ปรับแผนสู้แล้งอุตลุด ผันน้ำแม่กลองช่วย-ขุดสระรอฝนปีหน้า

ภัยแล้ง เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักทุบเศรษฐกิจไทย หากไม่หามาตรการที่รัดกุมในการ “บริหารจัดการน้ำ” จะยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจ ด้วย “น้ำ” เป็นปัจจัยหลักทั้งอุปโภค บริโภค และเกษตร และ ณ เวลานี้ ภาคตะวันออกพื้นที่อุตสาหกรรมหลักเริ่มส่งสัญญาณชัดเจนถึงภาวะภัยแล้งขั้นรุนแรงแล้ว

แผนจัดสรรน้ำแล้งก๊อกสุดท้าย

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำว่า ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศรวม 42,773 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 56% ของความจุอ่าง มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 19,000 ล้าน ลบ.ม. หรือ 36% ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวม 10,131 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำรวมกันวันละประมาณ 18 ล้าน ลบ.ม.

“แม้สถานการณ์น้ำในอ่างอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างน้อย แต่หากดูภาพรวมแล้วยังมีเพียงพอแน่นอน ส่วนการจัดสรรน้ำฤดูแล้งวางแผนไว้ 17,699 ล้าน ลบ.ม. ใช้ไปแล้ว 9,662 ล้าน ลบ.ม.”

งัด พ.ร.บ.น้ำป้องกันแย่งน้ำ

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ฉายภาพให้เห็นความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่ จะพบว่า ลุ่มเจ้าพระยาและภาคกลางจะต้องรัดกุม หากเกิดกรณีเลวร้าย

ฝนไม่ตก จะกระทบ “ภาคเกษตร” โดยยอมรับว่าการเพาะปลูก “ข้าวนาปี” จำเป็นต้องเลื่อนไป และปรับแผนให้เพิ่มการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมายังลุ่มน้ำเจ้าพระยา อีก 500 ล้าน ลบ.ม. จากเดิมที่มีมติไว้ 850 ล้าน ลบ.ม. เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำทะเลรุกมาทำให้น้ำประปาเค็มและน้ำกินน้ำใช้ให้เพียงพอ

“การผันน้ำลักษณะนี้เป็นกลไกภายใต้ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ เพราะต้องแจ้งคณะกรรมการลุ่มน้ำ รวมถึงเจ้าพระยาด้วย หากไม่พอต้องดึงน้ำจากตรงไหนบ้างต้องขอก่อน” ส่วนภาคเหนือ อาจมากกว่าแผน 200 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ภาคอีสานปีนี้กลับไม่น่าห่วง มีเขื่อนลำปาวมีน้ำกักเก็บกว่า 50% ประมาณ 6,000 ล้าน ลบ.ม.”

ขณะที่ภาคตะวันออกปีนี้ “น่าห่วงมากที่สุด” เพราะทั้งอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จ.ระยอง และอ่างบางพระ จ.ชลบุรี เริ่มวิกฤต หากน้ำไม่พอถึงสิ้นเดือนมิถุนายน ดังนั้น จำเป็นต้องขอความร่วมมือดำเนินการ 5 มาตรการ กล่าวคือ 1) การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์วอเตอร์ และนิคมอุตสาหกรรมลดการใช้น้ำ 10% 2) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลดการใช้น้ำผลิตไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมภาคตะวันออก 3) กรมชลประทาน กปภ. อีสท์วอเตอร์ ต้องจัดหาแหล่งน้ำสำรองจากภาคเอกชน 4) กรมชลประทานพิจารณาผันแหล่งน้ำจากข้างเคียงมาเติมอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล 5) กปภ.เร่งรัดการก่อสร้างตามแผนงาน

“ภาคตะวันออกเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม จึงเริ่มแก้ปัญหาเกลี่ยน้ำร่วมหลายฝ่าย ไม่ใช่แค่ภาคเกษตรลด ที่สำคัญกรมฝนหลวงจะเริ่มบินปฏิบัติการมีนาคม เพื่อไม่ให้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน”

จ่อชงสภาพัฒน์เคาะเงินกู้

อย่างไรก็ดี สทนช.อยู่ระหว่างกลั่นกรอง-ตรวจสอบโครงการเร่งด่วนเพื่อกักเก็บน้ำฤดูฝน (ดูกราฟิก) ภายใน 2 เดือนครึ่ง เพื่อให้ทันฤดูฝนที่จะถึงนี้ เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฝนพร้อมประสานท้องถิ่นให้มีเจ้าภาพ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติในหลักการภายในเดือนนี้ รวมทั้งล่าสุด นายกรัฐมนตรีสั่งการมายัง รองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ให้ดำเนินการเร่งด่วนโดยให้สามารถใช้เงินกู้โครงการขนาดเล็กถึงขนาดกลางมูลค่าตั้งแต่ 100-200 ล้านบาท ทั้งนี้ ต้องผ่านสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อให