ซื้อขายแฟรนไชส์ไม่แฟร์ ร้องเรียนได้แล้ว! ผิดกม.แข่งขันทางการค้า

สมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์ เลขาธิการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.)

สขค. เปิดศูนย์รับเรื่องร้องเรียนธุรกิจแฟรนไชส์ เพื่อรับปัญหาร้องเรียนพฤติกรรมที่เป็นข้อห้ามเข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายการแข่งขันทางการค้า หลังคลอดไกด์ไลน์ธุรกิจแฟรนไชส์ พร้อมเดินสายให้ข้อมูล 5 จังหวัด

นายสมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์ เลขาธิการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า กำหนดแนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมในธุรกิจแฟรนไชส์ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา เพื่อให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมในธุรกิจนี้ เพราะธุรกิจแฟรนไชส์เป็นธุรกิจที่กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมีผู้ประกอบการรายใหม่ให้ความสนใจเข้าสู่วงจรธุรกิจแฟรนไชส์เป็นจำนวนมาก

ล่าสุดได้จัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนธุรกิจแฟรนไชส์ขึ้น หากผู้ประกอบธุรกิจรายใดถูกเอารัดเอาเปรียบได้รับความไม่เป็นธรรมในการประกอบธุรกิจสามารถร้องเรียนด้วยตนเองได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า อาคารจอดรถ 5 ชั้น (BC) ชั้น 5 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เลขที่ 120 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10200 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 0-2199-5444 หรือค้นหาข้อมูลได้ทางเว็บไซต์ www.otcc.or.th

พร้อมกันนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องนี้ ได้เตรียมจัดงานสัมมนา เรื่อง “กฎหมาย การเเข่งขันทางการค้าและแนวทางการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมในธุรกิจค้าส่งค้าปลีกและธุรกิจแฟรนไชส์” ขึ้น ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนมีนาคม 2563 ใน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก อุดรธานี สงขลา และชลบุรี

สำหรับแนวปฏิบัติเพื่อสร้างมาตรฐานทางการค้าระหว่างผู้ให้สิทธิในการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ ซึ่งเรียกว่า “แฟรนไชส์ซอร์ (Franchisor)” และผู้รับสิทธิในการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ ซึ่งเรียกว่า “แฟรนไชส์ซี (Franchisee)” เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายมีธรรมาภิบาลและมีบรรทัดฐานในการประกอบธุรกิจที่ชัดเจนเป็นสากล และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

โดยให้ออกประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่องแนวทางพิจารณการปฏบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมในธุรกิจแฟรนไชส์มีแนวทางพิจารณา 6 ข้อ ดังต่อไปนี้

1. การกำหนดเงื่อนไขที่จำกัดสิทธิแฟรนไชส์ซี โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เช่น ให้แฟรนไชส์ซีต้องซื้อสินค้าที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับสินค้าแฟรนไชส์ หรือต้องซื้อวัตถุดิบในปริมาณที่สูงกว่าความต้องการใช้จริง

2. การกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมหลังทำสัญญา โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เช่น ให้แฟรนไชส์ซีซื้อสินค้านอกเหนือจากที่กำหนดไว้

3.การให้แฟรนไชส์ซีซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ผลิต ผู้จำหน่าย หรือผู้ให้บริการอื่น โดยไม่มีเหตุผล
อันสมควร

4.การห้ามแฟรนไชส์ซีขายลดราคาสินค้าที่เน่าเสียง่าย โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

5.การกำหนดเงื่อนไขที่แตกต่างระหว่างแฟรนไชส์ซี โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร และนำไปสู่การเลือกปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม

6.การกำหนดเงื่อนไขที่ไม่เหมาะสมอื่นๆ นอกเหนือจากการรักษาคุณภาพและมาตรฐานตามสัญญา

ทั้งนี้ หากผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์รายใดกระทำการฝ่าฝืนแนวปฏิบัติทางการค้าที่กำหนด จะเข้าข่ายกระทำความผิดตามมาตรา 57 ตาม พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ซึ่งมีโทษปรับทางปกครองในอัตราสูงสุดถึงร้อยละ 10 ของรายได้ในปีที่กระทำความผิด ดังนั้นผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์จำเป็นต้องให้ความสนใจศึกษาและทำความเข้าใจแนวปฏิบัติดังกล่าวอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงการกระทำผิดกฎหมาย