เก็บตก ครม.สัญจรสุพรรณฯ-อยุธยา! เปิดข้อเสนอแผนพัฒนา-โครงการภาคกลาง-ข้อสั่งการ “บิ๊กตู่”

ตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้มีการจัดประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในวันที่ 19 กันยายน 2560 โดยมอบหมายให้ สศช.จัดประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีกับภาคเอกชน และเตรียมแผนการลงพื้นที่ของคณะรัฐมนตรี พร้อมทั้งรวบรวมและจัดทำรายงานสรุป เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี นั้น สศช. ได้เสนอผลสรุป 2 เรื่อง ได้แก่ (1) ผลสรุปการพบปะหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีกับผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนภาคเอกชน ผู้บริหารท้องถิ่น และผู้แทนเกษตรกรในภาคกลาง วันที่ 18 กันยายน 2560 ณ ห้องประชุมอู่ทอง ชั้น 3 โรงแรมคลาสสิค คามิโอ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และ (2) รายงานผลการติดตามงานและโครงการ รวมทั้งแนวทางและข้อสั่งการการแก้ไขปัญหาของคณะรัฐมนตรีในการติดตามงานในพื้นที่ภาคกลาง ระหว่างวันที่ 8-18 กันยายน 2560 มีรายละเอียดดังนี้

1.ผลสรุปการพบปะหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีกับผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนภาคเอกชน ผู้บริหารท้องถิ่น และผู้แทนเกษตรกรในภาคกลาง วันที่ 18 กันยายน 2560 ณ ห้องประชุมอู่ทอง ชั้น 3 โรงแรมคลาสสิค คามิโอ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีข้อสั่งการโดยสรุปดังนี้

1.1 เรื่องเร่งด่วน 2 เรื่องได้แก่ 1.1.1 ด้านการค้าการลงทุน เร่งรัดดำเนินการเขตเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรี โดยขอให้กรมธนารักษ์เร่งรัดดำเนินการเปิดประมูลให้เอกชนเช่าที่ดิน ทั้งนี้ควรจะแบ่งเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมก่อน (Phasing) โดยเฉพาะพื้นที่ที่เอกชนมีความสนใจลงทุนประมาณ 500 ไร่ ข้อสั่งการ : มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติร่วมกับกระทรวงการคลังรับไปเร่งรัดดำเนินการเปิดประมูลให้เอกชนเช่าที่ดิน โดยให้ความสำคัญกับการแบ่งพื้นที่ที่มีความพร้อมก่อน (Phasing) โดยเฉพาะพื้นที่ที่เอกชนมีความสนใจลงทุนประมาณ 500 ไร่ และให้นำเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ตามขั้นตอนต่อไป

1.1.2 ด้านการบริหารจัดการน้ำ ขอให้พิจารณาจัดทำเขื่อนป้องกันตลิ่งถาวรเพื่อบรรเทาผลกระทบจากน้ำท่วมที่เกิดจากน้ำที่ระบายจากเขื่อนเจ้าพระยาบริเวณชุมชนริมคลองโผงเผง หมู่ที่ 3,4,5,6 ตำบลโผงเผง จังหวัดอ่างทอง ระยะทาง 3.2 กิโลเมตร ข้อสั่งการ : มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งพิจารณาศึกษาวิธีการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงความจำเป็นในการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งถาวรหรือแนวทางเลือกอื่นที่เหมาะสมเพื่อบรรเทาผลกระทบจากน้ำท่วมที่เกิดจากน้ำที่ระบายจากเขื่อนเจ้าพระยาบริเวณชุมชนริมคลองโผงเผง และขอรับการสนับสนุนตามขั้นตอนต่อไป

1.2 ด้านการพัฒนาคมนาคมขนส่ง 1.2.1 โครงการของพื้นที่ที่สอดคล้องกับโครงการที่บรรจุอยู่ในยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านการคมนาคมขนส่ง ประกอบด้วย (1) การปรับปรุงท่าเทียบเรือแม่น้ำเจ้าพระยา 17 แห่ง (2) การก่อสร้างเส้นทางมอเตอร์เวย์สายใหม่บางปะอิน-นครสวรรค์ (3) โครงการก่อสร้างระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต – มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต (4) การต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) เชื่อมต่อทางหลวงหมายเลข 32 และ (5) โครงการสร้างทางหลวงสายเลี่ยงเมือง จากสามแยกวังมะนาว – บรรจบทางหลวง หมายเลข 3510 (หนองหญ้าปล้อง) จังหวัดเพชรบุรี ระยะทางประมาณ 35 กิโลเมตร ข้อสั่งการ :มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมรับข้อเสนอไปพิจารณาจัดลำดับความสำคัญและความจำเป็นเร่งด่วนและดำเนินการตามขั้นตอน โดยให้คำนึงถึงความเชื่อมโยงกับระบบขนส่งมวลชนรูปแบบอื่น รวมทั้งไม่ให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและต้องสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้การปรับปรุงท่าเทียบเรือแม่น้ำเจ้าพระยา 17 แห่งจะต้องสอดคล้องกับการพัฒนาการท่องเที่ยวทางน้ำ

1.2.2 โครงการที่ต้องการให้เร่งรัดดำเนินการ ประกอบด้วย (1) ขยายช่องจราจรจาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร ของกรมทางหลวงชนบท เส้นทางถนนสาย หนองแค – หนองเสือ – หนองจอก – หนองงูเห่า เลียบคลองระพีพัฒน์ (คลอง 13) และ (2) พัฒนาเส้นทาง สิงห์บุรี อยุธยาและบางปะหัน เพื่อกระจายการจราจรบนถนนสายเอเชีย (สาย 32) ในช่วงเส้นทางผ่านจังหวัดชัยนาท ที่กรมทางหลวงได้มีแผนก่อสร้างถนน วงแหวนรอบที่ 3 ซึ่งห่างจากวงแหวนกาญจนาภิเษก ประมาณ 15 กิโลเมตร ข้อสั่งการ : มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมรับข้อเสนอไปพิจารณาจัดลำดับความสำคัญตามความจำเป็นเร่งด่วน และเร่งดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

1.2.3 การแก้ปัญหาอุบัติเหตุและการจราจรติดขัดบนเส้นทางหลักและระบบขนส่งทางน้ำ ประกอบด้วย (1) เร่งรัดการก่อสร้างสะพานกลับรถรูปเกือกม้าบนถนนพหลโยธินและถนนมิตรภาพให้ดำเนินการเร็วขึ้น ในปี 2561 – 2562 (2) ก่อสร้างทางยกระดับสะพานข้ามคลองรังสิต คลอง 1-14 (ถนนรังสิต – นครนายก) เพื่อทำจุดกลับรถใต้สะพาน (3) เร่งรัดการเปิดให้บริการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าทางน้ำโดยเรือเฟอร์รี่ข้ามอ่าวไทยเพิ่มเติมจากที่มีอยู่แล้ว และ (4) เร่งรัดการแก้ไขปัญหาและพัฒนาท่าเรือขนถ่ายสินค้า เส้นทางลำน้ำเจ้าพระยา ที่บริเวณอำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ข้อสั่งการ : มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนรับไปพิจารณาเร่งรัดศึกษาในรายละเอียดของความเหมาะสมและความคุ้มค่าของการลงทุนในการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุและการจราจรติดขัดบนเส้นทางหลักและระบบขนส่งทางน้ำ ทั้งนี้ในการก่อสร้างสะพานกลับรถรูปเกือกม้าบนถนนพหลโยธินและถนนมิตรภาพให้ภาคเอกชนรับไปช่วยสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ในการกำหนดจุดที่ตั้งการก่อสร้าง

