6 ยักษ์การ์เมนต์ไทยกระอัก อียูตัดสิทธิ์การค้ากัมพูชา

แฟ้มภาพ

6 ยักษ์การ์เมนต์ไทยสู้วิกฤต สหภาพยุโรปตัดสิทธิประโยชน์ EBA กัมพูชา กระเทือนตลาดส่งออก 140,000 ล้านบาท เร่งสปีดส่งออกโค้งสุดท้าย 6 เดือนที่เหลือ ส่วนอนาคตโรงงานอยู่หรือไปขึ้นอยู่กับแบรนด์ดัง จะโยกการผลิตไปประเทศอื่นหรือไม่ ด้านทูตพาณิชย์หวั่นกำลังซื้อแรงงานเขมร 2 ล้านคนสะเทือน กระทบสินค้าอุปโภคบริโภคไทย

วันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สหภาพยุโรปได้ออกประกาศ “เพิกถอน” การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากร (Everything But Arms หรือ EBA) แก่กัมพูชา จำนวน 30 รายการ เป็นการชั่วคราว ครอบคลุมสินค้าส่งออกรายการสำคัญตั้งแต่ น้ำตาลจากอ้อย ไปจนกระทั่งถึงเครื่องนุ่งห่ม และรองเท้าประเภทต่าง ๆ

จากเหตุผลที่ว่า กัมพูชามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน-สิทธิการแสดงออกทางการเมือง โดยเฉพาะการยุบพรรคฝ่ายค้าน โดยสหภาพยุโรปจะให้เวลารัฐบาลกัมพูชาอีก 6 เดือน สำหรับการปรับตัวก่อนที่ EBA จะถูกยกเลิกอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2563 เป็นต้นไป

เศรษฐกิจกัมพูชากระเทือนหนัก

นายจิรวุฒิ สุวรรณอาจ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา กล่าวว่า ผลจากการตัดสิทธิประโยชน์ EBA จะทำให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าสินค้าไปสหภาพยุโรปต้องเสียภาษีนำเข้า 12% สำหรับรายการสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และเสียภาษี 8%

สำหรับรายการรองเท้า ส่วนน้ำตาลจะเสียภาษี 4.60 EU/100 กิโลกรัม ที่ผ่านมากัมพูชาเป็นประเทศที่ใช้ EBA มากประเทศหนึ่ง หรือคิดเป็นสัดส่วน 18% ของการใช้สิทธิ EBA ทุกประเทศที่มีสิทธิในปี 2561 จากการตรวจสอบของสำนักงานพบว่า กัมพูชาส่งออกไปสหภาพยุโรป รวม5,300 ล้านยูโร หรือ 170,000-180,000 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้สินค้าที่ส่งออกส่วนใหญ่กว่า 78% เป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูป คิดเป็นมูลค่า 4,000 ล้านยูโร หรือ 135,000-140,000 ล้านบาท รองเท้า มูลค่า 700 กว่าล้านยูโร หรือคิดเป็น 13%

ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าผู้ประกอบการสิ่งทอจากประเทศไทยได้เข้าไปลงทุนตั้งโรงงานผลิตเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอให้กัมพูชาเป็นลำดับต้น ๆ เพื่อรับออร์เดอร์จากเจ้าของแบรนด์ดังอย่าง GAP-H&M-Nike-Puma-adidas เพื่ออาศัยสิทธิประโยชน์ EBA ไม่เสียภาษีนำเข้าไปยังสหภาพยุโรป

ล่าสุดสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กัมพูชา ได้ประเมินผลกระทบที่จะเกิดต่อผู้ประกอบการไทย 2 กรณี คือ 1) ผลกระทบทางตรง ในระยะ 6 เดือนหลังถูกระงับสิทธิ EBA จะทำให้นักธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุนในประเทศกัมพูชา เพื่อส่งออกไปอียูในกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม 6 บริษัทใหญ่ อาจถูก “ยกเลิก” การจ้างผลิตทั้งหมดหรือลดปริมาณคำสั่งซื้อ

2) ผลกระทบทางอ้อม จะเกิดขึ้นหลังจากถูกตัดสิทธิ EBA ไปแล้ว 1 ปีขึ้นไป ธุรกิจไทยที่ลงทุนกับกัมพูชาอาจจะพิจารณาย้ายฐานการผลิตสินค้าสิ่งทอ-เครื่องนุ่งห่ม-รองเท้า ไปยังประเทศอื่น ทำให้เกิดการเลิกจ้างงาน ซึ่งปัจจุบันมีแรงงานกัมพูชาในอุตสาหกรรมทั้ง 2 กลุ่ม ประมาณ 750,000 คน หากนับรวมครอบครัวแรงงานจะมีผู้ได้รับผลกระทบประมาณ 2 ล้านคน ซึ่งในประเด็นนี้จะทำให้เงินทุนหมุนเวียนจากค่าแรงและวัตถุดิบในประเทศกัมพูชาจะหายไปจากระบบเศรษฐกิจ กำลังซื้อของผู้บริโภคกลุ่มใหญ่จะลดลง จะส่งผลต่อสินค้าอุปโภคบริโภคที่ส่งออกจากประเทศไทย

