สศก. ของบกองทุน FTA 300 ล. อุ้มผู้เลี้ยงโคสู้ศึก TAFTA

แฟ้มภาพ

เสริมแกร่งเกษตรกรผู้เลี้ยงโค รับมือผลกระทบเปิดเสรีทางการค้าไทย-ออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ หลังสิ้นสุดมาตรการ SSG ภายใต้ความตกลง TAFTA 1 ม.ค. 2564 สศก. ขอเจียดงบประมาณ”63 หนุนกองทุน FTA 300 ล้านบาท ลุ้นก้อนแรก 161 ล้านบาท

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สศก.เดินหน้าขับเคลื่อนกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ (กองทุน FTA) โดยปีนี้ 2563 ได้เสนอของบฯ 300 ล้านบาท มากกว่าปีที่ผ่านมาที่ขอ 250 ล้านบาท เพื่อให้เกษตรกรนำไปพัฒนาอาชีพอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้ยังคงพิจารณาคัดเลือกโครงการที่มีศักยภาพสามารถใช้ทุนคืนงบประมาณแผ่นดินตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ให้มากขึ้น

ระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

ทั้งนี้ โครงการที่ได้รับการอนุมัติผ่านงบฯปี 2563 เบื้องต้นมี 2 โครงการ แบ่งเป็น โครงการสร้างความมั่นคงด้านอาหารโคนมรองรับการเปิดเสรีทางการค้า (FTA) โครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตและการตลาดโคเนื้อรองรับ FTA

ขณะที่ปีที่ผ่านมามุ่งเน้นสนับสนุนโครงการเกี่ยวกับผลกระทบโคเนื้อ โคขุน 2 โครงการเช่นกัน คือ โครงการศึกษาศักยภาพการขุน คุณภาพซาก และผลตอบแทนทางเศรษฐกิจของโคเนื้อ 5 สายพันธุ์ ในระบบการขุนเชิงการค้า 2.โครงการจัดตั้งฟาร์มโคนมประสิทธิภาพสูง

ทางด้านนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผยว่า ล่าสุดคณะกรรมการบริหารกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ หรือกองทุน FTA คณะกรรมการบริหารกองทุน FTA ได้อนุมัติงบประมาณ จำนวน 161.79 ล้านบาท ให้กรมปศุสัตว์เป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินงานโครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตและการตลาดโคเนื้อรองรับ FTA เพื่อยกระดับมาตรฐานและประสิทธิภาพการผลิตโคเนื้อ ตั้งแต่การผลิตโคต้นน้ำจนถึงการตลาดเนื้อคุณภาพสำหรับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ

โดยการอนุมัติเงินกองทุนครั้งนี้ สศก.เล็งเห็นถึงความสำคัญของเตรียมการรองรับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าไทย-ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งจะสิ้นสุดมาตรการ SSG ภายใต้ความตกลง TAFTA ในวันที่ 1 มกราคม 2564 และคาดว่าจะมีการนำเข้าโคมีชีวิต เนื้อโคแช่แข็ง และเครื่องในโคแช่แข็งจากออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์มากขึ้น เป็นผลมาจากที่ราคาถูกกว่าเนื้อโคในประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงกับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อไทยที่มีต้นทุนการผลิตที่สูง ประกอบกับราคาจำหน่ายโคเนื้อที่ไม่แน่นอน

อย่างไรก็ตาม การให้การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการดังกล่าว เป็นการช่วยยกระดับโครงสร้างการผลิตโคเนื้อในประเทศไทยทั้งระบบ รวมถึงเป็นการสนับสนุนการบูรณาการให้เกษตรกรและผู้ประกอบการในประเทศสามารถร่วมมือกันในการพัฒนาศักยภาพการผลิตและการแข่งขันกับผู้ผลิตจากต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมโคเนื้อไทย


ทั้งนี้ เพื่อให้สอดรับตามกรอบแนวทางยุทธศาสตร์ 3 ด้าน ได้แก่ 1) การรักษาตลาดการบริโภคเนื้อโคไทย 2) กระตุ้นการเพิ่มประชากรโคเนื้อและเนื้อโค และ 3) การบริหารจัดการพืชอาหาร และอาหารสัตว์สำหรับโคเนื้อต่อไป