1.2.4 ด้านการค้าการลงทุน กำหนดรูปแบบการก่อสร้างสถานี Hi Speed Train ของการรถไฟแห่งประเทศไทย และสถานีขนส่งทางบกของกรมการขนส่งทางบกในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ข้อสั่งการ :มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมรับไปพิจารณาความเหมาะสมของการก่อสร้างสถานี Hi Speed Train ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยการออกแบบให้คำนึงถึงภูมิสถาปัตย์และอัตลักษณ์ของความเป็นเมืองมรดกโลก

1.3 ด้านการบริหารจัดการน้ำ 1.3.1 การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำเค็มประกอบด้วย (1) ขอให้พิจารณาจัดสรรงบประมาณและดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำ โดยสร้างประตูระบายน้ำในพื้นที่แม่น้ำแม่กลองและแม่น้ำท่าจีน (2) ขอให้พิจารณาพัฒนาแนวทุ่งรับน้ำในพื้นที่จังหวัดอ่างทองและพระนครศรีอยุธยา เป็นแก้มลิงศรีบัวทอง เชื่อมโยงจังหวัดอ่างทองในพื้นที่อำเภอโพธิ์ทอง อำเภอแสวงหา กับอำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ข้อสั่งการ : (1) มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับไปพิจารณาจัดลำดับความจำเป็นเร่งด่วนของการแก้ไขปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำดังกล่าว ทั้งนี้จะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและเกิดการยอมรับในพื้นที่ด้วย

(2) มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับไปศึกษาแนวทางการพัฒนาแนวทุ่งรับน้ำทั้งในเขตและนอกเขตชลประทาน โดยคำนึงถึงต้องการของชุมชนในพื้นที่จังหวัดอ่างทองและพระนครศรีอยุธยารวมทั้งพื้นที่ใกล้เคียงด้วย

1.3.2 การแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำ โดยให้เร่งรัดดำเนินการ ได้แก่ (1) ขอให้จังหวัดปทุมธานีไปทำความเข้าใจกับท่าทรายและประสานกรมชลประทานในการปรับปรุงประตูสูบน้ำให้เป็นประตูสูบน้ำอย่างถาวรชิดแม่น้ำเจ้าพระยา และ (2) ขอให้รับข้อเสนอของสภาเกษตรกรจังหวัดเพชรบุรี ประกอบการพิจารณาการก่อสร้างระบบท่อผันน้ำจากเขื่อนแก่งกระจานลงอ่างเก็บน้ำทุ่งขาม ระยะทางประมาณ 36 กิโลเมตร ข้อสั่งการ : (1) มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับไปพิจารณาจัดลำดับความจำเป็นเร่งด่วนของการดำเนินการปรับปรุงประตูสูบน้ำให้เป็นประตูสูบน้ำถาวร โดยให้กระทรวงมหาดไทยรับไปสร้างความเข้าใจกับท่าทรายถึงเหตุผลและความจำเป็นของการดำเนินการดังกล่าว

(2) มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเร่งศึกษาการก่อสร้างระบบท่อผันน้ำจากเขื่อนแก่งกระจานลงอ่างเก็บน้ำทุ่งขาม โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและความคุ้มค่าของแต่ละทางเลือกระหว่างระบบคลองส่งน้ำด้วยแรงโน้มถ่วง (Gravity) กับ การใช้ระบบสูบน้ำด้วยไฟฟ้า

1.3.3 ข้อเสนอเพิ่มเติม ประกอบด้วย (1) ขอให้พิจารณาความเป็นไปได้ของข้อเสนอการสูบน้ำกลับจากเขื่อนเพชรบุรีไปยังเขื่อนแก่งกระจาน และ (2) ขอให้หน่วยงานที่จะจัดตั้งใหม่ให้ความสำคัญกับข้อมูลธรณีฟิสิกส์และการไหลของน้ำให้มากขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ในการจัดทำโครงการและสามารถนำไปต่อยอดการจัดทำ Application เพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้ประโยชน์ ข้อสั่งการ : (1) มอบหมายให้กระทรวงพลังงานรับข้อเสนอการสูบน้ำกลับจากเขื่อนเพชรบุรีไปยังเขื่อนแก่งกระจานไปพิจารณาตามขั้นตอน โดยการพิจารณาให้คำนึงถึงความเป็นไปได้ ความคุ้มค่า รวมทั้งความต้องการของประชาชนในพื้นที่

(2)มอบหมายให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับข้อเสนอไปบูรณาการการบริหารจัดการน้ำ โดยให้ความสำคัญกับข้อมูลธรณีฟิสิกส์ และการไหลของน้ำให้มากขึ้น เพื่อต่อยอดการจัดทำ Application เพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้ประโยชน์

1.4 ด้านการเกษตร 1.4.1 การส่งเสริมธุรกิจมะพร้าว โดย (1) ขอให้พัฒนาสายพันธุ์มะพร้าวทานอ่อนและมะพร้าวผลิตกะทิให้เพียงพอ (2) ควบคุมการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศ ซึ่งโดยปกติจะมีการอนุมัติให้มีการนำเข้ามะพร้าวแก่จากประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ในห้วงเวลาที่ขาดแคลนของทุกปีและ (3) ขอให้เจรจากับสาธารณรัฐประชาชนจีนให้ได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับกลุ่มประเทศ CLMV ข้อสั่งการ : มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาการสนับสนุนและส่งเสริมมะพร้าวไทย ตั้งแต่การแก้ไขการขาดแคลนพันธุ์มะพร้าว การควบคุมการลักลอบการนำเข้า และการขยายตลาดไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งขณะนี้มีอัตราภาษีนำเข้าที่ร้อยละ 0 อยู่แล้ว

1.4.2 เกษตรปลอดภัย โดย (1) ต้นทาง ขอให้จัดให้มีเครื่องหมายรับรองสินค้าเกษตรปลอดภัยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล (2)กลางทาง ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มห้อง Lab และเพิ่มบุคลากรตรวจรับรองเกษตรปลอดภัย 16 จังหวัดภาคกลาง และ (3) ปลายทาง พัฒนาศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าเกษตรปลอดภัย ในพื้นที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดปทุมธานี อำเภอคลองหลวง ข้อสั่งการ : มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย สถาบันการศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับไปพิจารณาการส่งเสริมและการสนับสนุนสินค้าเกษตรปลอดภัยให้เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมในตลาดโลกรวมทั้งให้มีการประชาสัมพันธ์สถานที่ตั้งห้อง Labตรวจรับรองเกษตรปลอดภัยที่กระจายอยู่ในพื้นที่ภาคกลาง 46 แห่ง เพื่อสร้างความรับรู้ให้แก่ประชาชนในวงกว้าง

