“บีโอไอ”ชูสิทธิประโยชน์ลงทุนอีอีซี เล็งออกแพ็กเกจใหม่สิ้นปี ชี้ 500 บ.ญี่ปุ่น สอดรับแผนโรดโชว์ปี 61

เมื่อวันที่ 21 กันยายน ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ หนังสือพิมพ์มติชนจัดสัมมนา ในหัวข้อ “อีอีซี แม่เหล็กเศรษฐกิจไทยเชื่อมโลก” ซึ่งถือเป็นการจัดสัมมนาครั้งที่ 3 ในรอบปีที่หนังสือพิมพ์มติชนก้าวสู่ปีที่ 40

ช่วงการเสวนาเชิงนโยบาย “6 เดือนกับความร่วมมือของภาครัฐ” ดำเนินรายการโดย ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการอีอีซี และร่วมเสวนาโดย นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงคมนาคม รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ การถไฟแห่งประเทศไทย พลเรือตรีวรพล ทองปรีชา ผู้อำนวยการท่าอากาศยานอู่ตะเภา น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) นายวีรพงษ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ตอนนี้ภาคตะวันออกคือพื้นที่ที่มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนที่ยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนอันดับหนึ่ง โดยอุตสาหกรรม 3 อันดับแรกที่ลงทุนในภาคตะวันออก คือ ยานยนต์ เคมีและปิโตรเคมี และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งบทบาทของบีโอไอ ขณะนี้ได้บังคับใช้กฎหมายบีโอไอฉบับใหม่ ที่มีสิทธิประโยชน์สูงสุด คือ เว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่เกิน 13 ปีจากเดิมกฎหมายเก่าอยู่ที่ไม่เกิน 8 ปี โดยกิจการที่จะได้สูงสุด อาทิ กิจการวิจัยและพัฒนา มีเทคโนโลยีขั้นสูง มีความร่วมมือสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย สำหรับบีโอไอกับอีอีซี เพื่อสนับสนุนให้นักลงทุนเข้าลงทุนพื้นที่อีอีซี ซึ่งนักลงทุนที่เข้าลงทุนในพื้นที่อีอีซีนั้น จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมคือลดอัตราภาษี 50% เพิ่มอีก 5 ปีจากสิทธิประโยชน์ที่ได้รับอยู่ โดยมาตรการส่งเสริมลงทุนในอีอีซีจะมีแพ็กเกจใหม่เพื่อทดแทนแพ็กเกจปัจจุบันที่จะหมดอายุสิ้นปีนี้

สำหรับ พ.ร.บ.อีอีซีทีเตรียมเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่ได้ตัดสิทธิจากบีโอไอ แต่กฎหมายอีอีซีจะใช้สิทธิประโยชน์ของบีโอไอและกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันจุดสำคัญของ พ.ร.บ.อีอีซีจะมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อดูแลประชาชน ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญมากที่ทำให้ประชาชนในพื้นที่อีอีซีมีคุณภาพชีวิตที่ดี

“ล่าสุดจากการคุยกับนักลงทุนมั่นใจว่าจะมีนักลงทุนเข้ามาเพิ่มเติมแน่นอน โดยเฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่นที่เดินทางมาไทย 500 บริษัท ซึ่งปีงบประมาณ 2561 เริ่มวันที่ 1 ตุลาคมนี้ มีแผนจะชักจูงการลงทุนหลายจังหวัดในญี่ปุ่น ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวตรงกับจังหวัดเป้าหมายที่บีโอไอจะเข้าไปชักจูงการลงทุน ดังนั้น การมาไทยจะทำให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น ทำให้โอกาสการลงทุนไทยเกิดขึ้นสูงแน่นอน

“ทั้งนี้ประเภทกิจการที่บีโอไอที่ส่งเสริมในอีอีซีไม่ได้มีแค่ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย กิจการประเภทอื่น อาทิ เกษตร การผลิตเทคโนโลยีต่างๆ สามารถยื่นคำขอรับส่งเสริมการลงทุนเพื่อรับสิทธิประโยชน์ได้เช่นกัน”

 

ที่มา : มติชนออนไลน์