“บีไอจี” ใช้โอกาสภัยแล้งผนึก SCG-ปตท. นำร่องธุรกิจรีไซเคิลน้ำเสีย ดึงกลับมาใช้ได้ถึง 20%

นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอก อินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (บีไอจี)  ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายก๊าซอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการประเมินภาพรวมของอุตสาหกรรมทั้งประเทศ ที่กำลังเจอกับวิกฤตของเศรษฐกิจ และภัยแล้งอย่างหนัก ภาคการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ก็มีการเติบโตลดลง จากการเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน

ขณะที่แนวโน้มความต้องการใช้ก๊าซเพื่ออุตสาหกรรม มีทิศทางลดลง โดยซึ่งสะท้อนให้เห็นตั้งแต่ปี 2562 ลดลง 5% เมื่อเทียบกับปี 2561

ดังนั้น แผนการดำเนินงานปี 2563 บริษัทจึงกำหนด 3 ธุรกิจหลักโดยใช้นวัตกรรมซึ่งธุรกิจนวัตกรรมนี้จะมีสัดส่วนรายได้เพิ่มจาก 20% เป็น 40% ใน 5 ปีข้างหน้า และจะดันสร้างรายได้รวมบริษัทให้โต 10% จากรายได้ปี 2562 อยู่ที่ 6,000 ล้านบาท

โดยธุรกิจใหม่จะเริ่มด้วย ธุรกิจ Waste Water Management หรือโครงการบริหารจัดการน้ำ โดยใช้นวัตกรรมก๊าซอุตสาหกรรมบำบัดน้ำทิ้งในโรงงาน ซึ่งเป็นการใช้ก๊าซออกซิเจน เติมเข้าไปในน้ำทิ้งจากโรงงาน  เพื่อให้ได้น้ำสะอาดนำกลับมาใช้ได้ใหม่ 20 – 30%

สำหรับธุรกิจดังกล่าวนี้จะเป็นการรับมือกับวิกฤตภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปีนี้ ที่คาดว่าพื้นที่ภาคตะวันออกอย่าง EEC จะได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากมีการใช้น้ำในภาคการผลิตอุตสาหกรรมจำนวนมาก

ขณะนี้หารือเพื่อเสนอโครงการกับกลุ่ม ปตท. และเครือ SCG รวมถึงบริษัทอินโดรามา และกลุ่มลูกค้าเป้าหมายคือ โรงงานทั้งหมดในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง คาดว่าภายใน 2 เดือนจะเริ่มดำเนินการได้ ซึ่งจะสอดรับกับช่วงเวลาเดียวกับน้ำแล้งสูงสุด เดือน มิ.ย. และ พ.ค. พอดี

ทั้งนี้ลูกค้าจะต้องใช้เงินลงทุนแต่ละโครงการประมาณ 10-20 ล้านบาท แต่สามารถลดต้นทุน หรือมีราคาถูกกว่าการซื้อน้ำจากระบบการกลั่นน้ำทะเลเป็นน้ำจืด 20-30% จากราคาซื้อน้ำทะเล 100 บาท/ลูกบาศก์เมตร แต่อย่างไรก็ตามก็ยังถือว่านังมีราคาแพงกว่าการซื้อน้ำดิบ เพราะน้ำดิบราคาอยู่ที่ประมาณ 20 บาท/ลูกบาศก์เมตร

สำหรับอีก 2 ธุรกิจ คือ ธุรกิจ Energy Optimization เป็นการบริหารจัดการพลังงานในโรงงานอุตสาหกรรม ด้วยนวัตกรรม และเทคโนโลยี จากบีไอจี เพื่อลดต้นทุนค่าพลังงาน เช่น การนำออกซิเจน ไปใช้อุตสาหกรรมกระจก เหล็ก อุตสาหกรรมขึ้นรูปต่างๆ ซึ่งออกซิเจนจะช่วยทำให้ประหยัดพลังงานเพิ่มขึ้น ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจากับคู่ค่าในการเข้าให้บริการ

และธุรกิจ Pipeline Franchise คือ การบริหารจัดการส่งก๊าซทางท่อภายในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งบริษัทมีแผนที่จะขยายกำลังการผลิตในระยะต่อไป

สำหรับโครงการต่างๆ ที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ได้แก่ โครงการก่อสร้างหน่วยแยกอากาศ (Air Separation Unit : ASU) ที่ใช้พลังงานความเย็นจากการเปลี่ยนสถานะก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) หลังร่วมทุนตั้ง บริษัท มาบตาพุด แอร์โปรดักส์ จำกัด (Map Ta Phut Air Products Co., Ltd. : MAP) กัยทาง ปตท. เพื่อรองรับความต้องการใช้ก๊าซในโรงงานอุตสาหกรรม สนับสนุนกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) นั้น

อยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนา และเตรียมเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือน เม.ย. 2564 มีขนาดกำลังการผลิตไนโตรเจน ออกซิเจน และอาร์กอน 450,000 ตันต่อปี ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด มูลค่าลงทุน 1,500 ล้านบาท ซึ่งจะนำพลังงานความเย็นเข้าไปสนับสนุนนโยบายรัฐในโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor : EFC)


โครงการโรงงานผลิตก๊าซอุตสาหกรรมในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ระยอง ที่ร่วมทุนของกลุ่มอมตะฯและบีไอจี โดยตั้งบริษัท อมตะ บีไอจี อินดัสเทรียล แก๊ส จำกัด (ABIG) ขึ้นมา มูลค่าลงทุน 200 ล้านบาท ขนาดกำลังการผลิต 50,000 ตัน/ปี  ก่อสร้างเสร็จในปี 2562  ซึ่งเตรียมขยายไปกับโครงการนิคมฯ ของอมตะในเมียนมา  และเวียดนาม