1.4.3 การประมง โดยขอรับการสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์แปรรูปอาหารทะเลครบวงจรและจำหน่ายอาหารทะเล โดยขอยกเว้นระเบียบกรมธนารักษ์ในการเช่าที่ราชพัสดุ ข้อสั่งการ : มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาการขอรับการสนับสนุนเพื่อจัดตั้งศูนย์แปรรูปอาหารทะเลครบวงจรและจำหน่ายอาหารทะเล จังหวัดสมุทรสงคราม โดยคำนึงถึงความต้องการของผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่ ความคุ้มค่าในการลงทุนและรูปแบบการบริหารจัดการศูนย์ฯ ที่จะต้องไม่เป็นภาระของภาครัฐในอนาคตทั้งนี้การขอยกเว้นระเบียบกรมธนารักษ์ในการเช่าที่ราชพัสดุนั้น มอบหมายให้กระทรวงการคลังรับไปพิจารณาลดค่าเช่าตามความเหมาะสมต่อไป

1.4.4 ขอทบทวนมติการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) โดยขอเพิ่มค่าเก็บเกี่ยวให้เกษตรกรที่กำหนดให้ไร่ละ 1,200 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ต่อราย เป็นไร่ละ 1,200 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ต่อราย
ข้อสั่งการ : มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์รับข้อเสนอไปพิจารณาโดยคำนึงถึงงบประมาณและหลักเกณฑ์อื่นๆอย่างรอบคอบ หากมีความเหมาะสมในการปรับปรุงมาตรการ จึงเสนอ คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) เพื่อพิจารณาตามขั้นตอน

1.5 ด้านการท่องเที่ยว 1.5.1 การส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีชีวิตแม่น้ำเจ้าพระยาตอนกลาง โดย (1) เห็นควรเพิ่มจังหวัดชัยนาทในเขตพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนกลางภายใต้ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไทย พ.ศ. 2558 – 2560 (2) เห็นควรเพิ่มจังหวัดสระบุรีในเป้าหมายการพัฒนาภาคกลาง ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติและสร้างความเชื่อมโยงเพื่อกระจายการท่องเที่ยวทั่วทั้งภาค และ (3) ขอให้พิจารณาวางระบบการขนส่งมวลชนเชื่อมต่อจากสถานีหลักไปยังแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน ข้อสั่งการ : (1) มอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาพิจารณาความเป็นไปได้และความเหมาะสมในการเพิ่มจังหวัดชัยนาทให้อยู่ในเขตพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนกลางภายใต้ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไทย พ.ศ. 2558 – 2560 นอกจากนี้การพัฒนาการท่องเที่ยวในภาพรวมของประเทศจะต้องให้ความสำคัญกับศักยภาพของแต่ละจังหวัดเพื่อสร้างความเชื่อมโยงของเส้นทางและกิจกรรมภายในภาค ระหว่างภาคสู่ภาค และระหว่างภาคสู่กลุ่มประเทศ CLMV

(2) มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรับข้อเสนอการเพิ่มจังหวัดสระบุรีไปพิจารณาประกอบการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาภาคกลางในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12

(3) มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปศึกษาในรายละเอียดของการวางระบบขนส่งมวลชนเชื่อมต่อจากสถานีหลักไปยังแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและความคุ้มค่า รวมทั้งความต้องการและผลกระทบที่มีต่อชุมชนในพื้นที่ด้วย

1.5.2 ข้อเสนอเพิ่มเติม ได้แก่ (1) ขอให้มีการกำหนดแนวทางการทำงานร่วมกันกรณีข้ามภาคเป็นการเฉพาะ เนื่องจากการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลอ่าวไทย (The Royal Coast) ประกอบด้วยจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ อยู่ในภาคกลาง ส่วนชุมพร และระนอง อยู่ในภาคใต้ และ (2) ขอรับการสนับสนุนการบริหารจัดการตามแผนแม่บทเนรมิตอยุธยา ข้อสั่งการ : (1) มอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬานำแนวทางการทำงานร่วมกันในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลอ่าวไทย (The Royal Coast) ไปพิจารณาในคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ

(2) มอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาร่วมกับประชารัฐกลุ่มการส่งเสริมการท่องเที่ยว& MICE (D3) จัดทำแนวทางการบริหารจัดการตามแผนแม่บทเนรมิตอยุธยาให้ชัดเจนเพื่อเสนอรัฐบาล นอกจากนั้นข้อเสนอบางเรื่องจะเป็นประโยชน์ในการนำไปพัฒนาในแหล่งท่องเที่ยวพื้นที่อื่นๆ ของประเทศด้วย

1.6 ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีเพิ่มเติม 1.6.1 การพัฒนาเส้นทางรถไฟสายเก่าช่วงสุพรรณบุรี-อ่างทอง-ลพบุรี เชื่อมเส้นทางเหนือ-ใต้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมรับไปพิจารณาความคุ้มค่าเพื่อใช้ประโยชน์พื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ตามขั้นตอนต่อไป

1.6.2 การพัฒนาเส้นทางรถไฟนครหลวง-ภาชี ระยะทาง 1 กิโลเมตร มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมรับไปพิจารณาความเหมาะสมในรายละเอียดของการพัฒนาเส้นทางดังกล่าว

1.6.การจัดทำแผนงาน/โครงการพัฒนาของประเทศขอให้คำนึงถึงผู้มีรายได้น้อย ผู้ประกอบการ SMEs และการส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการของภาครัฐ โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับการวางแผนพัฒนาประเทศในระยะยาวตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี

2.ผลการปฏิบัติราชการของคณะรัฐมนตรีในพื้นที่ภาคกลาง ผลการปฏิบัติราชการในพื้นที่ภาคกลางของรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง ลงพื้นที่ตรวจราชการ รวม 25 คน โดยมีประเด็นการพัฒนาและข้อสั่งการโดยสรุป ดังนี้

2.1 พัฒนาคุณภาพชีวิตและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม (1) การส่งเสริมและจัดสวัสดิการให้แก่ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส เด็กและเยาวชน เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน และพัฒนาคุณภาพชีวิต ข้อสั่งการ : 1) มอบให้กระทรวงพัฒนาสังคมฯ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย (อปท.) และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการขยายผลการสร้าง ปรับปรุง ซ่อมแซมที่อยู่อาศัย สำหรับผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ด้อยโอกาสทางสังคมให้ครบตามเป้าหมายขยายผลสภาเด็กและเยาวชนให้มีทั่วประเทศ พร้อมทั้งสนับสนุนการจัดกิจกรรมและเปิดเวทีแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างต่อเนื่องและขยายผลความสำเร็จในการนำระบบข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ ไปใช้ในการจัดสวัสดิการสังคมและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2) มอบให้กระทรวงพัฒนาสังคมฯบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ และภาคประชาสังคมในพื้นที่ เพื่อให้ความช่วยเหลือและจัดสวัสดิการให้เด็กและเยาวชน สตรีและครอบครัว คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ ให้มีความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย ส่งเสริมอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้และพัฒนาศักยภาพของกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง

(2) ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐในโครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ ข้อสั่งการ : มอบหมายให้พาณิชย์จังหวัดตรวจสอบการกระจายสินค้า เตรียมความพร้อมของร้านค้าและสินค้าที่เข้าร่วมโครงการอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาต่อยอดระบบร้านค้า รวมถึงบูรณาการทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนนโยบายร้านค้าประชารัฐ

(3) การตรวจเยี่ยมโครงการสาธารณสุข ข้อสั่งการ : 1) มอบหมายผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ขยายผลความสำเร็จโครงการพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาล (GCH) ของโรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 17 ไปสู่โรงพยาบาลทุกภูมิภาค 2) ให้โรงพยาบาลทุกแห่งถือปฏิบัติตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขในการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล (RDU) 3) มอบหมายกระทรวงสาธารณสุขบูรณาการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปรับปรุงคู่มือการปฏิบัติงานการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (LTC) โดยหารือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบความถูกต้องก่อนประกาศใช้คู่มือ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

(3) แก้ปัญหามลพิษทางอากาศ ข้อสั่งการ : 1) มอบหมายให้กรมควบคุมมลพิษ และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมไปพิจารณาหาแนวทาง/มาตรการในการแก้ไขปัญหา 2) เห็นชอบให้กรมทรัพยากรธรณีจัดสำรวจและทำแผนที่ด้านทรัพยากรแร่เป็นรายพื้นที่ และประสานกรมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ พิจารณาการให้สัมปทานเหมืองแร่ รวมถึงการพิจารณาการอนุญาตใช้พื้นที่ในการทำเหมืองแร่ของกรมป่าไม้ 3) มอบหมายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ

(4) แก้ไขปัญหาขยะ ข้อสั่งการ : 1) มอบหมายกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม พิจารณาดำเนินการการขับเคลื่อนเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านโดยขอสนับสนุนงบประมาณสำหรับจัดการประชุม 2) ให้สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีหนังสือแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กระทรวงมหาดไทย เพื่อพิจารณาสนับสนุนชุมชนในการคัดแยกขยะ 4) ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานไปดำเนินงานโดยด่วน

2.2 พัฒนาคุณภาพแหล่งท่องเที่ยว (1) โครงการอนุรักษ์และพัฒนานครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ข้อสั่งการ : มอบหมายให้กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ดำเนินการ1) รวบรวมและจัดระบบข้อมูล องค์ความรู้ และหลักฐานทางโบราณคดีที่มีการค้นพบใหม่ นำเสนอและจัดแสดงสำหรับบริการการเรียนรู้และส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการนำเสนอให้น่าสนใจ สะดวกต่อการเข้าถึง 2) เร่งรัดจัดทำแผนแม่บทโครงการอนุรักษ์และพัฒนานครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และมีการศึกษา วิเคราะห์ สภาพปัญหาและแสวงหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาของพื้นที่ โดยบูรณาการร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในลักษณะกลไกประชารัฐ 3) นำผลสรุปการดำเนินงานตามข้อสั่งการข้อ 1 และ 2 เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการและควบคุมการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์และพัฒนานครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาโดยเร็ว 4) จัดหลักสูตรอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการอนุรักษ์และบูรณะโบราณสถานเป็นการเฉพาะ

(2) การท่องเที่ยวโดยชุมชน ข้อสั่งการ : มอบหมายให้สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประมวลปัญหาและความต้องการของพื้นที่และชุมชนเพื่อสนับสนุนโครงการและงบประมาณภายใต้แผนปฏิบัติการพัฒนาการท่องเที่ยวภายในเขตพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนกลาง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 และให้มีการประสานงานกับกลุ่มประชารัฐ เพื่อช่วยส่งเสริมการตลาด สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์กระเป๋า รวมทั้งการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ

2.3 ยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม

(1) ยุทธศาสตร์การพัฒนาและการลงทุนภาคกลาง ข้อสั่งการ : 1) มอบหมายให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยสรุปประเด็นนำเสนอของภาคเอกชนที่มีลำดับความสำคัญสูงประมาณ 5-6 เรื่อง อาทิ เรื่องเกษตรยั่งยืน เรื่องน้ำ อุตสาหกรรมเชิงนิเวศเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทรัพยากรมนุษย์โดยเฉพาะเรื่องอาชีวะ หรือเรื่องมาตรฐานต่างๆ เพื่อให้กระชับและตรงประเด็นว่าต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนเรื่องอะไร โดยให้จัดทำเป็นเอกสารเสนอนายกรัฐมนตรีก่อนวันประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนภาคเอกชน และผู้บริหารท้องถิ่น 2) มอบหมายผู้ว่าราชการจังหวัดไปหารือร่วมกัน ในเรื่องร่างทิศทางการพัฒนาภาคกลาง สถานการณ์การลงทุน ภาพรวมการวิจัยและนวัตกรรมในภาคกลาง รวมทั้งภาพรวมการดำเนินการกองทุนหมู่บ้าน นำเสนอ สศช. เพื่อประกอบการพิจารณาปรับปรุงร่างทิศทางการพัฒนาภาคกลาง

(2) โครงการดิจิทัลชุมชนด้านอีคอมเมิร์ซ (Digital Community e – Commerce) ข้อสั่งการ : มอบหมายให้บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ใช้เครือข่ายที่กระจายอยู่ทั่วประเทศเป็นจุดติดตั้งระบบ POS เพื่อเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายสินค้าของชุมชน ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และให้ช่วยเหลือชุมชนในการจำหน่ายสินค้าการเกษตรและอื่นๆ โดยคิดค่าขนส่งในราคาที่ถูกลง รวมถึงพัฒนาระบบการขนส่งสินค้าที่เน่าเสียง่ายให้จัดส่งถึงผู้บริโภคได้โดยเร็ว

(3) โครงการกำกับดูแลและสนับสนุนให้แรงงานมีความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยที่ดีในการทำงาน ข้อสั่งการ : มอบหมายกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สร้างการรับรู้ผลการดำเนินงาน ในด้านความปลอดภัยและด้านการจัดสวัสดิการให้แก่พนักงานในสถานประกอบการเพื่อเป็นต้นแบบและนำไปขยายผลสู่สถานประกอบการอื่น ๆ ต่อไป

(4) แก้ไขปัญหาและแนวทางช่วยเหลือแรงงาน ข้อสั่งการ : มอบหมายให้ทุกกรมในกระทรวงแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม บูรณาการการทำงานในพื้นที่กับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนให้สามารถแก้ไขปัญหาแรงงานได้อย่างครบวงจร และส่งเสริมให้แรงงานนอกระบบเข้าถึงหลักประกันสังคม (มาตรา 40) โดยเครือข่ายอาสาสมัครแรงงานประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และในปี 2561 การบริการจัดการแรงงานนอกระบบ ต้องเห็นผลสัมฤทธิ์มากยิ่งขึ้น

(5) โครงการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสวนกล้วยอู่ทอง ข้อสั่งการ : มอบหมายให้สำนักงานพลังงานจังหวัดติดตามผลการดำเนินงานและความก้าวหน้าของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ให้สามารถพัฒนา ต่อยอด ยกระดับเป็น Smart farmer อย่างแท้จริง เพื่อให้โครงการที่สำนักงานพลังงานจังหวัดสุพรรณบุรีส่งเสริมเกิดความยั่งยืน

(6) ตรวจเยี่ยมอุทยานสรรค์อ่างทองหนองเจ็ดเส้นฯ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร และวิสาหกิจชุมชนการเกษตรปลอดภัยในพื้นที่จังหวัดอ่างทอง ข้อสั่งการ : ให้สำนักงานเลขานุการรองนายกรัฐมนตรีประสานกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมการเพื่อตรวจสอบความคืบหน้าในการติดตั้งระบบอินเทอร์เน็ตของหมู่บ้าน หมู่ที่ 4 ต.ไผ่ดำพัฒนา อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง

(7) ติดตามการดำเนินงานขยายผลการขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัด โดยให้ข้อเสนอแนะในการดำเนินงานและรับฟังปัญหาข้อเสนอจากเกษตรกรมาเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

(8) โครงการสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อลดต้นทุนการเกษตรด้วยพลังงานสะอาด ข้อสั่งการ : มอบหมายให้พลังงานจังหวัด 1) สนับสนุนให้มีการนำพลังงานแสงอาทิตย์ไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ ในช่วงที่ไม่ได้นำพลังงานแสงอาทิตย์ไปใช้สูบน้ำอาทิการนำไปใช้ในส่วนราชการ 2) ประสานกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้มีการนำแนวทางการดำเนินงานไปขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

(9) การพัฒนาวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรและผู้ประกอบการ OTOP ข้อสั่งการ : 1) มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ นำงบประมาณปี 2561มาส่งเสริมและขยายความช่วยเหลือเพื่อให้เกิดผู้ประกอบการ/วิสาหกิจชุมชนรายใหม่ และพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชนรายเดิมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การเพิ่มมูลค่า การยืดอายุผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ และการพัฒนาให้ได้มาตรฐาน อย. มผช. และ มาตรฐานอื่นๆ ที่สูงขึ้นรวมทั้งสร้างเครือข่ายกับสถาบันการศึกษาเพื่อให้ความช่วยเหลือชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 2) ให้มีการเชื่อมโยงความช่วยเหลือ ให้ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) รวมทั้งประสานแหล่งเงินทุน เพื่อพัฒนาเครื่องมืออุปกรณ์และโรงเรือน 3) ให้สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ขยายผลการทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สภาเกษตรกรแห่งชาติ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ในการยกระดับศักยภาพเกษตรกรด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตร โดยให้จัดทำข้อเสนอโครงการในพื้นที่ภาคกลาง 5 จังหวัด วงเงิน 40.56 ล้านบาท

(10) โครงการผลิตไบโอดีเซลจากปาล์มน้ำมัน ข้อสั่งการ : 1) มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงานและกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กำหนดแนวทางในการส่งเสริมให้เกิดการใช้น้ำมันไบโอดีเซลให้มากขึ้น 2) ให้กระทรวงพลังงานหารือร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ ในการบริหารจัดการปริมาณสำรองของน้ำมันปาล์มที่ใช้เป็นวัตถุดิบ ให้มีปริมาณที่เหมาะสม เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันปาล์ม โดยเฉพาะความชัดเจนและทันเวลาของข้อมูลสต๊อกน้ำมันปาล์มเพื่อให้สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

(11) ตรวจสอบการดำเนินงานด้านการผลิตปิโตรเลียมของแหล่งน้ำมันดิบอู่ทอง 1-7 ข้อสั่งการ : มอบหมายให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกำกับดูแลเรื่องความปลอดภัยในการผลิตปิโตรเลียมของผู้ประกอบการ

(12) การดำเนินการตรวจเครื่องทองโบราณและพิพิธภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ข้อสั่งการ : 1) มอบหมายให้สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศ (Excellence Center) ด้านการวิเคราะห์อายุวัตถุโดยใช้วิธีนิวเคลียร์แบบครบวงจร และยกระดับสู่อาเซียน 2) ควรมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีพิพิธภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ให้กับพิพิธภัณฑ์อื่นๆ ที่ยังไม่ได้ดำเนินการ โดยมอบหมายให้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (พว.) ขยายผลการดำเนินการกับหน่วยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

(13) โครงการแนวทางประชารัฐเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve ในพื้นที่ภาคกลางเพื่อการเป็นฐานเศรษฐกิจชั้นนำของประเทศ ข้อสั่งการ : 1) มอบหมายกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการให้สามารถแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรเพื่อมุ่งสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยตั้งแต่ต้นทาง จนถึงปลายทาง เพื่อให้ได้ผลิตภาพและคุณภาพสูง โดยในอนาคตการแปรรูปการเกษตรจะไปในแนวทาง Bio Economy 2) มอบหมายกระทรวงอุตสาหกรรมให้ความช่วยเหลือตั้งแต่การทำต้นแบบเชิงอุตสาหกรรม (Prototype) การทดลองผลิตแบบ Small Lot การพัฒนามาตรฐาน การทดลองตลาด และการส่งเสริมการลงทุน โดยผ่าน 3 โครงการสำคัญ คือ (1) ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (2) โครงการเชื่อมโยงการค้า การลงทุน ผู้ประกอบการอาหารเพื่ออุตสาหกรรมอาหารอนาคตและ (3) โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอาหารครบวงจร เพื่อพัฒนาให้เป็นเมืองนวัตกรรมอาหารอนาคตที่ครบวงจร เพื่อเพิ่มมูลค่าของอาหารหรือผลิตภัณฑ์ และการพัฒนาธุรกิจ เชื่อมโยงต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำด้วยกัน 3) มอบหมายศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 8 หารือกับกองส่งเสริมดิจิทัลถึงความเป็นไปได้ในการจัดทำโครงการกิจกรรมส่งเสริม SMEs ทำตลาดสินค้าอุตสาหกรรมในรูปแบบบีทูบี (การค้าบนอินเตอร์เน็ตระหว่างธุรกิจต่อธุรกิจ) ผ่านเว็บไซด์ของไทย 4) มอบหมายสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการ Electronic Design Laboratory และการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics) รวมถึงการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษาเพื่อให้ตอบสนองได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี โดยจะร่วมกับ MEKTEC เพื่อดำเนินกิจกรรมดังกล่าว

