ลงทุน S-curve 5 ปี 1.8 ล้านล้าน

เครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ไทยก้าวไปสู่ไฮเทคโนโลยี คือ การปรับโครงสร้างจากอุตสาหกรรมการใช้แรงงาน ผู้รับจ้างผลิต (OEM) จำเป็นต้องดึงเอาเทคโนโลยี khowhow บุคลากรผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาถ่ายทอดให้ไทยปี 2558 จึงประกาศอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) ขึ้นมา สอดรับกับช่วงที่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แก้กฎหมายการลงทุนให้ล้อกันไป 

จุดแข็งของไทย

ย้อนกลับไป 5 ปีที่ผ่านมา พบว่ายอดขอรับการส่งเสริมการลงทุน S-curve อยู่ที่ 3,907 โครงการ เงินลงทุน 1,855,461 ล้านบาท โดยแต่ละปีมีอุตสาหกรรมที่ขอรับการส่งเสริมต่างกันไปตามมาตรการขณะนั้น เช่น ปี 2562 S-curve มียอดขอรับส่งเสริม 286,517 ล้านบาท หลัก ๆ เป็นระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ส่วนปี 2561 เป็นการพัฒนาซอฟต์แวร์ และดิจิทัล

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า แม้สิทธิประโยชน์บีโอไอ ในการยกเว้นภาษีรายได้นิติบุคคลให้กลุ่ม S-curve 8 ปีจะไม่ใช่ปัจจัยหลักที่
นักลงทุนตัดสินใจ แต่เป็นแม่เหล็กดึงดูดการลงทุนได้ไม่น้อย รองจากความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เหนือกว่าคู่แข่งในอาเซียน

ลุย INTERMACH’20  

นางสุกัญญา อมรนุรัตน์กุล ผู้จัดการฝ่ายบริหารโครงการอาวุโส บริษัท อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ จำกัด ในฐานะ
ผู้จัดงานแฟร์ INTERMACH & SUBCON THAILAND สะท้อนภาพว่าการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทำให้นักลงทุนทราบว่าไทยจะเน้นหนักไปด้านเทคโนโลยีขั้นสูง จนในที่สุดไทยจะก้าวไปเป็นผู้ผลิตที่มีทั้งนวัตกรรม เป็นเจ้าของสินค้า-อุตสาหกรรมไฮเทค ช่วยเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันในงาน INTERMACH แต่ละปีมีนักลงทุนเข้ามาซื้อขายระดับหมื่นล้านบาท อย่างล่าสุดปี 2562 มียอดการซื้อขาย 14,000 ล้านบาท มีการจับคู่ธุรกิจ 8,000 คู่ เกิดการลงทุนตามมา

สำหรับงานอินเตอร์แมค-เอ็มทีเอ เอเชีย 2020 ครั้งที่ 37 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-16 พ.ค.นี้ เป็นงานที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน มีสินค้าและบริการเกี่ยวกับอุตสาหกรรม S-curve เกือบทั้งหมด เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ การแพทย์ อากาศยาน รวมถึงคลัสเตอร์ระบบราง 1,200 แบรนด์ จาก 45 ประเทศรวม 800 บริษัทร่วม คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงาน 45,000 คน มีมูลค่าซื้อขายเทียบเท่าปีก่อน

ไฮไลต์งานปีนี้ นับเป็นปีแรกที่ญี่ปุ่นจะดึงนักลงทุนเอสเอ็มอีในกลุ่มชิ้นส่วนอุตสาหกรรม 100 รายมาร่วมออกบูทรวมถึงอาจมีการโชว์เทคโนโลยีแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) จากสหรัฐครั้งแรกในไทย เพื่อปูทางไปสู่รถ EVในอนาคต และมีสถาบันการเงินจัดเตรียมโปรโมชั่นพิเศษมาเสริม ช่วยกระตุ้นการลงทุนปี 2563 ให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้เกิดใช้ประโยชน์จากค่าเงินบาทแข็งค่า ปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ลงทุนที่
สอดรับกับมาตรการภาษี ที่ให้สามารถนำเข้าเครื่องจักรลดหย่อนภาษีได้ 2.5 เท่า ตั้งแต่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค. 2563