“ผัก-ผลไม้” อ่วมแล้ง ราคาดี-ไม่มีขาย

“สินค้าผักและผลไม้” ถือเป็นสินค้าพระเอกของไทยในปี 2562 สามารถส่งออกได้ 6,057 ล้านบาท ขยายตัว 18.74% สวนทางกับภาพรวมการส่งออกไทยที่ติดลบ 2.65% ส่วนแนวโน้มในปีนี้ หลายฝ่ายกังวลถึงปัญหาการส่งออกที่กำลังต้องเผชิญกับภาวะชอร์ตซัพพลายผลผลิตทางการเกษตรจากภัยแล้งที่รุนแรงในรอบหลายปี

ล่าสุด “นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา” นายกสมาคมอาหารสำเร็จรูป เปิดเผยว่า ได้ประชุมประเมินสถานการณ์ร่วมกับสมาชิกถึงผลกระทบจากภัยแล้งปีนี้ปริมาณผลผลิตสินค้าผักและผลไม้ ที่จะใช้ในการแปรรูปลดลง ราคาสูงขึ้นเกือบทุกรายการ

“กลุ่มสับปะรด” คาดว่าช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 ผลผลิตจะน้อยกว่าปี 2562 ประมาณ 18% เหลือ 569,710 ตัน จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 695,330 ตัน โดยในไตรมาส 1 ของปี 2563 ซึ่งแล้งต่อเนื่องมาจากปลายปี 2562 ทำให้มีปริมาณผลผลิตเข้าโรงงานเพียงวันละ 3,500 ตัน จากเดิมที่ใช้ 5,000 ตัน/วัน และคุณภาพผลไม่สมบูรณ์พอ มีขนาดเล็ก ผลผลิตต่อไร่ลดลง และผลในช่วง summer crop มีประมาณ 30% เนื่องจากมีพื้นที่บางส่วนเสียหายจากขาดน้ำราว 15% รอการฟื้นตัว

ประเด็นนี้ส่งผลให้ราคาปัจจุบันสูงขึ้นถึง กก.ละ 12.40 บาทจากช่วง ธ.ค. 62 กก.ละ 8.5 บาท ขณะที่ราคาส่งออกขยับขึ้น เพราะคู่แข่งอย่างฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียก็มีผลผลิตน้อย โดยราคาสับปะรดกระป๋องปี 2562 ตันละ 865 เหรียญสหรัฐ สูงขึ้น 3% จากปี”61 ที่ตันละ 842 เหรียญสหรัฐ

ที่สำคัญต้องระวังว่าเกษตรกรจะเร่งผลผลิต ทำให้ตัดผลดิบมาขายช่วงราคาดี และผลจากค่าบาทแข็งค่าตั้งแต่ปี”61 ที่เคย 32.31 บาท แต่ปัจจุบัน ก.พ. 63 เท่ากับ 31.16 บาท

“กลุ่มผักผลไม้” คาดว่าปริมาณผลผลิตมะพร้าวจะต่ำกว่าคาดการณ์ที่วางไว้ 877,517 ตัน ไทยต้องพึ่งพาการนำเข้า เพราะปริมาณที่รับซื้อในประเทศได้น้อยมาก ราคารับซื้อสูงขึ้นเป็นผลละ 19-20 บาท ราคาเนื้อมะพร้าวขาว ผลละ 40-42 บาท/กก. จากต้นทุนผลละ 8 บาท เนื่องจากราคามะพร้าวค่อนข้างสูง จึงมีการขายเข้าตลาดหัวขูดมากกว่าโรงงาน ทำให้โรงงานมีปริมาณวัตถุดิบไม่เพียงพอ หากในช่วงต้นปีแล้งจะทำให้ผลผลิตขาดแน่นอน โดยเฉพาะช่วงพีกในเดือน มิ.ย. และคุณภาพผลผลิตไม่ดี ผลมีขนาดเล็ก เพราะจะทำให้มีวัตถุดิบไม่เพียงพอต่อการส่งออก

โดยในปี 2562 มีการส่งออกกะทิสำเร็จรูป 263,146 ตัน เพิ่มขึ้น 0.1% จากปี 2561 มูลค่า 12,766 ล้านบาท ลดลง 8% จากปี 2561 ทั้งนี้ ขอให้รัฐพิจารณามาตรการควบคุมการนำเข้าที่เป็นอุปสรรคทางการค้า

“ข้าวโพดหวาน” ปี 2563 คาดการณ์ว่าพื้นที่ปลูกลดลง 30% เพราะขาดแคลนน้ำ ส่วนการปลูกข้าวโพดหลังนา เดิมจะปลูกในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. และมีพื้นที่เยอะ แต่ปีนี้พื้นที่หลังนานั้นแห้งแล้งจึงไม่สามารถปลูกข้าวโพดหวานต่อได้

นอกจากนี้ เกษตรกรบางส่วนยังกังวลเรื่องหนอนกระทู้ระบาด ทำให้ต้นทุนการเพาะปลูกเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าจากเดิม และเป็นที่น่าสังเกตว่าโดยปกติแล้วราคาวัตถุดิบข้าวโพดในฤดู (มี.ค.-ส.ค.) จะต่ำกว่าข้าวโพดนอกฤดู (พ.ย.-ก.พ.) แต่ในตอนนี้ราคากลับขยับตัวสูงขึ้น และคาดจะทรงที่ กก.ละ 5-6 บาทไป หากฝนมาล่าช้าคาดว่าราคาจะปรับตัวลงในช่วงปลายปี ทั้งนี้ ปี 2562 ไทยส่งออกข้าวโพดหวาน 208,534 ตัน ลดลง 8.6% จากปี 2561 มูลค่า 5,994 ล้านบาท ลดลง 12.6% จากปี 2561

เช่นเดียวกับข้าวโพดอ่อน แห้ว หน่อไม้ ลำไย ลิ้นจี่ เงาะ supply ไม่เพียงพอกับ demand ปัจจุบันราคาผักที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต ปรับตัวสูงขึ้นราว 20%

ภาพรวมสินค้าผักและผลไม้ หากปี 2563 มีปริมาณฝนน้อยและมาล่าช้าจะส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตในประเทศแน่นอน ส่วนระดับความรุนแรงของผลกระทบจะมากเพียงใดขึ้นอยู่กับพื้นที่ในการเพาะปลูกแต่ละพืช