บิ๊กธุรกิจงัดแผนรับวิกฤต เศรษฐกิจซึมตุนเงินสดชะลอลงทุน

นักธุรกิจไทยเร่งปรับตัวครั้งใหญ่ รับมือ “ปัจจัยลบ” โหมกระหน่ำ ลดลงทุน-ลดค่าใช้จ่าย “สมคิด” เร่งฟื้นกำลังซื้อ “SCG-ซีพีเอฟ” ตั้งการ์ดสูง “อนันดา” หยุดร้อนแรง ชี้เศรษฐกิจซึมลึกเหมือนซอมบี้ “อารียา” ตั้งแผนสำรอง ลูกค้าจีนติดหล่มเบรกโอนคอนโดฯอุตสาหกรรมยานยนต์หั่นงบฯตลาด โตโยต้าทำใจปีนี้ตลาดรวมรถขายไม่ถึงล้านคัน ค้าปลีกดิ้นแก้สต๊อกบวม โรงงานลดการผลิต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีนี้ส่งสัญญาณชะลอตัวมากขึ้น หลังเผชิญสารพัดปัจจัยลบ ทั้งภัยแล้ง ความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณปี’63 และไวรัส COVID-19 ขณะนี้เศรษฐกิจไทยได้สะสมความเปราะบางจากผลกระทบของสงครามการค้าและบาทแข็งในปีที่ผ่านมา ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้มีแนวโน้มทรุดต่ำลงกว่าปีที่ผ่านมาอย่างชัดเจน   

ล่าสุด นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลกระทบมากต่อเศรษฐกิจไทยปีนี้ จากที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯคาดการณ์ว่า รายได้ภาคท่องเที่ยวหายไป 2.5 แสนล้านบาท เป็นรายได้ที่หายไปอย่างมีนัยสำคัญ คิดเป็น 1.5% ของจีดีพี ดังนั้นที่ ธปท.คาดการณ์จีดีพีปี 2563 จะโตที่ 2.8% หากรายได้ท่องเที่ยวหายไป 1.5% จีดีพี ก็อาจทำให้จีดีพีโตเพียง 1.3% เท่านั้น ทำให้ผู้ประกอบการทุกธุรกิจต้องเร่งปรับตัว

สมคิดเติมสภาพคล่อง

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ภายหลังประชุมมาตรการช่วยเหลือภาคเอกชน ร่วมกับกระทรวงการคลัง ธนาคารและสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐว่า “รัฐบาลจะระดมมาตรการทุกหน่วยงาน เพื่อช่วยนักธุรกิจในช่วงเปลี่ยนผ่านที่ยากลำบาก จะพยายามทำให้ธุรกิจมีสภาพคล่องให้มากที่สุด ทั้งดูแลกิจการและพนักงานให้มีกำลังซื้อ” 

โดยนายสมคิดจะเป็นหัวหน้าคณะ นำทีมเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)  และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เดินทางไปญี่ปุ่น วันที่ 16-19 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อสร้างความมั่นใจในนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก-ตะวันตก (EWEC) พร้อมพบกับเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (METI) และรัฐมนตรีสำนักนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น   

“ความตั้งใจคือต้องการให้ ธ.ก.ส.ช่วยเหลือภาคเอกชน ไปผูกกับ ธ.ก.ส.ของญี่ปุ่น ผ่านประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) เพื่อหาโมเดลใหม่ ๆ เป็นต้นแบบเพิ่ม และจะพบปะกับนักธุรกิจญี่ปุ่น 7-8 บริษัท ขณะนี้นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นกำลังระดมเงินทุนครั้งใหญ่ของแต่ละสถาบันหลายพันล้านสหรัฐ เพื่อลงทุนในอาเซียน” นายสมคิดกล่าว 

