IRPC ปรับแผนรับเทรนด์อุตฯปิโตรเคมีเปลี่ยน ชะลอลงทุนโปรเจ็กต์ยักษ์ 4 หมื่นล้าน

ภาพ : เว็บไซต์ IRPC

“ไออาร์พีซี” ชี้เทรนด์อุตสาหกรรมโรงกลั่น-ปิโตรเคมีเปลี่ยน แถมสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัวทบทวนแผนลงทุนโครงการอะโรเมติกส์ 4 หมื่นล้านหลังจีนผู้ซื้อรายใหญ่ยกระดับเป็นผู้ผลิตเอง พร้อมปรับกลยุทธ์ต่อจิ๊กซอว์บริหารพอร์ต 2 แสนล้าน ผนึกพันธมิตรญี่ปุ่นเปิดตลาดเม็ดพลาสติกพิเศษ ตอบโจทย์อุตฯชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า

นพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)

เบรกลงทุน 4 หมื่นล้าน

นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หนึ่งในกลุ่ม ปตท. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากปัจจัยต่าง ๆ รวมถึงปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลง ประกอบกับแนวโน้มของการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงลดลง จากการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ทำให้ทิศทางของอุตสาหกรรมโรงกลั่นและปิโตรเคมีโลกกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงใน 2 เทรนด์คือ มีการพัฒนากระบวนการผลิตจากน้ำมันดิบไปสู่เม็ดพลาสติกที่เรียกว่า “crude oil to chemical” และสามารถฉีดขึ้นรูปเป็นสินค้าได้เลย จากปกติต้องมากลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูป เป็นแนฟทาและมาผลิตเป็นวัตถุดิบปิโตรเคมี

กับอีกเทรนด์คือประเทศจีนที่เป็นผู้ใช้หรือผู้ซื้อเม็ดพลาสติกรายใหญ่ของโลก ปัจจุบันก็หันมาลงทุนสร้างโรงกลั่นและผลิตเม็ดพลาสติกเองแบบครบวงจร จากปัจจัยเหล่านี้ทำให้บริษัทต้องทบทวนแผนการลงทุนโครงการผลิตอะโรเมติกส์ (MARS : Maximum Aromatics Project) กำลังการผลิตพาราไซลีน 1-1.3 ล้านตันต่อปี มูลค่าการลงทุนประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีเป้าหมายที่จะผลิตเพื่อส่งออกไปจีน

“ตอนนี้ต้องปรับแผน โครงการพาราไซลีน ซึ่งเป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดของ IRPC เป้าหมายเพื่อนำแนฟทาที่เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิต มาผลิตพาราไซลีนเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตโพลิเอสเตอร์ในเสื้อผ้า ขวดน้ำ (PET) เป้าหมายที่วางไว้คือส่งออกพาราไซลีนไปจีน แต่ตอนนี้จีนเปลี่ยนมาเป็นผู้ผลิตแบบครบวงจรแล้ว เราจึงรีวิวแผน”

ปรับแผนชูสินค้าพิเศษ

นายนพดลกล่าวว่า ปรับแผนลงทุนก็ย่อมจะมีผลต่อเป้าหมายรายได้ที่วางไว้ เป้าหมายของไออาร์พีซียังคงรักษาความเป็น complex ผู้ผลิตครบวงจรตั้งแต่โรงกลั่น ปิโตรเคมี โรงงานไฟฟ้า ท่าเรือ และนิคมอุตสาหกรรม แต่จะมุ่งโดยการเติมเต็มส่วนของปลายน้ำมากขึ้น ในธุรกิจพลาสติกจะเน้นการเพิ่มสัดส่วนสินค้าชนิดพิเศษคุณภาพสูงมากขึ้น ตามแผนวางไว้จาก 55% เป็น 60% ในปี 2563 โดยจะออกผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกที่มีนวัตกรรมใหม่

ตอบโจทย์อุตฯรถอีวี

ขณะเดียวกันบริษัทก็จะเน้นการร่วมกับพันธมิตรที่เป็นบริษัทเทรดดิ้งเพื่อช่วยในการเปิดตลาด โดยในวันที่ 3 มีนาคมนี้ จะมีการลงนามความร่วมมือกับพันธมิตรซึ่งเป็นบริษัทเทรดดิ้งจากญี่ปุ่น เพื่อขยายตลาดสินค้าเม็ดพลาสติกพีพีคอมพาวนด์เกรดพิเศษ (PP compound) ที่สามารถนำไปใช้ขึ้นรูปเป็นตัวถังรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งที่ผ่านมาเคยส่งให้ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า FOMM สัญชาติญี่ปุ่น ไปใช้ในการผลิตตัวถังและชิ้นส่วนต่าง ๆ ซึ่งคุณลักษณะพิเศษที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าคือ มีน้ำหนักเบา รับแรงกระแทกได้ ก็ถือเป็นก้าวหนึ่งในการตอบโจทย์อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต

โดยพันธมิตรญี่ปุ่นรายนี้มีลูกค้าที่เป็นผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลก ทำให้บริษัทมีโอกาสขยายตลาดเม็ดพลาสติกดังกล่าวไปในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าได้มากขึ้น

ขณะเดียวกันบริษัทจะโฟกัสการทำตลาดอาเซียน และตลาดในประเทศ มุ่งไปที่เวียดนามและอินโดนีเซียเป็นหลัก ลดการพึ่งพาตลาดจีน ส่วนสินค้าใหม่นอกจาก PP รถยนต์อีวีแล้ว ยังมีการผลิตชิ้นส่วนในแบตเตอรี่ ทำจากเม็ดพลาสติก PE ที่ความหนาแน่นสูง ตอนนี้ส่งไปทดสอบในโรงงานแบตเตอรี่ที่ประเทศจีนสำเร็จแล้ว โดยจะเริ่มทำตลาดปีนี้

นอกจากนี้เม็ดพลาสติกจากวัสดุรีไซเคิลก็กำลังได้รับความนิยมจากกระแสการลดการใช้พลาสติกโดยเฉพาะในยุโรป มีความต้องการสูง โดยแบรนด์นาฬิกาและเครื่องประดับหรูจากสหภาพยุโรป สั่งเม็ดรีไซเคิลไปขึ้นรูปผลิตกล่องใส่นาฬิกาและเครื่องประดับ แต่กำลังการผลิตของบริษัทก็ยังมีจำกัด โดยปัจจุบันเป็นการใช้ของเหลือทิ้งในโรงงานมาใช้ตามนโยบาย zero plastic waste

จับมือจีนขายพลาสติกออนไลน์

นายนพดลกล่าวว่า อีกสิ่งที่จะทำคือสร้างแบรนด์เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคปลายน้ำมากขึ้น พร้อมกับการต่อยอดสู่ตลาดออนไลน์ โดยบริษัทได้ร่วมมือกับบริษัท Guangzhao Saiju Performance Polymer Ltd. (GZSJ) จากจีนพัฒนาแพลตฟอร์ม “Plasket.com” ซึ่งไออาร์พีซีถือหุ้น 55% เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เปิดพื้นที่ให้ลูกค้านำเสนอเม็ดพลาสติกจากหลากหลายแบรนด์มาจำหน่าย เพื่อสร้างตัวเลือกทั้งด้านคุณภาพและราคาให้กับผู้ซื้อ และในเดือนเมษายนนี้ บริษัทก็จะเปิดตัวโครงการไฟฟ้าโซลาร์ลอยน้ำ (โซลาร์โฟลตติ้ง) ขนาด 12.5 เมกะวัตต์ เป็นโครงการที่ใช้เม็ดพลาสติก HDPE specialty (high density polyethylene) เกรดพิเศษผลิตทุ่นโซลาร์ลอยน้ำ ในอนาคตหวังว่าจะเข้าร่วมประมูลโซลาร์ลอยน้ำ เพื่อซัพพลายเม็ดพลาสติกให้โครงการทุ่นโซลาร์ต่าง ๆ ได้

ลุยยูโร 5-ลงทุนขนส่งทางท่อ

นายนพดลกล่าวว่า ในส่วนธุรกิจต้นน้ำ (อัพสตรีม) คือ โรงกลั่นน้ำมัน มีโครงการพัฒนาสู่มาตรฐานน้ำมันยูโร 5 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2565 ทำให้ครึ่งหนึ่งของน้ำมันดีเซลที่กลั่นได้เลยขายในประเทศไม่ได้ต้องส่งออก ก็มีแผนการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ โดยการเพิ่มช่องทางการขนส่งจากเดิมที่เป็นการขนส่งทางถนนและทางเรือ โดยได้เริ่มเมื่อต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ได้ลงนามความร่วมมือการพัฒนาระบบขนส่งน้ำมันทางท่อ จากโรงกลั่นน้ำมัน IRPC ไปสู่ระบบขนส่งน้ำมันทางท่อของ Thappline จากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ไปทางสระบุรี ขอนแก่น เพื่อขยายไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เชื่อมต่อไปยัง สปป.ลาว กำหนดแล้วเสร็จในปี 2566

ทั้งนี้ผลประกอบการของไออาร์พีซีปี 2562 ที่ผ่านมา ยอดขายอยู่ที่ 216,577 ล้านบาท ลดลง 16% และขาดทุนสุทธิ 1,174 ล้านบาท