จัดเต็มอุ้มธุรกิจปลุกจับจ่าย ซอฟต์โลน-ลดภาษีสารพัด

“สมคิด” สั่งคลังชงมาตรการ “อุ้มท่องเที่ยว-กระตุ้นจับจ่าย” แพ็กเกจใหญ่หลังอภิปรายไม่ไว้วางใจ มาตรการภาษีเพียบ ทั้งลดหย่อนภาษีท่องเที่ยว-หักรายจ่ายจ้างงาน-เลื่อนจ่ายภาษีนิติบุคคล-หยุดหัก ณ ที่จ่าย “มนุษย์เงินเดือน” ลุ้นแบงก์ชาติทำ QE ปล่อยซอฟต์โลนให้แบงก์ไปช่วยลูกค้า “ชิม ช้อป ใช้ 4” รอชง ครม.ช่วง มี.ค. 

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่าเช้าวันที่ 21 ก.พ. 2563 ที่ผ่านมา นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บนตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เพื่อรายงานมาตรการกระตุ้นด้านการท่องเที่ยวให้นายกฯพิจารณา

นายสมคิดกล่าวภายหลังเข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ว่า กระทรวงการคลังได้เตรียมมาตรการด้านการท่องเที่ยวไว้แล้วเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศและช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้นักท่องเที่ยวจีนลดลง กระทบผู้ประกอบการท่องเที่ยว แต่เสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.)ไม่ทันวันที่ 24 ก.พ.นี้ เนื่องจากอยู่ในช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็จะนำเข้า ครม.3 มี.ค.

เสนอแจกครอบครัวละ 1 หมื่น

ด้านนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ลำพังมาตรการอัดฉีดผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง อาจไม่เพียงพอขอเสนอให้อัดฉีดเม็ดเงินให้ถึงมือผู้มีรายได้น้อยโดยตรงผ่านบัญชีธนาคาร 7 ล้านครอบครัว ครอบครัวละ 10,000 บาทรวม 7 หมื่นล้านบาท

ชงสารพัดหักลดหย่อนภาษี

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างเตรียมแพ็กเกจมาตรการดูแลภาคธุรกิจท่องเที่ยว และกระตุ้นการจับจ่ายในประเทศ คาดว่าจะเสนอให้ ครม.พิจารณาหลังอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยมีทั้งมาตรการทางภาษี และทางการเงิน ตามที่รองนายกฯสมคิดได้ให้การบ้านไว้

สำหรับมาตรการทางด้านภาษี นอกจากกระตุ้นผู้สูงอายุออกไปท่องเที่ยวแล้วนำใบเสร็จมาให้ลูกใช้หักลดหย่อนภาษีได้ ยังมีอีกหลายมาตรการที่กำลังพิจารณา อาทิ การนำค่าใช้จ่ายจากการท่องเที่ยวในประเทศช่วงปี 2563 มาหักลดหย่อนภาษีได้, ให้ผู้ประกอบการหักรายจ่ายได้ 1.5 เท่า จากการไม่เลิกจ้าง, เลื่อนเวลาชำระภาษีนิติบุคคล รวมถึงลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ด้วยการลดอัตราหัก ณ ที่จ่ายลง

“บุคคลธรรมดาที่เป็นลูกจ้าง ถ้าลดภาษีลงได้ โดยหัก ณ ที่จ่ายน้อยลงจะให้ผลแรง เพราะช่วยให้มีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้นไว้จับจ่าย” แหล่งข่าวกล่าว

ซอฟต์โลนเสริมสภาพคล่องธุรกิจ

ส่วนมาตรการทางการเงินเป็นการเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ โดยมีการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษ (ซอฟต์โลน) ซึ่งเรื่องซอฟต์โลนต้องขึ้นกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จากการประชุมร่วมกันที่ผ่านมา เสนอให้ ธปท.ใช้มาตรการซอฟต์โลน เหมือนครั้งน้ำท่วมใหญ่ปี 2554-2555 เป็นการที่ ธปท.ให้กู้แบบไม่มีต้นทุน หรือต้นทุนต่ำมากแก่ธนาคารพาณิชย์ เพื่อนำไปช่วยลูกค้าต่อรายละ 3-5 ล้านบาท 

ทั้งนายสมคิดให้มีการพิจารณาลดดอกเบี้ยบัตรเครดิตด้วย และเห็นว่า ธปท.ควรผ่อนปรนเกณฑ์การกำกับดูแลเพื่อเอื้อให้แบงก์ช่วยลูกค้าได้ง่ายขึ้นเช่น ธนาคารกรุงไทย ออมสิน ที่มีเงินพร้อมช่วยลูกค้า แต่ทำไม่ได้เต็มที่เพราะติดเกณฑ์การกำกับที่เข้มงวด

“ซอฟต์โลนต้องทำใช้เงินที่ต้นทุนต่ำมาก ๆ คือ ธปท.ปล่อยให้แบงก์นำไปช่วยลูกค้า ซึ่งต้องออกเป็น พ.ร.ก. เพื่อให้ดำเนินการได้  เป็นการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าไปในระบบเหมือนทำ QE” 

“ชิม ช้อป ใช้4 ” แจกพันบาท

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า มาตรการชิม ช้อป ใช้ เฟส 4 ต้องรอให้ผ่านช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ รวมถึงให้งบประมาณปี 2563 เบิกจ่ายได้ก่อน เนื่องจากต้องเคลียร์เรื่องการจ่ายเงินชดเชยให้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการในเฟส 3 ก่อน คาดว่าจะเบิกจ่ายได้ มี.ค. 

“ชิม ช้อป ใช้ เฟส 4 น่าจะเสนอ ครม.มี.ค. เพื่อให้มีผล เม.ย. ต้องการกระตุ้นใช้จ่ายช่วงสงกรานต์ จะแจกเงิน 1,000 บาท ผ่านกระเป๋า 1 และเปิดให้ร้านค้าที่มีระบบ POS เข้าร่วมคือ ห้างสรรพสินค้าโมเดิร์นเทรดก็เข้าร่วมได้” 

นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงการคลัง) กล่าวว่า โครงการชิม ช้อป ใช้ เฟส 4 ยังต้องใช้เวลาอีกระยะ โดยขณะนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กรมบัญชีกลาง ธนาคารกรุงไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างประชุมหารือในรายละเอียด และทำให้ชิม ช้อป ใช้ เฟสถัดไป ยิ่งใหญ่อลังการมากกว่าเดิม

สมาคมแบงก์ลุ้นรัฐจัดซอฟต์โลน

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ธปท.และธนาคารพาณิชย์อยู่ระหว่างหารือเกณฑ์การปรับโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยเหลือลูกค้าเพิ่มเติมคาดว่าภาครัฐจะมีโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) แต่รายละเอียดและวิธีการต้องรอความชัดเจน

“ธนาคารพาณิชย์เน้นช่วยประคองลูกค้าที่มีปัญหาให้ผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปมากกว่าที่จะเร่งการเติบโตของสินเชื่อ เช่น ลูกค้ามีค่าใช้จ่าย แต่ขาดรายได้ ก็จะไปช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ หรือเงินที่ต้องชำระแบงก์ที่ต้องขอชะลอไปก็ทำให้ แต่การเพิ่มรายได้ ภาครัฐเป็นตัวหลัก เช่น มาตรการท่องเที่ยวได้ลดภาษี” 

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ยังไม่สามารถระบุได้ว่า รัฐจะมีซอฟต์โลนหรือไม่ ต้องขึ้นกับทางกระทรวงการคลัง โดยตนคิดว่าจะต้องรองบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ หากใช้วิธีเหมือนในอดีตที่ให้ธนาคารออมสินปล่อยกู้ซอฟต์โลนให้ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งธนาคารออมสินคิดดอกเบี้ยจากแบงก์พาณิชย์แค่ 0.1% แบงก์จะนำไปปล่อยกู้ต่อในระดับ 4% หากต่ำกว่านั้น แบงก์จะไม่อยากปล่อย ดังนั้น ซอฟต์โลนต้องมีอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม

นายอุตตมกล่าวว่า ซอฟต์โลนเป็นทางเลือกหนึ่ง แต่ยังบอกไม่ได้ว่าวงเงินและดอกเบี้ยจะเท่าไรเช่นเดียวกับเรื่องภาษีอยู่ระหว่างหารือ ทั้งหมดนี้จะออกมาพร้อมกันเป็นแพ็กเกจใหญ่ในเดือน มี.ค.