ITRC ปั้น 6 แนวทางพัฒนายาง ลดพท.ปลูก-เพิ่มดีมานด์10%

สภาไตรภาคียางระหว่างประเทศ สรุป 6 แนวทางพัฒนายางพาราทั้งระบบ ให้ทุกประเทศใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้นปีละ 10% พร้อมเสนอตั้ง “ตลาดยางพาราระดับภูมิภาค” RRM เป็นตลาดซื้อขายล่วงหน้า

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประเทศไทย เปิดเผยในฐานะเจ้าภาพการประชุมรัฐมนตรีสภาไตรภาคียางพารา ประจำปี 2560 ภายใต้สภาไตรภาคียางระหว่างประเทศ (ITRC) ร่วมกับนายดาตุ๊ก เสอรี มะ ซีอีว เขี่ยว รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมการเพาะปลูกและสินค้าโภคภัณฑ์ ประเทศมาเลเซีย และ ดร.รัน ดุช แองการ์ตีอาสโต้ ลูกีตา รัฐมนตรีกระทรวงการค้า ประเทศอินโดนีเซีย ว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2559 ถึง 2560 สภาวะเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบต่อตลาดและราคายางทำให้มีความผันผวน ขณะที่ปริมาณผลผลิตลดลงจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ประกอบกับเกษตรกรรายย่อยหันไปประกอบอาชีพเกษตรอื่น ๆ เป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ ITRC และ IRCo ได้มีความพยายามในการแก้ปัญหาดังกล่าว จากการร่วมประชุมสภาไตรภาคียางระหว่างประเทศครั้งนี้ มีข้อสรุปแนวทางการพัฒนายางพาราทั้งระบบ

สำหรับข้อสรุปแนวทางการพัฒนายางพาราทั้งระบบ 6 ประการ คือ 1.ส่งเสริมด้านอุปสงค์ เพิ่มปริมาณการใช้ยางในแต่ละประเทศให้เพิ่มมากขึ้นปีละ 10% กับการพัฒนาและดำเนินงานต่าง ๆ ทั้งการขนส่ง โครงสร้างพื้นฐาน กีฬาสุขภาพ ตลอดจนการแปรรูปเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค โดยจะให้ความสำคัญในการวิจัยและส่งเสริมนวัตกรรมทั้งภาครัฐและเอกชน และมีข้อตกลงร่วมกันในการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญในการใช้ยางธรรมชาติของแต่ละประเทศสำหรับก่อสร้างถนนและการปูผิวถนนใหม่

2.การจัดตั้งตลาดยางพาราระดับภูมิภาค (ITRC Regional Rubber Market : RRM) เป็นลักษณะการซื้อขายล่วงหน้า เพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุนและผู้สนใจได้เข้ามาซื้อขายผลผลิตจากสถาบันเกษตรกรโดยตรงมากยิ่งขึ้น

3.การบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบผ่านโครงการจัดการอุปทาน (Supply Management Scheme : SMS) เป็นการลดปริมาณผลผลิตและพื้นที่ปลูก จะเป็นมาตรการระยะยาวช่วงปี 2560-2568 เพื่อสร้างสมดุลระหว่างความต้องการใช้และปริมาณผลผลิต เป็นมาตรการเข้มข้น จะส่งผลดีให้ราคายางปรับตัวสูงขึ้น และสร้างความมั่นใจในการจัดหายางธรรมชาติให้กับผู้บริโภค

4.มาตรการจำกัดปริมาณการส่งออกยาง (Agreed Export Tonnage Scheme : AETS) หากราคายางปรับตัวลดลงจนน่าเป็นห่วง อาจจำเป็นจะต้องนำมาตรการนี้มาใช้ เพื่อช่วยกระตุ้นราคายางให้ปรับตัวสูงขึ้น

5.ITRC ทั้งสามประเทศต่างมีความเห็นร่วมกันในการรับประเทศเวียดนามเป็นสมาชิกสมทบภายใต้กรอบการทำงานของ ITRC โดยประเทศเวียดนาม ถือว่าเป็นประเทศผู้ผลิตยางรายใหม่ของโลกที่มีผลผลิตค่อนข้างสูง ฉะนั้น การมีส่วนร่วมของเวียดนามจะช่วยเพิ่มบทบาทของ ITRC ในการสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมยาง

6.การหาแนวทางใหม่เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง ในอนาคตจะปรับกลยุทธ์ในการหารือกับภาคอุตสาหกรรม เพื่อหาแนวทางสร้างรายได้อย่างยั่งยืน และเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน