ภาคประชาสังคมชี้หายนะ CPTPP

เอฟทีเอ ว็อทช์ นำทีมภาคประชาสังคมค้านรองนายกฯสมคิด ดันไทยเข้าร่วม CPTPP หวั่นผลกระทบต่อเกษตรกร พันธุ์พืช การเข้าถึงยา มาตรการคุ้มครองนักลงทุน

ตามที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) เมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา เห็นชอบให้เร่งนำผลดี-ผลเสียเข้าคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบให้ประเทศไทยยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (CPTPP) ภายในเดือนเมษายนเพื่อเข้าร่วมการประชุมความตกลงฯ เดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้

กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) ได้จัดแถลงข่าว “สิ่งที่สมคิดไม่ได้บอก : ไม่มีสิทธิบัตรยา แต่ยังมีอีกหลายหายนะใน CPTPP”

น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานเอฟทีเอ ว็อทช์กล่าวว่า หลังจากที่สหรัฐฯถอนตัวออกไปจากความตกลงเมื่อปี 2558 ภาคีความตกลงฯ ปัจจุบันเหลือ 11 ประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีเอฟทีเอแล้วกับ 9 ประเทศ มีเพียงแคนาดาและเม็กซิโกที่ถือได้ว่าเป็นตลาดใหม่ ผลประโยชน์ที่ไทยจะได้จึงค่อนข้างต่ำ คาดว่าจะทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้น 0.12% หรือ 13,323 ล้านบาทเท่านั้น

ขณะที่ผลกระทบทางลบที่จะเกิดขึ้นจากการทำงานวิชาการของกระทรวงสาธารณสุข การรวบรวมความห่วงใยจากหน่วยงานต่างๆของกระทรวงพาณิชย์ และการรวบรวมข้อมูลการศึกษาของกลุ่มศึกษาฯ พบว่าผลกระทบทางลบจากความตกลงนี้ยังมีอีกหลายประเด็น โดยเฉพาะการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ การขัดขวางการเข้าถึงยา การทำลายกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคต่อสินค้าที่มีความเสี่ยง อาทิ แอลกอฮอล์ เครื่องสำอาง พืชและสัตว์ GMOs การจำกัดนโยบายสาธารณะที่จะดูแลปกป้องคุ้มครองประชาชน และการคุ้มครองนักลงทุนต่างชาติที่มากเกินซึ่งจะนำมาสู่การฟ้องค่าโง่และขวางนโยบายต่างๆได้

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวถึงผลกระทบในด้านทรัพยากรชีวภาพและสินค้าเทคโนโลยีชีวภาพนั้น การเข้าร่วม CPTPP จะทำให้ประเทศไทยต้องเข้าเป็นภาคีในสนธิสัญญาคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV1991) ซึ่งเพิ่มอำนาจการผูกขาดสายพันธุ์พืชใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 20-25 ปี ห้ามเกษตรกรเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อ รวมทั้งขยายอำนาจการผูกขาดจากเดิมเฉพาะสายพันธุ์พืชไปยังผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการผูกขาดยาผ่านการผูกขาดสายพันธุ์พืชด้วย อีกทั้งการเข้าร่วม CPTPP ยังทำให้ต้องเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาบูดาเปสต์ (Budapest Treaty) ว่าด้วยการยอมรับระหว่างประเทศในการฝากเก็บจุลชีพเพื่อการจดสิทธิบัตร และต้องแก้กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 ซึ่งจะผลกระทบต่อกลไกการแบ่งปันผลประโยชน์ทั้งในเรื่องทรัพยากรจุลชีพและการคุ้มครองพืชท้องถิ่นในประเทศไทย

“การที่กรมเจรจาฯพูดว่า เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ได้แม้เข้า UPOV1991 นั้น ถือเป็นการกล่าวความเท็จ ถ้าไม่ใช่เพราะไม่ได้ศึกษาข้อมูลข้อเท็จจริงก็ถือว่าเป็นการบิดเบือน และสร้างความเข้าใจผิดต่อสังคม และขัดแย้งกับผลการศึกษาของนักวิชาการและสถาบันต่างๆ งานศึกษาซึ่งสนับสนุนโดยคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติพบว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นต่อเกษตรกรและทรัพยากรชีวภาพจากการผูกขาดเมล็ดพันธุ์มีมูลค่า 122,717-223,116 ล้านบาท/ปี ไม่นับผลกระทบระยะยาวที่เกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหารและความมั่นคงทางยาของประเทศ”

นอกเหนือจากนั้น ความตกลงเรื่องการเปิดตลาดสินค้าในมาตรา 2.27 เรื่องการค้าผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพ (Trade of Products of Modern Biotechnology) ยังส่งผลให้มีการเปิดตลาดทางอ้อมให้กับ GMOs และผลิตภัณฑ์ ลดทอนหลักการความปลอดภัยทางชีวภาพภายใต้พิธีสารความปลอดภัยทางชีวภาพ ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยเช่นกัน

ทางด้าน น.ส.ทัศนีย์ วีระกันต์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนกล่าวว่า ประเด็นสำคัญที่ CPTPP ทำทารุณกรรมต่อภาคเกษตรคือ การยกเลิกมาตรการในการปกป้องสินค้าเกษตรที่เดิมเคยถูกจัดเป็นสินค้าอ่อนไหวในความตกลงต่างๆ โดยเฉพาะที่มีกับ 9 ประเทศสมาชิกใน CPTPP อาทิ นม และผลิตภัณฑ์, มะพร้าว, ถั่วเหลือง, ข้าวโพด ซึ่งตอนที่กระทรวงพาณิชย์ออกไปรับฟังความคิดเห็นไม่เคยแจ้งประเด็นนี้ต่อประชาชนเลย ประเด็นนี้ถือเป็นการทำลายเกษตรกรรายย่อยครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง รวมทั้งยังเป็นการทำลายความมั่นคงทางอาหารของประเทศที่จะไม่สามารถกู้คืนมาได้

ทางด้าน นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่รณรงค์การเข้าถึงยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวถึงประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญากับที่เกี่ยวกับยาที่ทางรองนายกฯสมคิดและกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์อ้างว่าไม่มีปัญหาเรื่องสิทธิบัตรยาแล้วนั้น อาจใช้ข้อมูลเพียงด้านบวกด้านเดียวและให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน

“แม้ว่าข้อบท 20 ข้อจะถูกแขวนไว้ไม่เจรจาต่อเมื่อสหรัฐฯถอนตัวออกไป ซึ่งในนั้นมีข้อบทที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นปัญหาอยู่ แต่จากเนื้อหาความตกลง CPTPP ที่ปรากฏอยู่บนเว็บไซด์ทางการ พบว่า ยังมีข้อบทที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาแต่จะส่งผลกระทบทางลบต่อการเข้าถึงยาอย่างแน่นอน มาตรา 18.6, 18.53, 18.76 และ 18.77 ซึ่งล้วนก่อให้เกิดอุปสรรคในการเข้าถึงยา เช่น การไม่อนุญาตให้ประกาศใช้ CL ภายใต้เงื่อนไขการใช้โดยรัฐและไม่แสวงหากำไรอย่างที่ประเทศไทยเคยได้ประกาศใช้มาแล้ว, การที่ อย.ต้องแจ้งเตือนให้บริษัทยาต้นแบบรู้ล่วงหน้าเวลามีบริษัทอื่นมาขอขึ้นทะเบียนและทำให้มีเวลาไปจำกัดคู่แข่ง, การอนุญาตให้มีการยึดจับยาชื่อสามัญที่ต้องสงสัยว่า จะละเมิดเครื่องหมายการค้าหรือลิขสิทธิ์ที่อยู่ระหว่างการขนส่งถึงแม้จะไม่ผิดกฎหมายประเทศปลายทาง รวมถึงการขยายเอาผิดและลงโทษบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้ผลิตในการละเมิดเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ โดยในที่นี้ลิขสิทธิ์อาจหมายรวมถึงฉลากหรือเอกสารประกอบที่มีรายละเอียดและวิธีการใช้ ส่วนบุคคลอื่นหมายรวมถึงสถานที่จำหน่าย ซึ่งโรงพยาบาล สถานพยาบาลจะถูกรวมในความหมายนี้ด้วย ทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนเป็นข้อบทที่ผูกมัดประเทศเกินกว่าความตกลงที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลกที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกอยู่ และยังตัดสิทธิพิเศษขององค์การเภสัชกรรม และการให้แต้มต่อกับอุตสาหกรรมในประเทศที่ผลิตยาหรือเครื่องมือแพทย์ที่มีนวัตกรรม จุดมุ่งหมายก็เพื่อส่งเสริมให้เกิดการผูกขาดและขจัดการแข่งขัน-การเข้าสู้ตลาดของยาชื่อสามัญ โดยขาดจิตสำนึกในเรื่องสิทธิมนุษยชนในเรื่องสุขภาพและการเข้าถึงยา แน่นอนว่าจะส่งกระทบทางลบต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย ถ้าต้องเข้า CPTPP”

ทางด้านนายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า การตัดสินใจของรัฐบาลต่อการเข้าร่วมเป็นสมาชิกCPTPP เครือข่ายฯมีความกังวลในประเด็นเครื่องดื่มแลกอฮอล์ซึ่งเป็นสินค้าอ่อนไหว และเป็นสินค้าควบคุมตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เพื่อลดผลกระทบด้านสุขภาพสังคมต่อประชาชนและสังคมไทย

“การนำสุราเข้าเจรจามิใช่แค่การลดเพดานลงเหลือ 0% แต่เนื้อหาของ CPTPP ยังเลวร้ายเป็นเสมือนตราสังข์มัดตรึงรัฐบาล ประชาชนไทยในการจำกัดการออกมาตรการการควบคุม และลดผลกระทบจากเรื่องดื่มแอกอฮอล์ ทั้งการออกมาตรการใหม่ๆที่จะยากหรือออกไม่ได้ หรือการริดรอนมาตรการเดิมที่มีอยู่แล้วให้ถดถอยขาดประสิทธิภาพลง เช่นเดียวกับมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคอื่นๆ เช่นมาตรการคุ้มครองโฆษณาบนฉลากและข้อความคำเตือนด้านสุขภาพที่เคยมีอาจใช่ไม่ได้ การออกอนุบัญัญัติข้อความรูปภาพคำเตือนบนฉลากในอนาคตที่อาจไม่สามารถทำได้หรือการที่ CPTPP มอง มาตรฐานCodex เป็นมาตรฐานทางอาหาร แต่สุราทุกชนิดไม่ใช่อาหารธรรมดาทั่วไป ตลอดจนเรากังวัลเรื่องการคุ้มครองการลงทุนที่ก้าวล่วงไปถึงการคุ้มครองตั้งแต่ขั้นก่อนประกอบกิจการ หรือการระงับข้อพิพาทที่จะเป็นข้อเสียเปรียบในอนาคตของรัฐ”

ทั้งนี้ เอฟทีเอ ว็อทช์ ได้ประสานงานกับพรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อใช้กลไกรัฐสภาในการตรวจสอบ


“นายสมคิดได้แต่พูดให้คลายความกังวล แต่ไม่บอกว่าถ้าเจรจาผ่อนผันยืดหยุ่นไม่ได้จะดำเนินการอย่างไร ทางเอฟทีเอ ว็อทช์จึงได้ประสานงานกับพรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อขอให้ใช้กลไกฝ่ายนิติบัญญัติในการตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งกระทู้ถาม และให้คณะกรรมาธิการต่างๆที่เกี่ยวข้องหยิบยกประเด็นข้อห่วงใยต่างๆขึ้นมาพิจารณาอย่างละเอียดเพื่อไม่ให้การตัดสินใจเข้าร่วมครั้งนี้เป็นผลประโยชน์ที่กระจุกตัวแต่กลุ่มทุนขนาดใหญ่เหมือนหลายนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมา แต่ผลกระทบทางลบตกอยู่ที่ประชาชน โดยที่ทางภาคประชาสังคมพร้อมที่จะสนับสนุนข้อมูลการศึกษาต่างๆ เพื่อให้การเจรจาการค้าระหว่างประเทศเกิดความเป็นธรรมกับทุกภาคส่วนมากที่สุด” รองประธานเอฟทีเอ ว็อทช์กล่าว