ให้เร่งส่งออกหลัง ‘โควิด’ สงบ ‘จุรินทร์’ ถกทูตอีก 3 เดือนทบทวนเป้า 3%

“จุรินทร์” ระดมสมอง “ทูตพาณิชย์” ฝ่าวิกฤต COVID-19 เร่งปรับกลยุทธ์ผลักดันส่งออกไทยยังยืนกรานเป้าส่งออกโต 3% ไว้เหมือนเดิม แต่จะทบทวนใหม่ในอีก 3 เดือนข้างหน้า พร้อมเร่งทำแผนหลัง COVID สงบ ด้วยการหันทำตลาดออนไลน์ ขณะที่เอกชนแนะ ใบรับรองส่งออกอาหารปลอดเชื้อ จะมีความจำเป็นมาก เพื่อรองรับคำสั่งซื้อของชาวจีนที่จะกลับมาในอนาคต

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานการประชุมเร่งรัดการส่งออก ร่วมกับผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) โดยมี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ว่า รมว.พาณิชย์ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างใกล้ชิด และเตรียมมาตรการหาตลาดรองรับผลไม้ไทยที่กำลังจะออกสู่ตลาดในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า ตลอดจนเร่งแก้ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกในตลาดต่าง ๆ เพื่อผลักดันการส่งออกปี 2563 โดยยังคงเป้าหมายการส่งออกไว้ที่ 3% เหมือนเดิม แต่จะมีการทบทวนเพื่อสถานการณ์ในอีก 3 เดือนนับจากนี้

“ทูตพาณิชย์ประเมินสินค้าที่ยังมีโอกาสส่งออกขยายตัว จะเป็นพวกอาหาร อาหารสำเร็จรูป ข้าว และผลไม้ ในตลาดจีน-สหรัฐ-อินเดีย โดยเฉพาะตลาดฮ่องกง ประชาชนกังวลต่อปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID จนทำให้มีการกักตุนข้าว มีความต้องการเพิ่มขึ้น 10-15%” ทูตพาณิชย์รายงาน

นอกจากนี้ ยังมีการมอบหมายให้อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หารือกับการบินไทย และสายการบินอื่น ๆ เพื่อหาแนวทางในการทำชาร์เตอร์ไฟลต์รวบรวมผลไม้ที่มีราคาสูงส่งออกเข้าไปยังประเทศจีน แทนทางรถและทางเรือที่กระทบ เพื่อให้ทันกับสถานการณ์ผลผลิตที่จะออกมา ขณะที่ตลาดสหรัฐก็ประสบปัญหาเรื่องโลจิสติกส์หลังจากการแพร่ระบาด COVID-19 ทำให้มีสายเรือยกเลิกการเดินทางเข้าสหรัฐประมาณ 80 ลำ และไทยยังต้องเตรียมพร้อมกรณีที่สหรัฐจะตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) สินค้าไทย 573 รายการ ในวันที่ 25 เมษายนนี้ด้วย

ส่วนแผนการนำคณะผู้แทนไทยเดินทางไปเปิดตลาดทั้ง 18 ประเทศที่วางไว้ อาจต้องมีการปรับระยะเวลาตามความเหมาะสม ซึ่งบางตลาดอาจจะต้องมีการเลื่อนกิจกรรมออกไปก่อน เช่น แอฟริกาใต้ ส่วนการจัดกิจกรรมงานแฟร์อยู่ระหว่างการพิจารณา อาจจะต้องเลื่อนบางงานออกไป เช่น งานแสดงสินค้าชิ้นส่วนยานยนต์ (TAPA)

อย่างไรก็ตาม หลังการระบาดของ COVID-19 ผ่านพ้นไปแล้ว ประเทศไทยจะต้องส่งเสริมการทำการ “ตลาดออนไลน์” ในหลายตลาด เช่น แพลตฟอร์ม T-mall สหรัฐจะทำ Top Thai Brand Store ร่วมกับร้าน Amazon.com การดึงอินฟลูเอนเซอร์มาโปรโมตสินค้าอาหารไทย และการส่งเสริมสินค้าไทย เพื่อเข้าไปเติมเต็มซัพพลายเชนให้กับประเทศที่เคยใช้วัตถุดิบจากจีน เช่น อินเดีย ต้องการชิ้นส่วนยานยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้น ไทยควรจัดกิจกรรมนำคณะผู้ส่งออกไปพบผู้นำเข้า

ADVERTISMENT

แหล่งข่าวภาคเอกชนระบุว่า ผลกระทบจากการระบาด COVID-19 แม้ทางจีนแจ้งว่า ระบบการขนส่งและโลจิสติกส์จะกลับมาปฏิบัติการปกติในวันที่ 7 มีนาคมเป็นต้นไป หลังจากพ้นระยะการเฝ้าระวัง โดยขณะนี้ระบบโลจิสติกส์ใช้ได้ 40% ซึ่งภาคเอกชนเสนอว่า ไทยต้องเร่งทำการตลาดเพื่อสร้างการรับรู้สินค้าไทย และให้เตรียมมาตรการรองรับเรื่องมาตรฐานการตรวจสอบ และออกใบรับรองสินค้าปลอดเชื้อ “ซึ่งจะมีความจำเป็นมาก” โดยเฉพาะสินค้าอาหาร อาหารแปรรูป ผักและผลไม้ “กำลังซื้อชาวจีนจะกลับมาเป็นแบบ V shape เพราะคนจีนไม่สามารถออกจากบ้านได้ เงินเดือนที่ได้ไปบวกกับเงินตรุษจีนก็ไม่ได้ใช้ จึงเป็นโอกาสของสินค้าไทย”

ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย มองว่า การส่งออกปีนี้มีโอกาสจะ -1% ถึง -2% แม้จะมีปัจจัยบวกจากบาทอ่อน ขณะเดียวกัน เอกชนเห็นด้วยที่ภาครัฐจะสนับสนุนให้มีการทำความตกลงเอฟทีเอและเอ็มโอยูกับมณฑลต่าง ๆ เพื่อผลักดันการส่งออกต่อไป

ADVERTISMENT