ร้องข้าวโพดพม่าทะลัก ‘สวมสิทธิ’ ทุบราคาดิ่ง

ข้าวโพด *** Local Caption *** ภาพ​สแกน​จาก​ฐาน​ข้อมูล​ห้องสมุด​ภาพ

ข้าวโพดเมียนมาทะลักไทย ทุบราคาผลผลิตชาวไร่ดิ่ง รัฐจ่ายประกันรายได้อ่วม “สมาคมพ่อค้าพืชไร่” ออกโรงร้อง กมธ.วุฒิสภา-พาณิชย์ ยื่นข้อเรียกร้องจัดระเบียบนำเข้าวัตถุดิบทดแทนอาหารสัตว์ จี้ตรวจสต๊อก รื้อมาตรการ 3 ต่อ 1 ขึ้นภาษีนำเข้าตามฤดูกาล 10-27% เดินหน้าผลักดันเข้าคณะกรรมการนโยบายข้าวโพด ก่อนชาวไร่ 4.5 แสนครัวเรือนพัง

วันที่ 1 ก.พ. 2563 ไทยได้เปิดให้มีการนำเข้าข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน อัตราภาษี 0% ตามกรอบการเปิดการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) เป็นเวลา 7 เดือน โดยจะสิ้นสุดในเดือน ส.ค. 2563 

ประกันรายได้ทุบราคาข้าวโพด

นายพรเทพ ปู่ประเสริฐ นายกสมาคมการค้าพืชไร่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า สมาคมได้ยื่นหนังสือต่อ นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ ประธานกรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตเกษตรกรรม และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอให้แก้ไขปัญหาราคาข้าวโพด 

เนื่องจากในปีนี้เกิดปรากฏการณ์ความผิดปกติ ปริมาณผลผลิตมีน้อย ทั้งจากภัยแล้งและโรคระบาด ขณะที่ความต้องการใช้ข้าวโพดยังคงที่ แต่ราคาผลผลิตข้าวโพดในตลาดกลับปรับลดลง ข้าวโพดส่วนเกินโผล่ 9 แสนตัน

“กรณีดังกล่าวสวนทางกับความเป็นจริง เพราะผลผลิตปีนี้น้อยกว่าปีก่อน แต่ละปีไทยผลิตข้าวโพดได้ 5 ล้านตัน ความต้องการใช้ข้าวโพดในการผลิตอาหารสัตว์อยู่ที่ปีละประมาณ 8 ล้านตัน จึงต้องนำเข้าวัตถุดิบเพิ่มอีก 3 ล้านตัน โดยยึดระเบียบที่กำหนดให้เอกชนที่ต้องการนำเข้าข้าวสาลีเพื่อเป็นวัตถุดิบทดแทนข้าวโพด ต้องซื้อข้าวโพดภายในประเทศ 3 ส่วน ให้นำเข้าข้าวสาลีได้ 1 ส่วน แต่มีปัญหาลักลอบนำเข้า คำนวณจากผลิตข้าวโพดในประเทศ 5.1 ล้านตัน แต่ในความจริงทางปฏิบัติมีการนำเข้าวัตถุดิบทดแทน คือ ข้าวสาลี 2 ล้านตัน เท่ากับเราต้องผลิตข้าวโพด 6 ล้านตัน แต่เราผลิตแค่ 5.1 ล้านตัน จึงน่าคิดว่าข้าวโพดอีก 9 แสนตัน มาจากไหน ที่แน่ ๆ ทำให้ราคาข้าวโพดของเกษตรกรปรับลดลง”

นอกจากนี้ ปีที่ผ่านมายังมีการนำเข้าวัตถุดิบทดแทนอื่น ๆ ซึ่งอยู่นอกเกณฑ์ 3 ต่อ 1 เช่น นำเข้ากากข้าวโพด (DDGS) 8 แสนตัน ข้าวบาร์เลย์ 1.93 ล้านตัน จากประเทศหลัก เช่น ยูเครน อาร์เจนตินา และสหรัฐ รวมแล้ว 4-5 ล้านตัน รวมทั้งมีการนำเข้าข้าวโพดจาก ประเทศเพื่อนบ้านจาก AFTA โดยเฉพาะกัมพูชา

“ล่าสุดก็มีการนำเข้าจากเมียนมา ทางพรมแดน อ.แม่สอด จ.ตาก อีกคาดว่าประมาณเกือบ 2 ล้านตัน เพราะโดยปกติเมียนมาผลิตข้าวโพดได้ 3 ล้านตัน ขายจีนตอนใต้ 1.6-1.7 ล้านตัน แต่ปลายปีที่ผ่านมา จีนปิดพรมแดนจึงต้องมาขายไทย”