อนันดาฯผ่อนคันแร่ง 

นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เศรษฐกิจยุค 2020 ทุกธุรกิจต้องปรับตัวและปรับแผนการลงทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ อนันดาฯก็เช่นกัน ต้องผ่อนคันเร่ง ลดความร้อนแรง ต้องคอนเซอร์เวทีฟให้มาก ๆ พร้อมวางแผนสำรอง A-B-C-D ย่นวางแผนธุรกิจจาก 1 ปีเป็น 3 เดือนแทน เพราะต้องปรับเปลี่ยนเร็ว

“ภาพรวมปีนี้ไม่ช็อกเท่าปี 2540 แต่เศรษฐกิจเหมือนซอมบี้ ครึ่งผีครึ่งคนไปเรื่อย ๆ จะตายก็ไม่ได้ จะเกิดก็ไม่เกิด เป็นนักธุรกิจจะหยุดลงทุนคงไม่ได้ ต้องเดินหน้า แต่จะเดินยังไงให้รอด ซึ่งวันที่ 19 กุมภาพันธ์นี้ อนันดาฯจะเปิดแถลงแผนธุรกิจ ใจจริงไม่อยากจะเปิดตัวอะไรเลย” 

ปัญหาใหญ่มาจากผู้บริโภคไม่มีกำลังซื้อ เหลือตัว G-government งบประมาณผ่าน ที่กังวลคือ หนี้เสีย
หรือ NPL เริ่มมีมากขึ้น ขณะที่ตัวเลขจีดีพีอาจลดต่ำลงไม่ถึง 2.2% ตามที่คาดการณ์ไว้ล่าสุด 

“ภาวะแบบนี้ขอเก็บเงินสดเป็นเสบียงก่อน กระแสเงินสดเมื่อสิ้นปี 2562 เรามีอยู่ 1.4 หมื่นล้าน ปีนี้ต้องลดการลงทุนลง ซึ่งไม่ใช่เป็นมู้ดปกติ ส่วนภายในองค์กรก็ต้องขันนอตกันใหม่”

อารียาฯทำแผนสำรอง

นายวิวัฒน์ เลาหพูนรังษี ประธานกรรมการอาวุโส บมจ.อารียา พรอพเพอร์ตี้ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ลูกค้าจีนที่จองเข้ามาก็จ่ายเงินมัดจำ 30% ไว้หมดแล้ว แต่จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและผลกระทบจากไวรัส ทำให้ต้องปรับแผน ระมัดระวังและลดการลงทุนโดยเฉพาะคอนโดฯ ซึ่งแบงก์เข้มงวดการปล่อยกู้พรีไฟแนนซ์ ทั้งแนะนำว่าอย่าเพิ่งลงทุน 

บริษัทอสังหาฯประสบปัญหาหนักมาตั้งแต่ปี 2562 สถานการณ์ปีนี้ทำให้ซึมต่อเนื่อง บริษัทต้องทำแผนสำรอง 2-3 แผน เพราะความไม่แน่นอนสูง ต้องเพิ่มประสิทธิภาพและตรวจสุขภาพองค์กร ทำตัวให้เบา เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน อุดรูรั่วต่าง ๆ   

การลงทุนใหม่จะเน้นแนวราบ เพื่อให้มีสินค้าขายต่อเนื่อง คาดอีก 3 เดือนจะเห็นสถานการณ์ชัดเจนขึ้นว่าจะเลวร้ายแค่ไหน สำหรับตัวเองยังเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

จีนติดหล่มเบรกโอนคอนโดฯ

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธอส. หรือ REIC กล่าวเสริมว่า ยอดโอนของต่างชาติเฉลี่ยปีละ 13,000 หน่วย มูลค่าเฉลี่ย 55,000 ล้านบาท โดยลูกค้าจีนมีสัดส่วนโอนอันดับ 1 จำนวน 7,500 หน่วย สัดส่วน 57.7% ในแง่มูลค่าโอน 29,000 ล้านบาท สัดส่วน 52.8% ของตลาดต่างชาติในภาพรวม

