้งนี้ ราคารับซื้อใบอ้อยถูกกำหนดไว้ที่ตันละ 1,000 บาท “บวก/ลบ” ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่และต้นทุนค่าบริหารการจัดเก็บ ซึ่งการเก็บใบอ้อยมีต้นทุนจัดเก็บพอสมควร โดยจะต้องใช้เครื่องตัดใบเพื่อป้องกันไม่ให้โดนบาด เฉลี่ยแล้วจะเก็บได้ 2 ตันต่อไร่ แบ่งคลุมดินไว้ 1 ตัน เหลือขายได้ประมาณ 1 ตัน หากขายได้ในราคาตันละ 1,000 บาท เกษตรกรจะได้กำไรตันละประมาณ 500 บาท โดยในส่วนของโรงไฟฟ้าชีวมวลก็จะมีกระบวนการในการปรับสภาพหลังรับซื้อใบอ้อยไปแล้วก่อนนำไปผสมกับกากอ้อยทุบเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง

ปัจจุบันการรณรงค์เลิกซื้ออ้อยไฟไหม้สามารถดำเนินการได้ประมาณ 50% ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ในปีนี้ หลังจากที่เริ่มเปิดหีบอ้อยมาเป็นเวลา 50 วัน นับจากวันที่ 1 ธันวาคม 2562 มีอ้อยเข้าหีบไปแล้วประมาณ 40-50 ล้านตัน

ส่วนแนวทางในการมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมายการลดการเผาอ้อยให้เหลือ 0% นอกเหนือไปจากการรับซื้อใบอ้อยแล้ว ภาครัฐควรส่งเสริมให้เกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรใช้เครื่องจักรตัดอ้อยเพื่อลดการเผา ซึ่งทั่วประเทศมีปริมาณรถตัดอ้อยอยู่ 2,000 คัน รองรับอ้อยได้ประมาณ 30 ล้านตัน หากจะให้ครอบคลุม 100 ล้านตันอ้อยก็ต้องลงทุนเพิ่ม ถ้าซื้อเครื่องจักรใหม่อีก 4,000 กว่าคัน ราคาคันละ 10-15 ล้านบาท รวมแล้วต้องใช้เงิน 60,000 ล้านบาท แต่หากนำรถตัดอ้อยเก่ามาปรับปรุง ต้นทุนจะลดลงเหลือ 5-6 ล้านบาท รวมถึงส่งเสริมแรงงานในการตัดอ้อยสด โดยมีเครื่องสางใบให้แรงงานเพื่อตัดง่ายขึ้น

ด้านนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการกลุ่มมิตรผล กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กลุ่มมิตรผลได้ดำเนินการรับซื้อใบอ้อยและฟางแห้งจากเกษตรกรในราคาตันละ 1,000 บาท เพื่อนำไปส่งให้โรงงานไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งแต่ละปีใช้วัตถุดิบใบอ้อย 400,000-500,000 ตัน โดยทางบริษัทกำหนดราคารับซื้อไว้ที่ตันละ 1,000 บาท ก็เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้จากการขายใบอ้อยเพิ่มขึ้นและลดการเผาอ้อย

“เฉลี่ยจะเก็บใบอ้อยได้ไร่ละ 2 ตัน เกษตรกรจะแบ่งครึ่งหนึ่งคลุมดินเป็นวัสดุชีวภาพ อีกครึ่งมาใช้ผลิตไฟฟ้า หักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการบริหารจัดการจะเหลือกำไรตันละ 500 บาท มาตรการนี้เป็นผลจากที่หลายคนมองว่า อุตสาหกรรมน้ำตาลทำให้เกิดมลพิษ PM 2.5 แต่ผมมองว่าการแก้ปัญหาด้วยวิธีการนี้จะทำให้เกิดการดูแลอย่างยั่งยืน ปัจจุบันโรงไฟฟ้าชีวมวลของมิตรผลทำสัญญาขายไฟฟ้าให้ กฟผ.ที่หน่วยละ 3.00 บาท บวก adder อีก 30 สตางค์ รวม 3.30 บาท เหลืออายุสัญญาอีก 3-4 ปี มีผลทำให้เราสามารถรับซื้อใบอ้อยจากชาวไร่ที่ราคาตันละ 1,000 บาทได้” นายอิสระกล่าว