“จุรินทร์” เปิดหารือ 19 บริษัทไทยในกัมพูชา พบปัญหาปลอมสินค้าไทย แนะต้องเร่งแก้ไข

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมภาคเอกชนไทยในกัมพูชา 19 บริษัท เช่น บริษัท ปตท. กัมพูชา จำกัด, บริษัท Makro (Cambodia) จำกัด, บริษัท C.P. (Cambodia) จำกัด บริษัท SCG (Cambodia) ธนาคารกรุงไทย สาขา กรุงพนมเปญ, ธนาคารกสิกรไทย สาขากรุงพนมเปญ เป็นต้น ว่ากระทรวงพาณิชย์เล็งเห็นถึงโอกาสทางการค้า โดยมูลค่าการค้าระหว่างไทยกัมพูชาปี 2562 ที่ผ่านมามีการเติบโตขึ้นอย่างมาก ขยายตัว 12% และเพื่อขยายโอกาสทางการค้า จึงได้ร่วมหารือและแลกเปลี่ยนกับภาคเอกชนในการเร่งผลักดัน การค้าการส่งออก พร้อมทั้งช่วยลดปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นด้วย

เบื้องต้นจากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น กระทรวงพาณิชย์มีเป้าหมายที่จะเร่งส่งเสริมและผลักดันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ในการเข้าบุกตลาดกลุ่มประเทศ CLMV โดยเฉพาะกัมพูชา ที่เป็นประเทศแรกที่เข้ามาจัดงานแสดงสินค้า Top Thai Brand 2020 อีกทั้งการผลักดันการส่งออกผลไม้เข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยจะดำเนินการอย่างไรที่จะเพิ่มช่องทางในการระบายสินค้าได้มากขึ้น หรืออาจจะจัดกิจกรรมส่งเสริมการจัดเทศกาลผลไม้ในต่างประเทศเพื่อทำการตลาดผลไม้เพิ่มเติม

“พร้อมกันนี้ตนได้เชิญผู้ประกอบการล้งจากทั่วประเทศ เกษตรกร ผู้ส่งออก ผู้ประกอบการแปรรูป เข้าประชุมหารือร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อหาแนวทางแก้ไขและกำหนดทิศทางแบบครบวงจรในการส่งเสริมและผลักดันการส่งออกผลไม้ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 ที่จังหวัดจันทบุรีด้วย”

ส่วนการประชุมหารือพบว่าผู้ประกอบการไทยประสบปัญหาเรื่องของการละเมิดเครื่องหมายทางการค้า ปลอมแปลงสินค้าโดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มอุปโภคบริโภค ดังนั้น เห็นว่าผู้ประกอบการไทยที่ถูกละเมิด ควรที่จะเร่งหารือกับหน่วยงานทางด้านกรมทรัพย์สินทางปัญญาของกัมพูชารวมถึงประเทศไทย ในการเร่งแก้ไขปัญหาเรื่องนี้โดยด่วน เพื่อสร้างโอกาสทางการแข่งขันในตลาดกัมพูชา พร้อมกันนี้ยังพบว่า บริษัท ปตท.ที่มาลงทุนในกัมพูชา จะเปิดมุมร้านที่ขายปลีกให้กับสินค้าไทย โดยใช้ชื่อว่า “มุมไทย” ในการจำหน่ายสินค้า เพื่อเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยในการทดลองทำตลาด โดยจะกระจายไป 50 สาขาทั่วกัมพูชา ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสทางการตลาดมากขึ้น

สำหรับกิจกรรม Top Thai Brand 2020 มีบริษัทไทยอย่างน้อย 50 บริษัทนำสินค้าไทยเข้าร่วมงานจากบริษัทต่างๆ มาอีกรวมเกือบ 200 บูธ ผู้ประกอบการท้องถิ่นรวมทั้งบูธของกัมพูชา 100 กว่าบูธ รวมประมาณ 300 บูธ โดยเชื่อว่ากิจกรรมนี้จะช่วยให้สินค้าไทยมีโอกาสเข้ามาทำตลาดในกัมพูชามากขึ้น