แนวโน้มการรับโอนห้องชุดของลูกค้าจีนมีปัจจัยลบตั้งแต่ปีที่แล้ว ล่าสุดวิกฤตโคบิด-19 ทำให้ธุรกรรมการโอนชะงัก ประเมินว่าไตรมาส 1/63 จะลดลงครึ่งหนึ่ง แต่ไม่ได้ทิ้งโอน คาดจะโอนได้ไตรมาส 3-4

ค่ายรถหั่นงบฯตลาด

นายสุรศักดิ์ สุทองวัน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจัยลบที่น่าห่วงสุด คือ กำลังซื้อ โตโยต้าประเมินว่าตลาดรถยนต์จะหดตัว 7% จาก 1,007,500 คัน เหลือแค่ 9.4 แสนคัน 

ทุกยี่ห้อต้องหาวิธีรับมือ สิ่งแรกที่ทำได้ คือ ลดค่าใช้จ่าย และงบฯด้านการตลาดที่ไม่จำเป็น หันมาทำการตลาดแบบเจาะลึก โดยนำหลักไคเซนมาปรับใช้ ส่วนงบฯมอเตอร์สปอร์ต หรืองบฯซีเอสอาร์ ยังคงเหมือนเดิม โดยเฉพาะกิจกรรมเพื่อสังคม 

นายชิเกโตะ คิมูระ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด เปิดเผยว่า ปีนี้มีปัจจัยลบค่อนข้างมากส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ค่าเงินบาท ทำให้แข่งขันลำบาก โดยเฉพาะไทยเป็นฐานผลิตส่งออก ประเมินตลาดรถจักรยานยนต์ปีนี้ไว้แค่ 1.7 ล้านคัน หดตัวจากปีที่แล้ว 3%  

“ที่เร่งคือคุมค่าใช้จ่าย ปรับปรุงบริการ จัดโปรโมชั่นให้ลูกค้าซื้อได้ง่ายขึ้น” นายคิมูระกล่าว

SCG-ซีพีเอฟเร่งรับมือ

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทุกคนโดนผลกระทบจากไวรัส ส่วนเอสซีจีได้รับผลกระทบทางตรงไม่มาก ต่างจากซัพพลายเชน มั่นใจว่าเอสซีจีเอาตัวรอดได้จากสถานการณ์นี้ ในทุก ๆ วิกฤตย่อมมีโอกาส อาทิ การคิดค้นโปรดักต์ใหม่ เซอร์วิสใหม่ ๆ ที่เหนือกว่าคู่แข่ง และเป็นที่ต้องการของตลาด   

โชคดีที่งบประมาณซึ่งค้างอยู่ในสภาได้รับการแก้ไขเร็ว แต่ในทางปฏิบัติถือว่าโอกาสทางธุรกิจหายไปแล้ว 3 เดือน ไม่มีโครงการใหม่ ๆ เกิดขึ้น จากนี้จะเป็นฤดูฝน ต้องรอถึงปลายปีกว่าวัสดุจะใช้ในปริมาณมากและหมุนมาอีกรอบ

“ตอนที่งบประมาณยังติดปัญหา ทุกคนใจตุ๊ม ๆ ต้อม ๆ จะมีงบฯหรือเปล่า เพราะถ้าไม่มีโครงการใหม่ ผู้รับเหมาก็อยู่ไม่ได้”   

 อีกปัญหาที่ไม่อยากให้เกิดคือภัยแล้ง เป็นเรื่องใหญ่มาก ทั้งน้ำเพื่อการเกษตร และน้ำสำหรับภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาคตะวันออก ซึ่งเป็นศูนย์รวมของอุตสาหกรรมต่าง ๆ จำนวนมาก กำลังรอการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำที่จันทบุรี เติมให้กับอ่างเก็บน้ำประแสร์ ระยอง ต้องดูว่าภายใน 2 เดือนนี้จะช่วยแก้ปัญหาได้หรือไม่ และถ้าฝนตกลงมาบ้างก็คงช่วยได้ 

