ไนซ์กรุ๊ป ขยายรง.เสื้อเวียดนาม คว้าสิทธิ์ส่งออกลดภาษี EVFTA-CPTPP

“ไนซ์ กรุ๊ป” เบอร์ 1 ผู้ผลิตเสื้อกีฬา เบนเข็มขยายฐานผลิตเวียดนาม มองข้ามชอตหวังใช้ประโยชน์ EVFTA ส่งออกอียู-CPTPP ส่งออก 11 ประเทศ ก้าวข้ามมรสุมโคโรน่า-จีเอสพีเขมร ลุยเทงบฯลงทุนขยาย 2 โรงงานเวียดนาม-ไทย 3,000 จักร ดันกำลังผลิตเพิ่มเกือบ 30 ล้านตัวใน 3 ปี 

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่าปีที่ผ่านมาธุรกิจผลิตเสื้อผ้าส่งออก ถือว่าเป็นธุรกิจได้รับอานิสงส์จากสงครามการค้าขยายตัวอย่างเงียบ ๆ สวนทางการส่งออกติดลบ ผู้ผลิตรายหลายได้กระจายการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนเป็นฐานการผลิตส่งออกชั้นดีที่มีต้นทุนค่าแรงต่ำและรับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรจากตลาดส่งออกหลักทั้งสหรัฐ และสหภาพยุโรป แต่มาปีนี้วิกฤตจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และผลพวงจากการที่สหภาพยุโรป (อียู) ตัดสิทธิพิเศษทางภาษีกัมพูชาซึ่งเป็นฐานการผลิตสำคัญ ซึ่งทางผู้ผลิตไทย 6 รายที่เข้าไปลงทุนเริ่มรับรู้สัญญาณนี้มาตั้งแต่ปลายปี 2561 และเริ่มวางทิศทางการทำงานล่วงหน้า 

นายประสพ จิรวัฒน์วงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไนซ์กรุ๊ป (ไนซ์ แอพพาเรล) ผู้ผลิตและส่งออกเสื้อผ้ากีฬาเบอร์ 1 ของไทย ซึ่งผลิตให้แบรนด์เสื้อกีฬา และเป็นโรงงาน 1 ใน 6 โรงงานไทยในกัมพูชา เปิดเผยกับ“ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมยอดขายปี 2563 ยังคาดว่าจะเติบโต 12-15% จากปริมาณคำสั่งซื้อที่ทำแผนรับผลิต (OEM) ระยะยาวไว้ล่วงหน้าถึงปี 2566 ให้กับแบรนด์เสื้อผ้ากีฬาชั้นนำของโลกไนกี้ อาดิดาส และมิซูโน่ ที่มียอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจาก 58 ล้านตัว เป็น 85 ล้านตัวเพื่อส่งไปยังตลาดหลัก ทั้งสหรัฐ สัดส่วน 42-43% ตลาดสหภาพยุโรป สัดส่วน 36% และเอเชีย 18-19% 

“ผลจากอียูตัดสิทธิพิเศษทางภาษีกัมพูชาจะไม่กระทบต่อคำสั่งซื้อล่วงหน้าที่วางไว้ แต่อาจะเป็นต้นทุนของลูกค้า จากภาษีเพิ่มขึ้น 12%  อาจต้องปรับราคาขายปลีกสูงขึ้น เมื่อบวกกับค่าแรงกัมพูชาที่ถูกกว่าไทยประมาณครึ่งหนึ่งก็ยังพอทำได้ แม้ว่าจะมีปัจจัยเสี่ยงเกิดขึ้น แต่สินค้าเครื่องนุ่งห่มจะต่างกับสินค้าอื่น ด้วยเหตุที่มีการวางแผนระยะยาวที่ได้วางไว้ร่วมกับลูกค้าประมาณ 3 ปี
หรือจนถึงปี 2566 บริษัททำแผนการขยายกำลังการผลิตคู่ขนาน เพื่อให้สอดคล้องกับออร์เดอร์อีก 3 ปีด้วย”

ล่าสุดขณะนี้บริษัทได้ขยายการลงทุนโรงงานที่เวียดนาม 1 แห่ง ด้วยงบประมาณ 300 ล้านบาท ซึ่งจะเป็น
การลงทุนขยายจากโรงงานเดิม มีจำนวนเครื่องจักร 1,500 จักร คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จและสามารถดำเนินการได้ในกลางปีนี้ ขณะเดียวกันบริษัทมีแผนจะเพิ่มการลงทุน เพื่อขยายโรงงานที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อเพิ่มจำนวนเครื่องจักรอีก 1,200-1,500 จักร คาดว่าจะสรุปในปี 2564 และก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมดำเนินการได้ในปลายปี 2564

ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทมีโรงงานใน 4 ประเทศโดยประเทศไทยมีขนาดใหญ่ที่สุด 40-45%รองลงมา คือ กัมพูชา ใกล้เคียงกัน45% เวียดนาม 6% และจีน 4% ซึ่งทุก ๆฐานการผลิตก็กระจายออกไปทั่วโลกตามคำสั่งซื้อ

นายประสพกล่าวว่า การขยายการลงทุนไปในเวียดนามในครั้งนี้ไม่ใช่เพียงเพื่อให้สอดรับกับแผนสั่งซื้อ 3 ปีเท่านั้น แต่เวียดนามเป็นฐานผลิตที่สามารถลดภาษี เพื่อส่งออกไปยังสหภาพยุโรปได้เพิ่มขึ้น เพราะเวียดนามได้ทำเอฟทีเอกับอียู และยังมีความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ด้วย 

ส่วนการพิจารณาโยกย้ายฐานการผลิตหรือย้ายฐานการผลิตจากกัมพูชาไปยังฐานผลิตอื่นแทนกัมพูชานั้น ขึ้นอยู่กับผลการหารือกับลูกค้าในระยะต่อไปหลังจากขึ้นภาษี โดยขณะนี้ยังไม่มีการปรับย้ายฐาน และฐานผลิตในทุกประเทศกำลังเดินเครื่องเต็มที่ 100% เพื่อเร่งส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าได้ทันก่อนจะขึ้นภาษีในเดือนสิงหาคม และวางแผนต่อเนื่องหลังจากนั้นหากต้องการให้ช่วยเร่งผลิตก็จะช่วยต่อไป  

“ส่วนผลพวงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กระทบต่อโรงงานที่เมืองชิงเต่า ประเทศจีน เช่นกัน เพราะทำให้ต้องปิดยาวนานกว่าเทศกาลตรุษจีนปกติ ขยายมาอีกกว่า 1 สัปดาห์ เพิ่งจะเริ่มเปิดดำเนินการปกติ หากการแพร่ระบาดต่อเนื่องยาวไปอีก 6 เดือน ประเด็นที่กังวลไม่ใช่การผลิตที่จีน เพราะสัดส่วนที่นั่นไม่มาก แต่ผลจากการระบาดจะกระทบต่อการซัพพลายวัตถุดิบบางรายการที่ใช้ในการผลิตทั้งหมดจะต้องวางแผนบริหารจัดการเพื่อส่งมอบให้ทันตามกำหนด”