รัฐต้องจ่ายประกันรายได้เพิ่มเมื่อนำเข้าข้าวโพด รวมทั้งวัตถุดิบทดแทนทะลักเข้ามาแข่งในรูปแบบที่ถูกและไม่ถูกกฎหมาย จึงทุบราคาข้าวโพดในประเทศ จากที่ควรจะได้ กก.ละ 9-10 บาท ตอนนี้เหลือต่ำกว่า 8.50 บาท ทำให้ภาครัฐต้องจ่ายชดเชยประกันรายได้ กลายเป็นว่าการประกาศราคาประกันทุบราคาผลผลิตภายในประเทศลง ผู้ได้ประโยชน์มีเพียงกลุ่มผู้ผลิตอาหารสัตว์และปศุสัตว์ เพราะแม้ราคาวัตถุดิบลดลงก็ไม่เคยปรับลดราคาจำหน่ายอาหารสัตว์ หรือราคาเนื้อสัตว์ลง

นายพรเทพ กล่าวว่า ทางสมาคมกังวลว่าหากเกษตรกรอยู่ไม่ได้ อนาคตผู้ปลูกข้าวโพดที่ขณะนี้มี 4.5 แสนครัวเรือน จะเลิกปลูกข้าวโพด เช่นเดียวกับที่เคยเกิดกับเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลือง

ในอดีตที่ต้องเลิกปลูก ทำให้ไทยต้องพึ่งพาการนำเข้า 100% ปัจจุบันเกษตรกรไทยประสบปัญหาต่อเนื่องมาหลายปี และปีนี้มีภัยแล้ง โรคระบาดในข้าวโพด ทำให้ต้นทุนเกษตรกรเฉลี่ยจากที่เคยผลิตที่ กก.ละ 4.90 บาท (เช่าที่ดิน) ขยับเป็น กก.ละ 5.90 บาท ราคาตลาดที่ขายจึงต้องอยู่ที่ 9-10 บาท แต่ขยับตามกลไกตลาดไม่ได้ เพราะแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ 

นอกจากนี้ การที่ราคาข้าวโพดจากเมียนมาข้ามมา อ.แม่สอด ราคาอยู่ที่ กก.ละ 7.50 บาท ตลาดส่งออกข้าวโพดทั้งฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย จึงเริ่มหันไปซื้อข้าวโพดเมียนมาแล้ว จี้แก้ข้าวโพดสวมสิทธิ์

ด้าน ดร.สุจิต จิตติรัตนากร รองเลขาธิการ หอการค้าจังหวัดนครสวรรค์ และกรรมการสมาคมพ่อค้าพืชไร่ กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดที่ กมธ.จะสรุปส่งรายงานต่อคณะกรรมการนโยบายข้าวโพดแห่งชาติ ประกอบด้วย 1) ขอให้ภาครัฐตรวจสอบสต๊อกผู้ผลิตก่อนให้นำเข้า ป้องกันปัญหาการลักลอบนำข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ์เป็นข้าวโพดไทย

2) มาตรการดูแลวัตถุดิบทดแทน ขอให้ลดระยะเวลาเปิดนำเข้าข้าวโพดจากประเทศอาเซียนตามกรอบ AFTA จาก 7 เดือน ให้เหลือ 5 เดือน เริ่มจาก เม.ย.-ส.ค. และขอให้ “ขยาย” มาตรการดูแลสัดส่วนการนำเข้า 3 ต่อ 1 จากเดิมที่ใช้เฉพาะข้าวสาลี ให้ครอบคลุมวัตถุดิบทดแทนชนิดอื่น ๆ ทั้งข้าวบาร์เลย์ ข้าวไรซ์ กากข้าวโพด (DDGS)เก็บภาษีตามฤดูกาลผลิต

3) มาตรการด้านภาษีนำเข้าวัตถุดิบทดแทน ควรปรับให้สอดรับกับฤดูกาลผลิตตั้งแต่ 10-27% เช่น ช่วงใดไทยมีผลผลิตข้าวโพดมาก ก็ให้ใช้อัตราภาษีสูง 27% ช่วงใดไทยไม่มีผลผลิตข้าวโพดก็ปรับลดภาษีลงเหลือ 10% ส่วนกากข้าวโพด หรือ DDGS ควรมีอัตราภาษีตามสัดส่วนการใช้ ประมาณ 73% เพราะสามารถใช้แทนเทียบเท่าข้าวโพด 2 ส่วน และต้องยกเลิกโควตาสัดส่วน 3 ต่อ 1 ที่เป็นปัญหา

และ 4) กรมปศุสัตว์ควรกำหนดมาตรฐานวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์

นอกจากนี้้ ควรมีการตรวจสอบพฤติกรรมการกำหนดราคาซื้อหน้าโรงงานอาหารสัตว์ เนื่องจากมีการประกันรายได้เกษตรกรที่ กก.ละ 8.50 บาท แต่ราคาที่โรงงานซื้อในพื้นที่ปรับลดลงมาเรื่อย ๆ จาก 8.80-9.05 บาท มาเป็น 8.35-8.70 บาท และล่าสุดเหลือเพียง 8.20 บาทแล้ว