2.4 บริหารจัดการน้ำและทรัพยากรธรรมชาติ

(1) ทรัพยากรป่าไม้ ข้อสั่งการ : 1) มอบหมายให้กรมป่าไม้ จัดทำรายละเอียดการดำเนินงานด้านงานป่าไม้ในแต่ละระดับ เพื่อเป็นคู่มือประกอบการดำเนินงาน รวมถึงการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ 2) ให้กรมป่าไม้ดำเนินโครงการ “สวนป่าในเมือง เพื่อความสุขของคนไทย” โดยจัดระเบียบ/กำหนดแนวทางให้ประชาชนสามารถเข้าใช้ประโยชน์หรือศึกษาธรรมชาติในพื้นที่สวนพฤกษศาสตร์/สวนรุกขชาติ ซึ่งเป็นป่าอนุรักษ์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชรวมทั้งจัดให้มี “เรือนเพาะชำชุมชน” เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเพาะชำกล้าไม้ที่เหมาะสมกับท้องถิ่น โดยให้กรมป่าไม้ทำหน้าที่ให้ความรู้ทางวิชาการแก่ประชาชน 3) ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดูแลช้างป่าทั้งในและนอกพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และให้จัดทำข้อมูลพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดภัยจากช้างป่า
ส่งให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดที่เกี่ยวข้องทราบเป็นแนวปฏิบัติในการป้องกันและแก้ไขปัญหาต่อไป 4) ให้ทุกหน่วยงานทบทวนแผนงาน/โครงการ โดยเน้นการสร้างเครือข่ายภาคประชาชนและการพัฒนาเครือข่ายให้มีประสิทธิภาพ

(2) แก้ปัญหาในลุ่มน้ำท่าจีน ข้อสั่งการ : 1) ให้สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีหนังสือแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงสาธารณสุข ทราบข้อเสนอแนะของเครือข่ายภาคประชาชนในการแก้ปัญหาในลุ่มน้ำท่าจีนเพื่อนำไปพิจารณาแก้ไขต่อไป 2) ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนำข้อเสนอแนะของเครือข่ายภาคประชาชนในการแก้ปัญหาในลุ่มน้ำท่าจีน ที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการแก้ไขโดยด่วน

2.5 เชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย-ภาคกลาง-ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (1) โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ข้อสั่งการ : มอบหมายให้กรมทางหลวงให้ความสำคัญกับการควบคุมงานก่อสร้างโครงการฯให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานสากลตามหลักการด้านวิศวกรรม และความปลอดภัย

(2) โครงการสถานีขนส่งสินค้าชายแดนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษบ้านพุน้ำร้อน ข้อสั่งการ :ให้กรมการขนส่งทางบกเร่งรัดดำเนินการจัดทำรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประกอบการขอใช้พื้นที่ รวมทั้งประสานกรมธนารักษ์ ในการดำเนินการก่อสร้างตามแผนที่กำหนดไว้ต่อไป

(3) ประชุมและรับฟังบรรยายสรุปการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.กาญจนบุรี ข้อสั่งการ : 1) ให้กรมทางหลวงเร่งรัดดำเนินการจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการจ่ายค่าทดแทนที่ดินสำหรับที่จะต้องเวนคืนทั้งหมดโดยเร็ว และเร่งรัดประสานกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ให้ดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามแผนที่กำหนดไว้ต่อไป 2) ให้กรมการขนส่งทางบกเร่งรัดพิจารณาความเหมาะสมในการก่อสร้างสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดกาญจนบุรีในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษบ้านพุน้ำร้อน

2.6 พัฒนาความเชื่อมโยงเศรษฐกิจและสังคมกับทุกภาค (1) โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม – หัวหิน ข้อสั่งการ : 1) ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยพิจารณาดำเนินการ 1.1) สำรวจและจัดทำข้อมูลเส้นทางเข้าออกสถานีรถไฟของโครงการรถไฟทางคู่นครปฐม-หัวหิน ทุกสถานีภายใน 1 เดือน และประสานข้อมูลดังกล่าวให้แก่กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบทและอปท. 1.2) วางแผนการใช้ประโยชน์พื้นที่ภายในของสถานีรถไฟและพื้นที่โดยรอบสถานีฯ โดยออกแบบให้มีพื้นที่สาธารณะ ที่จอดรถ และจุดเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างเหมาะสมและเป็นระเบียบ 1.3) ออกแบบสถานีรถไฟและแนวเส้นทางรถไฟแต่ละประเภท ได้แก่ รถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง ให้ประชาชนผู้ใช้บริการสามารถขึ้นขบวนรถไฟแต่ละประเภทได้อย่างสะดวกและปลอดภัย 1.4) ออกแบบสถานีรถไฟใหม่ให้มีความเป็นเอกลักษณ์และสอดคล้องกับสถาปัตยกรรมท้องถิ่น สำหรับอาคารสถานีเก่าที่มีความเป็นเอกลักษณ์และสมควรที่จะอนุรักษ์ไว้ ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยหาแนวทางอนุรักษ์อาคารดังกล่าวไว้ 1.5) ประชาสัมพันธ์เส้นทางการเดินทางโดยรถไฟจากสถานีรถไฟหัวหินไปยังสถานีรถไฟหัวลำโพง เพื่อใช้เป็นข้อมูลให้แก่นักท่องเที่ยวที่มีความสนใจในการเดินทางในแนวเส้นทางดังกล่าว 2) มอบหมายให้กรมการขนส่งทางบกศึกษาปริมาณผู้โดยสารที่มีความต้องการเดินทางจากสถานีรถไฟไปยังศูนย์กลางเมืองหรือสถานที่สำคัญ เพื่อให้สามารถพิจารณาความเหมาะสมของการจัดให้มีผู้ประกอบการเดินรถโดยสารสาธารณะมาเดินรถให้บริการประชาชนในเส้นทางดังกล่าว

(2) โครงการก่อสร้างขยายช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 367 ตอนทางเลี่ยงเมืองกาญจนบุรี ข้อสั่งการ : มอบหมายให้กรมทางหลวง ดำเนินการดังนี้1) ออกแบบก่อสร้างจุดกลับรถตลอดแนวเส้นทางให้มีความปลอดภัยและเป็นไปตามมาตรฐานทางวิศวกรรม พร้อมทั้งติดตามพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนของประชาชนผู้ใช้บริการ เพื่อให้สามารถทราบพฤติกรรมการขับขี่และสามารถนำมาวิเคราะห์และปรับปรุงการก่อสร้างจุดกลับรถให้เกิดความปลอดภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 2) ออกแบบแนวเส้นทางจากเส้นทางเลี่ยงเมืองกาญจนบุรีเชื่อมต่อไปยังด่านพุน้ำร้อน เพื่อรองรับปริมาณการเดินทางที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต 3) ให้ความสำคัญกับการควบคุมคุณภาพงานก่อสร้างให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและควบคุมต้นทุนการก่อสร้างให้อยู่ภายใต้กรอบงบประมาณและดำเนินโครงการอย่างมีประสิทธิภาพ 4) ประสานการรถไฟแห่งประเทศไทยในการติดตั้งเครื่องกั้นบริเวณจุดตัดระหว่างถนนและทางรถไฟ

(3) โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา อ.มโนรมย์จ.ชัยนาท ข้อสั่งการ : มอบหมายให้กรมทางหลวงชนบทพิจารณาดำเนินการดังนี้ 1) ติดตั้งสัญญาณไฟจราจรบริเวณสี่แยกก่อนถึงโครงการฯ เพื่อให้ผู้ใช้ทางเกิดความปลอดภัยในการเดินทางข้ามสี่แยก 2) จัดทำแผนงานก่อสร้างขยายถนนทางหลวงหมายเลข 3212 ซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับให้แล้วเสร็จพร้อมกับโครงการก่อสร้างสะพาน 3) ให้ความสำคัญในการควบคุมการก่อสร้างเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในระหว่างการก่อสร้าง