สำหรับรายชื่อผู้ประกอบการสิ่งทอ-รองเท้า-กระเป๋าไทย ที่เข้าไปตั้งโรงงานผลิตในกัมพูชา จากการรวบรวมมีประมาณ 8 ราย ได้แก่ Nice Apparel, SP Brother, Hi-Tech, Lim Line, Aerosoft, Trax, Pilot Knitt Sportwear และ Hong Seng อยู่หรือไปขึ้นกับเจ้าของแบรนด์

นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า ขณะนี้สมาชิกโรงงานเครื่องนุ่งห่มที่เข้าไปลงทุนในกัมพูชา 6 โรงงาน ได้เตรียมปรับแผนการผลิตหลังกัมพูชาถูกเพิกถอนสิทธิประโยชน์ EBA โดยช่วงแรกก่อนที่คำสั่งเพิกถอนสิทธิจะมีผลในเดือนสิงหาคม ทางโรงงานผู้ผลิตต้องเร่งกำลังผลิตเพื่อส่งมอบสินค้าให้ได้มากที่สุด โดยจะต้องส่งลงเรือภายในเดือนกรกฎาคม เพื่อส่งมอบถึงสหภาพยุโรปก่อนวันที่ 12 สิงหาคม 2563 หลังจากนี้ โรงงานสิ่งทอก็จะผลิตตามคำสั่งซื้อของผู้ซื้อ (buyer) ที่เป็นเจ้าของแบรนด์ว่าจะโยกการผลิตไปที่ฐานผลิตในประเทศอื่น ๆ ที่มีโรงงานอยู่หรือไม่

“ปลายปีนี้สหภาพยุโรปจะเข้ามาตรวจสอบกัมพูชาอีกครั้งว่า สามารถปฏิบัติตามข้อเรียกร้องหรือไม่ ทั้งเรื่องการเมือง-สิทธิแรงงาน-สิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อม หากรัฐบาลกัมพูชาสามารถแก้ปัญหาได้ เชื่อว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง แต่หากเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม ผู้ผลิตก็ต้องพิจารณาต่อไปว่าจะลดกำลังการผลิตในกัมพูชา หรือลด OT หรือจะต้องดำเนินการอย่างไร เรื่องนี้ต้องชะลอดูอีก 5-6 เดือนจึงจะเห็น” นายยุทธนากล่าว

ส่วนโอกาสที่ผู้ผลิตไทยจะถอนการลงทุน หรือย้ายฐานการลงทุนไปยังประเทศอื่นหรือไม่นั้น “ขึ้นอยู่กับ buyer ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์สินค้าที่มาจ้างผลิตว่าต้องการจะให้โยกไปฐานการผลิตใด หรือให้ย้ายฐานการผลิตออกไปเลย

ไนซ์กรุ๊ปเร่งผลิต 100%

ส่วนนายประสพ จิรวัฒน์วงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไนซ์กรุ๊ป (ไนซ์ แอพพาเรล) ผู้ผลิตเสื้อผ้ากีฬาให้กับแบรนด์ Nike-adidas-มิซูโน่ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทได้เร่งเพิ่มกำลังการผลิต 100% เพื่อส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าก่อนที่ภาษีนำเข้าสหภาพยุโรปจะขยับขึ้นในเดือนสิงหาคม แต่ประเด็นนี้ไม่ได้มีผลต่อปริมาณการสั่งซื้อเพราะโดยปกติจะวางแผนการสั่งซื้อกันไว้ล่วงหน้า 3 ปี หรือถึงปี 2566 แล้ว ปัจจุบันทางกลุ่มไนซ์กรุ๊ปมีฐานการผลิตที่กัมพูชาใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากไทย คิดเป็นสัดส่วน 40% จากกำลังการผลิตทั้งหมด หรือประมาณ 25 ล้านตัวต่อปี

“แน่นอนว่าการที่อียูปรับขึ้นภาษีจะเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของลูกค้าที่จะต้องนำไปบวกในราคาขายปลีก แต่ภาษีไม่ได้มีผลต่อออร์เดอร์ เพราะเราคุยกันเป็นแผนผลิตระยะยาว 3 ปี ในระหว่างนี้เราก็ช่วยเร่งการผลิตเต็มที่ 100% ส่วนการโยกฐานการผลิตหรือไม่ หลังจากนี้ก็ขึ้นอยู่กับการหารือกัน แต่ถ้าเทียบแล้วต้นทุนภาษีกับค่าแรงก็ยังพอกับฐานการผลิตอื่นอยู่ สามารถทำได้” นายประสพกล่าว

สำหรับค่าแรงกัมพูชาปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 182 เหรียญ (ประกาศใช้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2562) ขณะที่ค่าแรงไทยอยู่ที่ประมาณ 331 เหรียญ หรือต่างกันประมาณ 149-150 เหรียญ ประมาณ 4,500 บาท จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะโยกฐานการผลิตจากกัมพูชากลับมายังประเทศไทย แต่หากเจ้าของแบรนด์ยังยืนยันที่จะผลิตจากโรงงานในกัมพูชาต่อไป ก็จะต้องคำนึงถึงอัตราค่าแรง บวกกับภาษีนำเข้าอีก12% ซึ่งจะส่งผลต่อราคาจำหน่ายในสหภาพยุโรปจะถูกปรับขึ้น ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงในปัจจุบัน