“วราวุธ” วางนโยบาย “ธนาคารน้ำใต้ดิน” แก้แล้ง-ท่วมระยะยาว

การรับมือวิกฤตภัยแล้งถือเป็นภารกิจท้าทายการทำงานทุกรัฐบาล การแก้ไขปัญหามักจะเน้นการจัดหา “แหล่งน้ำสำรอง” เพื่อมาใช้ในการอุปโภคบริโภค ทำการเกษตร และพาณิชยกรรมต่าง ๆ แต่หลายฝ่ายมองว่าไทยควรวางมาตรการระยะยาวเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้แล้ว ล่าสุดในการเสวนา “การเติมน้ำใต้ดินของประเทศไทย” ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ระดมความเห็นจากทั้งกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวม 1,000 คน ถึงการใช้แนวทางนี้รับมือปัญหาแล้ง

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีพื้นที่ป่าลดลง ทำให้น้ำถูกดูดซึมลงในชั้นน้ำบาดาลลดลง เมื่อฝนตกไม่มีต้นไม้คอยดูดซับชะลอการไหลของน้ำน้ำที่ไหลลงสู่แหล่งน้ำผิวดิน 7 แสนล้านลูกบาศก์คิวแต่ดึงมาใช้ได้เพียง 10% หรือประมาณ 72,000 ล้านลูกบาศก์คิวไม่มีการเติมน้ำลงไปในชั้นน้ำบาดาล เมื่อฝนตกลดลงหรือฝนทิ้งช่วงทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนลดลง สวนทางกับความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดปัญหาแล้งรุนแรง

กระทรวงมองว่า แนวทางการเติมน้ำใต้ดิน โดยการใช้ระบบธนาคารบนดินจะมีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาน้ำแล้ง และน้ำท่วมซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องทุกปีของประเทศไทย และได้กำชับหน่วยทุกหน่วยในกระทรวงให้ร่วมแก้ไขปัญหาน้ำแล้งที่เป็นปัญหาเร่งด่วนขณะนี้ไปด้วยกัน และต้องมองก้าวไปอีกสเต็ปหนึ่งถึงปัญหาน้ำท่วม น้ำหลากที่จะเกิดขึ้นหลังจากแล้งทุกปีด้วย

สำหรับแนวคิดธนาคารน้ำใต้ดินนี้ กรมกำลังจัดทำแผนที่กำหนดพื้นที่เหมาะสมในการเติมน้ำใต้ดิน เพราะต้องคำนึงถึงคุณภาพความสะอาดของน้ำที่จะนำมาเติม และต้องศึกษาในรายละเอียดด้วยว่าจะขุดตรงใด พื้นที่ดินที่ใช้ทำธนาคารเป็นดินประเภทไหน จะได้รับผลกระทบในกรณีจากการดึงน้ำขึ้นมาใช้หรือไม่ ส่วนวิธีการเติมน้ำใต้ดินทำได้หลายวิธี แต่ประชาชนไม่ควรนำยางรถยนต์เก่าหรือขวดน้ำมาวางไว้ในพื้นที่บ่อขุดสำหรับเก็บน้ำใต้ดินอย่างในอดีต เพราะอาจจะส่งผลต่อคุณภาพน้ำได้

นายวราวุธกล่าวถึงบทบาทของกระทรวงในการแก้ไขปัญหาแล้งปีนี้ว่า หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563 อนุมัติงบฯกลางเพื่อช่วยบรรเทาภัยแล้ง 3,079 ล้านบาทกับหลายส่วนงาน ในส่วนของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลมีแผนการขุดเจาะบ่อบาดาล 300 บ่อ ซึ่งเบื้องต้นจะใช้งบประมาณบ่อละ 2 ล้านบาท แต่อาจจะมากน้อยกว่านี้ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์และพื้นที่

นายบรรจง พรมจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวในงานสัมมนาว่า กรมตั้งคณะอนุกรรมการเติมน้ำใต้ดินขึ้น โดยมีสำนักเป็นฝ่ายเลขาฯ เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติ (ไกด์ไลน์) ในการเติมน้ำใต้ดินให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือต้องมีการจัดทำแผนที่ กำหนดพื้นที่ที่เหมาะสม-ไม่เหมาะสมในการเติมน้ำ อาศัยข้อมูลจากการศึกษาด้านต่าง ๆ เช่น ประเภทของดินและหิน ความสูงต่ำของพื้นที่ เจ้าของพื้นที่เป็นหน่วยงานใด เกี่ยวข้องกับกฎหมายใด เพราะการเติมน้ำใต้ดินไม่ใช่วิธีการที่สามารถทำได้ทุกพื้นที่ บริเวณที่เป็นพื้นที่ดินเค็มเติมน้ำใต้ดินไม่ได้ เพราะอาจจะเป็นการกระจายความเค็ม หรือป่าไม้จะไม่สามารถเติมได้หรือพื้นที่ดินเหนียวน้ำไม่ทะลุ เป็นต้น จากแผนที่เบื้องต้นพบว่า ภาคอีสาน-เหนือจะไม่เหมาะสำหรับเติมน้ำเท่ากับภาคกลาง

“หลังวิเคราะห์ความเหมาะสมก็จะพิจารณาความจำเป็นว่าต้องเติมหรือไม่ นำไปใช้ในกิจกรรมอะไร ความพร้อม ความเป็นไปได้ และความคุ้มค่าในการลงทุนในแต่ละรูปแบบการก่อสร้าง เช่น การเติมแบบสระ แบบหลังคา การสูบอัดบ่อบาดาล บ่อคอนกรีต หรือหากเป็นพื้นที่ใดไม่เหมาะสมอาจเปลี่ยนไปปลูกป่าเป็นการเติมน้ำใต้ดินทางอ้อมได้”

อนึ่ง ที่ผ่านมาไทยนำระบบเติมน้ำใต้ดินมาใช้ตั้งแต่ปี 2515 ถึงปัจจุบัน และประสบความสำเร็จหลายจุด แต่โมเดลที่ อบต.วังหามแห อ.ขาณุวรลักษบุรี นำมาใช้ถือว่าโดดเด่นมาก เพราะสามารถผลักดันให้ชาวบ้าน 2,800 ครัวเรือน จัดทำ “บ่อปิด”ใต้ดิน สำหรับเก็บน้ำไว้ได้ 3,000-4,000 บ่อเกินจากเป้าหมายที่วางไว้ 1 บ้าน 1 บ่อและประยุกต์นำศิลาแลงและดินลูกรังมาใช้แทนยางรถยนต์และขวดน้ำพลาสติก


ส่วนแผนการเติมน้ำใต้ดินในปี 2563 กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้รับงบประมาณสนับสนุนในการเติมน้ำบนดินแบบบ่อวง500 จุด ในพื้นที่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลกและเติมน้ำใต้ดินแบบผ่านหลังคาในพื้นที่แอ่งจันทบุรี-ตราด อีก 3-5 จุดซึ่งน่าติดตามผลการเติมน้ำต่อไปว่าจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำใต้ดิน และช่วยรักษาความชุ่มชื้นในดินระยะยาวได้มากน้อยเพียงใด