รับฟังความเห็น “แผนพลังงานระยะยาว ฉบับใหม่” โรงไฟฟ้าชุมชนทำค่าไฟขึ้น8 สตางค์ ถ่านหินยังอยู่

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวในเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว (TIEB) ฉบับใหม่ พ.ศ. 2561-2580 ว่า การปรับปรุงแก้ไข แผนบูรณาการพลังงานระยะยาว (TIEB) ฉบับใหม่ จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วม ที่มาจากภาครัฐและเอกชนนักวิชาการและภาคประชาชน เพื่อจะปรับปรุงแผนแม่บทพลังงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์พลังงานในปัจจุบัน

จำนวน 4 แผน จาก 5 แผนพลังงาน ได้แก่ 1.แผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (Alternative Energy Development Plan: AEDP2018) 2.แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 1 (Power Development Plan: PDP2018 Rev.1) 3.แผนอนุรักษ์พลังงานของประเทศ (Energy Efficiency Plan: EEP2018) และ 4.แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan2018)

ส่วนแผนน้ำมัน (Oil Plan) อยู่ระหว่างทบทวน หลังประกาศนโยบายให้น้ำมันไบโอดีเซล B10 และแก๊สโซฮอล์ E20 เป็นน้ำมันพื้นฐานของประเทศ

ทั้งนี้ การปรับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก เพื่อให้สอดคล้องกับแผน PDP 2018 ที่ปรับใหม่ จะครอบคลุมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งตั้งเป้าหมายผลิตไฟฟ้า 1,900 เมกะวัตต์ ตลอดแผน โดยลดการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์ประชาชนที่ไม่เป็นไปตามแผน และให้เป็นไปตามทิศทางพลังงานในอนาคต เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนไม่น้อยกว่า 30%

วานนี้ (17 ก.พ. 2563) คณะกรรมการบริหารโรงไฟฟ้าชุมชน ได้ประชุมกำหนดหลักเกณฑ์คัดเลือก โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน 700 เมกกะวัตต์ระยะแรก เพื่อเตรียมจะประกาศในช่วงต้นเดือน มี.ค. และจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าในเดือน เม.ย. ของโครงการเร่งด่วน (Quick Win) จำนวน 100 เมกกะวัตต์ ซึ่งจะต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) ภายในสิ้น 2563 ส่วนอีก 600 เมกกะวัตต์จะประกาศรอบต่อไปและจะ COD ได้ภายในสิ้นปี 2564

อย่างไรก็ตาม สำหรับแผนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ที่อาจส่งผลกระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้า ที่จะเพิ่มขึ้นประมาณ 8 สตางค์ต่อหน่วย จากต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 3.59 บาทต่อหน่วย (ในช่วงระหว่างการศึกษา) หรือจะทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าขยับขึ้นนั้น กระทรวงพลังงานยืนยันว่า สามารถบริหารจัดการได้ เนื่องจากมีนโยบายนำเข้าก๊าซ LNG เข้ามาในช่วงที่ราคาลดลง จะช่วยบริหารจัดการไม่ให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าสูงขึ้นกับประชาชนได้ ขณะเดียวกันกลับทำให้ชุมชนมีรายได้ จากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน”

ในส่วนของแผนโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตามแผนยังคงมีอยู่ในภาคใต้จำนวน 1,000 เมกกะวัตต์ โดยจะใช้เทคโนโลยีที่ช่วยลดปริมาณคาร์บอนไดอ็อกไซด์ ไม่ให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชน รวมถึงยังมีแผนจะสร้าง โรงไฟฟ้าจากก๊าซฯ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อรองรับความมั่นคงด้านพลังงาน

หลังจากเปิดรับฟังความเห็นแล้ว จะมีการนำแผนแม่บทพลังงานฉบับใหม่ จะเสนอที่ประชุม กบง.จากนั้นจะเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้ในเดือนมีนาคมนี้