หวั่นอำนาจเหนือตลาด ดีลรพ.กรุงเทพ-บำรุงราษฎร์ ลุ้นมติบอร์ดแข่งขันการค้า

กขค. ชี้ ดีลรวมกิจการรพ.กรุงเทพ ซื้อหุ้น BH เข้าข่ายต้องขออนุญาต เหตุส่วนแบ่งตลาดเกิน 50% ยอดขายทะลุเกณฑ์ 1,000 ล้านบาท ด้าน BDMS แจ้งตลาด พร้อมรวมกิจการตาม เงื่อนไข กขค.

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ”รายงานว่า กรณีที่ทางบมจ. กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) จะเข้าทําคําเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมด โดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไข (Conditional Voluntary Tender Offer) ในหุ้นทั้งหมดของ บมจ. โรงพยาบาลบํารุงราษฎร์ (BH) และทางบริษัท BDMS แจ้งในหนังสือต่อหลักทรัพย์ ว่าได้รับอนุญาตตามที่กฎหมายกำหนดจากคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ตามพ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 เกี่ยวกับการเข้าซื้อหลักทรัพย์และการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ BH ( ทั้งนี้ในกรณี ที่ กขค.อนุญาตโดยกำหนดเงื่อนไขให้บริษัท ปฏิบัติตาม บริษัท จะต้องรับอนุญาตจากคณะกรรมการบริษัทให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขก่อน)

ล่าสุดนายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ กรรมการการแข่งขันทางการค้า และโฆษกคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.)กล่าวว่า กรณีการรวมธุรกิจของโรงพยาบาลกรุงเทพฯ และบำรุงราษฎร์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ ของประเทศ ต้องได้รับอนุญาตจากกขค.ก่อน ตามหลักการในมาตรา 51 พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ที่กำหนดว่าหากผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 50% และมีรายได้เกินกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี ต้องการรวมธุรกิจต้องขออนุญาตจาก กขค. พร้อมทั้งให้ข้อมูลประกอบการพิจารณาอนุญาต เช่นว่า เหตุผลในรวมคืออะไร หลังควบรวมแล้วโครงสร้าง และส่วนแบ่งตลาดจะเป็นเท่าไร การควบรวมจะมีผลให้เกิดการจำกัดการแข่งขันหรือไม่ เป็นต้น จากนั้น ทาง กขค.จะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาข้อมูลข้อเท็จจริงดังกล่าว โดยจะพิจารณาให้เสร็จภายใน 90 วัน

“ในกรณีนี้ยังไม่มีการแจ้งอนุญาตมา ตามหลักหากทางผู้ประกอบการรายใดที่จะรวมธุรกิจ สามารถขอทราบรายละเอียดหลักเกณฑ์ การรวมธุรกิจ จากสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันฯ ได้ และหากรายได้เข้าเกณฑ์การรวมธุรกิจจะต้องขออนุญาต เช่น รายเดียวมีส่วนแบ่งตลาดเกินกว่า 50% มีรายได้กว่า 1,000 ล้านบาท หรือหากมีส่วนแบ่งตลาดไม่ถึง 50% และมีรายได้ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ก็ให้แจ้งให้กขค.รับทราบ แต่หากดำเนินการรวมธุรกิจโดยไม่รับอนุญาตจะมีความผิดตามกฎหมาย ซึ่งจะมีโทษทางปกครอง กำหนดให้ปรับในอัตราร้อยละ 0.5 ของวงเงินในการธุรกรรม”

รายงานข่าวระบุว่า เหตุผลที่ต้องข้ออนุญาต เพราะหากพิจารณาจากรายได้ในปี 2562 จะพบว่าโรงพยาบาลกรุงเทพ ถือเป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงพยาบาลที่มีรายได้สูงสุด มูลค่า 83,000 ล้านบาท รองลงมา คือ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มูลค่า 18,000 ล้านบาท โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ 8,900 ล้านบาท โรงพยาบาลรามคำแหง 5,500 ล้านบาท โรงพยาบาลวิภาวดี 6,600 ล้านบาท และโรงพยาบาลนนทเวช 2,200 ล้านบาท ถือเป็นเข้าเกณฑ์เป็นผู้ที่มีอำนาจเหนือตลาดมีสัดส่วนเกิน 50% ของตลาดโรงพยาบาลเอกชน และมีรายได้เกินกว่า 1,000 ล้านบาท และเดิมบริษัทถือหุ้นอยู่ 24.99% มีเป้าหมายจะซื้อหุ้นเพิ่มอีก 74% ก็เท่ากับจะมีเสียงส่วนใหญ่ มีอำนาจในการบริหาร ในโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ของประเทศ

“แนวทางการพิจารณาจะดูถึงผลของการดำเนินการรวมธุรกิจเป็นอย่างไร ทำให้จำกัดการแข่งขันหรือไม่ และประโยชน์ที่สังคมหรือบริษัทที่ดำเนินธุรกิจจะได้รับคืออะไร ซึ่งมีความเป็นไปได้ 3 กรณี คือ ไม่อนุญาต อนุญาต หรืออนุญาตแบบมีเงื่อนไข ในกรณีที่พิจารณาอนุญาตแบบมีเงื่อนไข หมายถึง ให้ควบรวมได้ แต่กขค.จะกำหนดเงื่อนไข เช่น บริษัทต้องไม่ทำให้สภาพการแข่งขันลดลง หรือไม่ทำให้ผูกขาดตลาด และไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อภาพรวม สาธารณะชน”