“ผมคิดว่าถึงเวลาควรต้องปรับปรุงอินฟราสตรักเจอร์เรื่องน้ำ ทั้งน้ำเกษตรและน้ำอุตสาหกรรม น้ำเป็นเรื่องที่บริหารจัดการได้ ถ้าไม่ทำต่อไปอาจอยู่ไม่ได้” นายรุ่งโรจน์กล่าว

ด้านผู้ผลิตอาหารยักษ์ใหญ่ นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือซีพีเอฟ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลกระทบจากไวรัสทำให้ปีนี้ภาคธุรกิจต้องปรับแผนรับมือแน่นอนว่าธุรกิจที่พึ่งพาจีนมาก ๆ ย่อมได้รับผลกระทบตามไปด้วย

“เราโชคดีที่อยู่ในอินดัสตรีอาหาร ไม่โดนผลกระทบมากนัก ทุกคนยังต้องกิน ซีพีเอฟมีช่องทางกระจายสินค้าหลากหลาย ทั้งโมเดิร์นเทรด ตลาดสด โรงแรม ร้านอาหาร ฯลฯ ทำให้ไม่มีผลกระทบ”  

แต่ผลกระทบเชิงจิตวิทยาต้องติดตามกัน จะส่งผลให้คนประหยัดการใช้จ่ายหรือไม่ ถึงแม้ว่าปัญหาจะยัง
ไม่เกิดขึ้นก็ตามในขณะนี้ 

ค้าปลีกแก้สต๊อกบวม

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการค้าปลีกเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาวะชะลอตัวเป็นมาตั้งแต่หลังเทศกาลปีใหม่ ตลาดเงียบและซึม ๆ ผู้บริโภคชะลอจับจ่าย ประกอบกับการเร่งอัดสินค้าเข้าตลาดของซัพพลายเออร์ ทำให้มีสต๊อกสินค้าจำนวนมาก 

“ค้าปลีกค้าส่งเริ่มมีปัญหาเรื่องสต๊อกบวม ขายสินค้าไม่ออก ทางแก้คือร่วมกับซัพพลายเออร์จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในลักษณะเป็นพื้นที่ ๆ และใช้กลยุทธ์ลดราคา แถมของพรีเมี่ยม ชิงโชค แจกทอง กระตุ้นยอด” 

แม้โมเดิร์นเทรดรายใหญ่ก็มีปัญหา จึงต้องทยอยจัดโปรโมชั่นราคากันค่อนข้างถี่และต่อเนื่อง

นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งมีแนวโน้มชะลอตัว เพราะผู้บริโภคระมัดระวังในการจับจ่าย ทั้งได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรน่า ทำให้ร้านค้าทั้งรายเล็กรายใหญ่เร่งจัดโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม เพื่อระบายสินค้า ซึ่งก็ไม่ง่าย เพราะผู้บริโภคไม่มีกำลังซื้อ จะซื้อเฉพาะสินค้าจำเป็น ที่ยังมียอดขายอยู่บ้าง คือ สินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน

แหล่งข่าวจากบริษัทผุู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นอกจากกำลังซื้อในกลุ่มลูกค้าตลาดแมสที่ไม่ดีนัก และมีผลต่อการตัดสินใจซื้อแล้ว ล่าสุดเครื่องใช้ไฟฟ้ากำลังเจอปัญหาเรื่องชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าบางรายการที่มีแหล่งผลิตในจีน ที่ไม่สามารถส่งสินค้าให้ได้ เนื่องจากโรงงานปิดเพราะไวรัสระบาด หลายค่ายหันไปใช้ชิ้นส่วนจากโรงงานที่ญี่ปุ่นแทน แต่ราคาสูงกว่า ขณะเดียวกันก็เจรจากับลูกค้ากลุ่มบีทูบี หรือกลุ่มลูกค้าองค์กร เพื่อขอชะลอหรือเลื่อนส่งมอบ

“ตลาดโดยรวมทรงตัวเป็นปีที่ 2 จากปกติเติบโตปีละ 10% ขณะนี้หลายค่ายหันมาเพิ่มน้ำหนักกับการทำตลาดในเซ็กเมนต์บีทูบีมากขึ้น”

เอเซอร์ปรับแผน

นายอลัน เจียง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเซอร์ ประเทศไทย ผู้ผลิตและจำหน่ายฮาร์ดแวร์และโซลูชั่นด้านไอที กล่าวว่า อุตสาหกรรมไอทีโดยรวมได้รับกระทบในแง่การผลิต และความต้องการที่อาจลดลง โดยเฉพาะในไตรมาส 1 เนื่องจากชิ้นส่วนอุปกรณ์ไอทีและคอมพิวเตอร์จะจ้างโรงงานในจีนผลิต แม้จะไม่ได้ปิด 100% ก็ตาม เอเซอร์ใช้วิธีปรับแผนบริหาร โดยสั่งชิ้นส่วนจากประเทศอื่นทดแทน เช่น จากฟิลิปปินส์, อินเดีย และไต้หวัน 

“ประเมินว่าจะมีผลกระทบระยะสั้นช่วงไตรมาสแรก เชื่อว่าตลาดจะฟื้นกลับคืนได้เร็ว”

นายนิธิพัทธ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัทเดียวกันกล่าวว่า มีการปรับแผนการตลาดบ้าง เช่น ถ้ามีคิวเปิดตัวสินค้าเดือน มี.ค.ก็อาจเลื่อนไปก่อน 

“ส่วนเรื่องกำลังซื้ออาจเร็วเกินไปที่จะประเมิน ต้องรองานคอมมาร์ต วันที่ 5-8 มีนาคม 2563” 

ลดแรงงาน-ลดผลิต 

นางสาวกัญญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานกรรมการ บมจ.สยามอุตสาหกรรมอาหาร ผู้ผลิตผลไม้กระป๋องส่งออก กล่าวว่า วิกฤตปีนี้น่าจะหนักกว่าน้ำท่วมปี’54 ประเมินว่าอาจต้องรออีก 2-3 เดือน จีนจึงจะสามารถกลับมาทำงานปกติ ถ้าหากจีนเปิดทำงานช้าก็จะกระทบซัพพลายเชนและผู้ผลิตไทยที่ต้องอาศัยวัตถุดิบนำเข้าจากจีน

“การปรับตัวทำได้ยากมาก ตอนนี้ก็ปรับลดแรงงานรายวันลงกันหลายอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว ของบริษัทก็ปรับกำลังผลิตลง 30% และลดเวลาทำงาน ที่เคยทำงานวันเสาร์ก็ไม่ทำแล้ว” 

ขณะที่นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธาน บริษัท มหาบูรพาผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ผู้ผลิตอาหารแปรรูป กล่าวว่า จากภาวะปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นทั้งภายในและต่างประเทศ มีผลกระทบต่อภาพรวมในอุตสาหกรรม การประกอบธุรกิจโดยรวม อย่างไรก็ดี กลุ่มผู้ส่งออกได้มีการปรับตัวการทำธุรกิจ โดยมองหาการทำตลาดและการออกงานแสดงสินค้าในต่างประเทศเพื่อขยายฐานลูกค้าเพิ่มเติม


อย่างไรก็ดี ในอุตสาหกรรมอาหารคาดว่าในระยะ 2-3 สัปดาห์จากนี้ คำสั่งซื้อจะเริ่มเข้ามามากขึ้น เมื่อท่าเรือ
ของจีนเปิดทำการมากขึ้น ความต้องการภายในเริ่มกลับมาฟื้นตัว และจีนต้องเร่งนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น เพราะอาหารยังเป็นสินค้าที่จำเป็นและเป็นที่ต้องการของตลาด