GSP สหรัฐ อันดับ 1 ดันส่งออกปี”62 พุ่ง 11.8%

นับถอยหลังอีก 2 เดือน ผลการพิจารณาของสหรัฐที่ตัดสินใจระงับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) กับไทย จะมีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายน 2563 ซึ่งจะทำให้สินค้าไทย 573 รายการ ที่เคยเสียภาษี 0% ต้องกลับไปเสียภาษีนำเข้าอัตราปกติ 4-5% “เสี่ยง” ที่ไทยจะสูญเสียแต้มต่อในการแข่งขันเพื่อส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐ ซึ่งเป็นตลาดหลักของไทย

ในปี 2562 ที่ผ่านมา ไทยส่งออกไปยังตลาดสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 12.7% ของการส่งออกทั้งหมด หรือมีมูลค่า 31,343 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นตลาดที่มีการขยายตัวถึง 11.8% สวนทางกับภาพรวมการส่งออกไทยติดลบ 2.65% สามารถฝ่าแรงเสียดทานปัจจัยลบทั้งบาทแข็งค่า ความร้อนแรงของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนไปได้อย่างน่าสนใจ

ขณะที่การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP ในปี 2562 ที่ไทยยังได้รับสิทธิประโยชน์จาก 4 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ มูลค่าเท่ากับ 5,254.52 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 16.48% คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิ 63.05% ของการส่งออกภาพรวม

โดย “สหรัฐ” ยังเป็นตลาดที่ไทยใช้สิทธิ GSP ในการส่งออกมากที่สุด ด้วยมูลค่าถึง 4,787.07 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 10.20% คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิ 67.00% จากภาพรวมการส่งออกไปสหรัฐทั้งหมด 31,343 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามด้วยสวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐ และนอร์เวย์

สำหรับสินค้าไทยที่ใช้สิทธิ GSP ไปสหรัฐสูงสุด คือ ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่งอื่น ๆ น้ำผลไม้ เลนส์แว่นตา ชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น ซึ่งเป็นผลจากผู้ประกอบการได้รับการยกเว้นภาษีในอัตราเฉลี่ย 4.31% คิดเป็นมูลค่า 176.15 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า หากถูกตัดสิทธิ GSP จะทำให้ไทยสูญเสียแต้มต่อในสินค้าเหล่านี้

ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการระงับ GSP “นายกีรติ รัชโน” อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ได้นำคณะเดินทางไปยังสหรัฐเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพื่อชี้แจงสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) เพื่อพิจารณาทบทวนอีกครั้ง โดยยืนยันว่าไทยได้แก้ปัญหาประเด็นเรื่องแรงงานแล้ว ส่วนการเปิดตลาดสินค้าสุกรก็เป็นไปตามกฎหมายด้านสาธารณสุขที่ต้องปฏิบัติ

อีกด้านหนึ่ง ทางกรมได้เตรียมมาตรการรับมือโดยทำหนังสือสอบถามผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม 1,000 ราย ถึงผลกระทบหากไทยถูกตัดสิทธิจีเอสพี ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบโดยตรง 30 ราย และยังทำหนังสือไปยังสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ด้วย เพื่อรวบรวมข้อมูลพร้อมทั้งหาแนวทางร่วมกัน

ภายใต้ผลการสำรวจเบื้องต้นดังกล่าวพบว่า กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด กลุ่มเซรามิกที่จะต้องกลับไปเสียภาษีอัตราเฉลี่ย 7.7% กลุ่มอาหารแปรรูป อัตรา 6.2% กลุ่มพลาสติก อัตรา 4.8% และกลุ่มเคมีภัณฑ์ อัตรา 4.5% เมื่อหากถูกระงับจีเอสพีจะต้องเสียภาษีในอัตราปกติทันที

แนวทางเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันในการส่งออกระยะยาวนั้น ต้องยอมรับว่า “จีเอสพี” เป็นสิทธิประโยชน์ที่ให้ฝ่ายเดียว ซึ่งเท่ากับว่าจะสามารถตัดสิทธิเมื่อไรก็ได้ การจะสร้างความสามารถในการแข่งขันต้องสร้างจุดแข็งให้สินค้า ซึ่งกรมได้แนะนำให้ผู้ประกอบการปรับตัว และพัฒนาสินค้าให้ดีขึ้น พร้อมทั้งขยายการส่งออกไปยังตลาดอื่น เพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้น

โดยกรมร่วมกับหน่วยงานภายในกระทรวงพาณิชย์ นำผู้ส่งออกไปรุกตลาดที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะตลาดเฉพาะกลุ่ม (niche market) อาทิ เอเชียใต้

พร้อมกันนี้ กรมได้เตรียมมาตรการ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สถาบันการเงิน และขอให้ผู้ประกอบการที่ปรับตัวได้เมื่อครั้งที่สหภาพยุโรปตัดสิทธิจีเอสพีไทยเมื่อปี 2558 หรือญี่ปุ่นที่ได้ตัดสิทธิไปเมื่อมีนาคม 2561 แนะนำกลยุทธ์การนำธุรกิจให้รอดพ้น หลังจากถูกตัดสิทธิ GSP ไปแล้ว

ทั้งหมดนี้ยังคงต้องลุ้นกันไปอีกว่าในปี 2563 นี้ การส่งออกไทยไปยังสหรัฐจะยังรักษาระดับให้อยู่ในแดนบวกได้ต่อไปอีกปีหรือไม่