(4) โครงการอุโมงค์ทางลอดบนทางหลวงหมายเลข 32 ช่วงกม.ที่ 97+200 จ.สิงห์บุรี ข้อสั่งการ : มอบหมายให้กรมทางหลวงพิจารณาศึกษาแนวทางการก่อสร้างทางลอดอย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และให้เป็นไปตามหลักวิศวกรรมโดยขอให้ลดระยะเวลาการก่อสร้างให้ได้น้อยกว่า 6 เดือน และสามารถเปิดให้ประชาชนได้ใช้อุโมงค์ทางลอดได้เร็วขึ้น

(5) โครงการถนนปลอดภัยหน้าโรงเรียนบางปลาม้า ข้อสั่งการ : มอบหมายให้กรมทางหลวงดำเนินการดังนี้ 1) ดำเนินโครงการหน้าโรงเรียนปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง โดยมีรูปแบบการเฝ้าระวัง และป้องกันต่างๆ เพื่อลดอุบัติเหตุบริเวณโรงเรียน เช่น การตั้งด่านที่ไม่ได้กำหนดวันเวลาสถานที่ไว้เป็นการล่วงหน้า เพื่อให้ผู้ขับขี่มีวินัยในการปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น 2) ติดตั้งป้ายเตือนตามแนวเส้นทางให้ชัดเจนก่อนถึงโรงเรียนให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นการแจ้งเตือนผู้ขับขี่ล่วงหน้าและเกิดความระมัดระวังเพิ่มขึ้น 3) ศึกษาและวิจัยการลดอุบัติเหตุโดยการใช้หลักวิศวกรรมจราจรมาช่วยแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง 4) ให้ประสานกับกรมการขนส่งทางบกในการร่วมกันจัดอบรมกฎระเบียบและสร้างวินัยจราจรที่ดีให้กับเด็กนักเรียน เพื่อเป็นการให้ความรู้และปลูกฝังจิตสำนึกของการเป็นผู้ใช้รถใช้ถนนที่ดีในอนาคต

(6) งานอำนวยความปลอดภัยบริเวณหน้าโรงเรียนวัดสระเนินพระรามในสายทาง ชน. 1002 แยกทางหลวงหมายเลข 1 – แยกทางหลวงหมายเลข 3212 อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท กม.ที่ 5+900 ข้อสั่งการ : มอบหมายให้กรมทางหลวงชนบทดำเนินการดังนี้ 1) ติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างบริเวณทางโค้ง เพื่อใช้ผู้ขับขี่สามารถมองเห็นเส้นทางได้อย่างชัดเจนในเวลากลางคืน และสามารถขับขี่ได้อย่างปลอดภัย2) ติดตั้งป้าย Your Speed Sign ป้ายลดความเร็วเขตโรงเรียน และให้ตีเส้นจราจรบนผิวทางเพิ่มเติมบริเวณก่อนถึงทางโค้ง เพื่อให้ผู้ใช้ทางได้ทราบล่วงหน้าและเกิดความระมัดระวัง ซึ่งจะทำให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ใช้รถใช้ถนนและนักเรียนที่ข้ามถนนบริเวณหน้าโรงเรียน

(7) โครงการดำเนินแนวทางการติดตั้งป้ายจราจรและเครื่องหมายจราจรบนผิวทาง ข้อสั่งการ : มอบหมายให้กรมทางหลวงพิจารณาดำเนินการ ดังนี้ 1) ให้ลงพื้นที่สำรวจและจัดเก็บข้อมูลปริมาณจราจรบริเวณหน้าโรงเรียนอ่างทองปัทมโรจน์วิทยาคม 2) พิจารณาออกแบบปรับปรุงพื้นที่บริเวณหน้าโรงเรียนโดยใช้พื้นที่เขตทางให้เต็มพื้นที่ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาจราจรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ การออกแบบพื้นที่จุดจอดรถชั่วคราวทั้งด้านหน้าโรงเรียนและฝั่งตรงข้าม การออกแบบที่ตั้งและปรับปรุงศาลาพักคอยรถทั้งสองฝั่งถนนให้เหมาะสม การออกแบบสะพานลอยให้มีความยาวมากขึ้นเพื่อให้เด็กนักเรียนและประชาชนสามารถใช้งานได้อย่างสะดวกพร้อมทั้งการติดตั้งหลังคาเพิ่มเติม และการออกแบบทางระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมขัง 3) พิจารณาออกแบบติดตั้งป้ายจราจร และแถบสีจราจรบนถนน เพื่อให้ผู้ขับขี่ทราบว่ากำลังเข้าเขตพื้นที่โรงเรียนและต้องชะลอความเร็วของรถยนต์

(8) ตรวจเยี่ยมสำนักงานขนส่งจังหวัดสุพรรณบุรี ข้อสั่งการ : มอบหมายให้กรมการขนส่งทางบกพิจารณาดำเนินการ ดังนี้ 1) สำนักงานขนส่งที่ได้รับรางวัลศูนย์ราชการสะดวก (GECC) ให้พิจารณาปรับปรุงงานบริการประชาชนที่มีมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง 2) สำนักงานขนส่งที่ยังไม่ได้รับรางวัลศูนย์ราชการสะดวก (GECC) ให้เร่งพัฒนาปรับปรุงงานบริการประชาชน ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ของ GECC เพื่อให้ได้รับรางวัลในปีต่อไป 3) จัดทำโครงการวิจัยและพัฒนาการให้บริการประชาชน โดยให้ประสานงานกับวิทยาลัยอาชีวศึกษาหรือสถานศึกษาต่างๆ ในการสนับสนุนให้นักเรียน/นักศึกษาจัดทำกล่องรับฟังความเห็นของประชาชน ที่มีความทันสมัยและง่ายต่อการใช้งาน 4) จัดทำแผนพัฒนาระบบจัดเก็บข้อมูลข้อสอบใบขับขี่ โดยให้พิจารณารวบรวมข้อสอบใบอนุญาตขับขี่ให้อยู่ในฐานข้อมูลกลาง ซึ่งจะทำให้มีพื้นที่ใช้สอยในห้องสอบได้เพิ่มมากขึ้น 5) ขอให้กรมการขนส่งทางบกดำเนินการปรับปรุงข้อสอบใบอนุญาตขับรถให้มีความทันสมัย พร้อมทั้งเผยแพร่กฎระเบียบและกฎหมายการจราจรให้ประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ รวมทั้งจัดทำเป็นเอกสารเผยแพร่กฎระเบียบดังกล่าวทั้งในลักษณะ e-learning และหนังสือคู่มือ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ครบทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ขับขี่รถบรรทุก

(9) การประชุมเตรียมความพร้อมโครงข่ายคมนาคมในพื้นที่ภาคกลาง ข้อสั่งการ : 1) ให้กรมทางหลวงสำรวจจุดเสี่ยงบนทางหลวงทั่วประเทศ และวิเคราะห์สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ และจัดลำดับความสำคัญโครงการ 2) ให้กรมทางหลวงชี้แจงทำความเข้าใจกับสำนักงบประมาณให้เห็นถึงความสำคัญของแผนความปลอดภัยทางถนน และการนำระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการเพิ่มความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน 3) ให้กรมทางหลวงสำรวจถนนหน้าโรงเรียนทั่วประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และให้เสนอขอรับจัดสรรงบประมาณเพื่อปรับปรุงด้านความปลอดภัยทางถนนของโรงเรียนทุกแห่งในปีงบประมาณ 2562 เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินการของกรมทางหลวงชนบท 4) ให้กรมการขนส่งทางบกกำกับดูแลการให้บริการรถตู้สาธารณะที่วิ่งให้บริการระหว่างจังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดชัยนาท ให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด 5) ให้กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทพิจารณาการเชื่อมต่อเส้นทางกับสถานีรถไฟทางคู่ สถานีรถไฟความเร็วสูง และท่าเรือแม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อพัฒนาให้เป็นการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multi Modal)

(10) จุดเสี่ยงอันตรายบนทางหลวงหมายเลข 3263 กม.ที่ 10+716 ข้อสั่งการ : มอบหมายให้กรมทางหลวงดำเนินการ ดังนี้ 1) สำรวจข้อมูลจำนวนประชาชนที่ต้องการข้ามถนนบริเวณแยกวัดบางยี่โท เพื่อก่อสร้างสะพานลอยคนข้ามและติดตั้งรั้วบริเวณเกาะกลางถนนจะช่วยลดอุบัติเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2) พิจารณาออกแบบติดตั้งป้ายจราจรต่างๆ ก่อนถึงจุดกลับรถให้เป็นไปตามมาตรฐานวิศวกรรมจราจร

(11) โครงการปรับปรุงผิวทางแอสฟัสต์ติกคอนกรีต เป็นผิวทางคอนกรีต ริมแม่น้ำป่าสัก ข้อสั่งการ : 1) มอบหมายให้กรมทางหลวงดำเนินการศึกษาออกแบบการขยายถนนทางหลวงหมายเลข 3267 ให้เป็น 4 ช่องจราจร เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณจราจรที่เพิ่มมากขึ้นและเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างจังหวัดลพบุรีและพระนครศรีอยุธยา 2) มอบหมายให้กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ดำเนินการศึกษาโครงข่ายคมนาคมขนส่งทางถนนที่สนับสนุนการขนส่งสินค้าทางลำน้ำของแม่น้ำป่าสัก แก้ไขปัญหาจราจรติดขัด และลดอุบัติเหตุของพื้นที่บริเวณดังกล่าว โดยพิจารณาออกแบบเป็นถนนขนาด 2 ช่องจราจร พร้อมทั้งมีไหล่ทางที่เพียงพอต่อการใช้งาน

2.7 ประเด็นอื่น (1) กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ข้อสั่งการ : 1) เห็นชอบให้กองทุนหมู่บ้าน บ้านย่านยาว หมู่ 3 ตำบลย่านยาว อำเภอสามชุก เป็นต้นแบบของการน้อมนำศาสตร์พระราชาและปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นต้นแบบการพัฒนาที่ยั่งยืน 2) หากกองทุนหมู่บ้านมีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน ขอให้เสนอขอรับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ

(2) การจัดการศึกษานอกโรงเรียนตามแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ข้อสั่งการ : มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบฯ (กศน.) ดำเนินการ 1) ประสานงานและบูรณาการร่วมกับ สอศ.ในการสำรวจและตรวจสอบความต้องการในสาขาวิชาชีพ เพื่อวางแผนการผลิตกำลังคนร่วมกันให้สอดคล้องกับการพัฒนาพื้นที่ รวมถึงพิจารณาจุดแข็งและโอกาสของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพด้านบริการเป็นอาชีพเสริม 2) กศน.ตำบล พัฒนาศักยภาพในการเป็นศูนย์การเรียนรู้ทั้ง 4 ศูนย์ เพื่อบริการชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งศูนย์ดิจิตอลชุมชน ซึ่งมีอยู่ในทุกตำบล โดยเน้นในเรื่อง E-Commerce เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างสมบูรณ์ ตามนโยบายของรัฐบาลและสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ 3) รวบรวมประเด็นปัญหา ข้อขัดข้อง ข้อกฎหมาย ระเบียบต่างๆ ที่ได้จากการตรวจเยี่ยมพื้นที่ในครั้งนี้ เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหา ในเชิงนโยบายด้านอัตรากำลังครู และงบประมาณในการจัดการเรียนรู้ให้แต่ละชุมชน รวมถึงปัญหาด้านอาคารสถานที่ระหว่างหน่วยงานภายใน ศธ.

(3) การดำเนินงานศูนย์ถ่ายทอดการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (ซองเดอร์ ไทยออร์แกนิคฟู้ด) ข้อสั่งการ : มอบหมายสำนักงานพาณิชย์จังหวัด กรมการค้าภายใน กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ผลักดันการผลิต การแปรรูป และการค้าสินค้าอินทรีย์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดทุกระดับ โดยเริ่มจากตลาดภายในประเทศและขยายไปสู่ตลาดต่างประเทศ รวมทั้งเชื่อมโยงตลาดชุมชนกับการท่องเที่ยว เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ และกระจายรายได้สู่ชุมชนมากขึ้น

(4) โครงการยุติธรรมสู่หมู่บ้าน นำบริการรัฐสู่ประชาชน ข้อสั่งการ : มอบหมายให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายสำหรับประชาชนที่ขอรับคำปรึกษาจากสำนักงานยุติธรรมจังหวัด

(5) วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงอาหารสัตว์น้ำมีชีวิตและศูนย์การเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ข้อสั่งการ : 1) ขอให้สถานศึกษาประสานความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการเรียนการสอน การแนะแนว เพื่อให้เด็กเข้ามาเรียนสายอาชีวะ เพื่อเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีวศึกษาให้มากขึ้น 2) ขอให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเพิ่มการประชาสัมพันธ์ผลงานอาชีวศึกษาผ่านสื่อต่างๆให้มากขึ้น และใช้สื่อประชาสัมพันธ์ของกระทรวงศึกษาธิการช่วยสนับสนุน 3) ให้ผู้บริหารสถานศึกษาจัดการศึกษาที่เน้นคุณธรรมนำความรู้

(6) ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของสถานศึกษา ได้แก่ 1) การดำเนินงานด้านนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์เพื่อสังคมและชุมชนของมหาวิทยาลัยในจังหวัดนครปฐม 2) “การจัดการศึกษาด้านคณิตศาสตร์สู่ความเป็นเลิศ” ของโรงเรียนอนุบาลสุธีธร และมอบนโยบายให้แก่คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดและคณะอนุกรรมการในพื้นที่ภาคกลาง รวมทั้งบุคลากรของกระทรวงศึกษาธิการในพื้นที่จังหวัดนครปฐม 3) วิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยาขอรับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินการโครงการด้านการอาชีวศึกษาตามนโยบายประเทศไทย 4.0 การผลิตและพัฒนากำลังคนรองรับ EEC