ชาวประมง จี้รัฐแก้ 11 ปม – จ่อขึ้นทะเบียนแรงงาน มี.ค.

คาดปลายมีนาคมนี้ได้ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวทำงานบนเรือประมง เผยชาวประมงจี้รัฐขอเงินกู้เสริมสภาพคล่องหมื่นล้าน ขอวันทำการประมงเพิ่ม รวมทั้งแก้ปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำด่วน

นายมงคล สุขเจริญคณา ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการที่ชาวประมงเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาในการทำประมง 11 ข้อเมื่อปลายเดือนธันวาคมปีที่
ผ่านมา และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เข้ามาดูแลแทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้น

ล่าสุดนายกำจร มงคลตรีลักษณ์ ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยคนใหม่พร้อมคณะกรรมการบริหารสมาคมได้เข้าหารือ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ ประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ที่ได้รับมอบหมายให้แก้ไขปัญหา 11 ข้อเรียกร้องของชาวประมงจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ ถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

นายมงคล กล่าวต่อว่า สำหรับความคืบหน้าในการแก้ปัญหาชาวประมง 11 ข้อ ที่ชาวประมงต้องการเร่งด่วน คือ 1.ปัญหาการขาดแคลนแรงงานบนเรือประมง จะมีการแก้ไขตามมาตรา 83 พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ให้อำนาจอธิบดีกรมประมงขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวทำงานบนเรือประมงได้โดยตรง หลังจากการนำเข้าแรงงานต่างด้าวตามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างรัฐต่อรัฐ หรือระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านไม่ประสบความสำเร็จ โดยจะมีการนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติในวันที่ 4 มีนาคมนี้ จากนั้นจะให้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป คาดว่าจะสามารถดำเนินการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวมาทำงานบนเรือประมงได้ปลายเดือนมีนาคมศกนี้

2.เรื่องการขอเงินกู้มาเสริมสภาพคล่องให้ชาวประมง วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน โดยรัฐจะชดเชยอัตราดอกเบี้ยให้ประมาณ 3% ต่อปี ระยะเวลา 7 ปี  ชาวประมงสามารถนำเรือมาค้ำประกันสินเชื่อได้ลำละไม่เกิน 2 ล้านบาท ไม่เกิน 5 ลำต่อราย

3.ชาวประมงขอวันทำการประมงเพิ่มจากเดิมที่ได้เพียง 7-8 เดือน ทั้งนี้ ที่ผ่านมาภาครัฐอนุญาตให้เรือประมงที่เครื่องมือประมงทำกินไม่ตรงกับที่มีอยู่จริงประมาณ 1,000 ลำ ได้ใบอาชญาบัตรจับปลาด้วย เพราะกฎหมายไม่ได้ห้ามก็ต้องมาพิจารณากันใหม่

4.เรื่องราคาสัตว์น้ำตกต่ำเกือบทุกชนิดกว่า 30-50% เนื่องจากมีการนำเข้าสัตว์น้ำกันจำนวนมาก บุคคลธรรมดาก็นำเข้าได้ ต่อไปภาครัฐต้องออกหลักเกณฑ์เงื่อนไขนำเข้าตามมาตรา 92 พ.ร.ก.การประมง 2558 ว่าต้องรับซื้อสัตว์น้ำจากเรือจับปลาที่ทำประมงถูกกฎหมาย สามารถตรวจสอบย้อนกลับสินค้าได้ว่ามาจากเรือที่ต้องมีระบบ VMS มีการลง log book การจับปลา เพราะเรือประมงไทยเสียเปรียบด้านต้นทุนที่ต้องทำตามกฎหมายอย่างเข้มงวด

5.เรื่องรับซื้อเรือประมงออกจากระบบ ทั้งเรือที่ภาครัฐสั่งยกเลิกการทำประมงและเรือประมงที่ชาวประมงต้องการขายเรือ เพื่อไปประกอบอาชีพอื่น และ 6.ให้ภาครัฐแก้กฎหมายแม่ คือ พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 และกฎหมายลูกที่มีโทษร้ายแรงเกินไปหรือไม่เป็นธรรม เพราะสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวประมงอย่างสาหัสมานานหลายปี


“ทั้งหมดเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ชาวประมงต้องการให้ภาครัฐแก้ไขเร่งด่วน ส่วนเรื่องที่ภาครัฐแก้ไขไปแล้ว อาทิ เรือประมงต่ำกว่า 30 ตันกรอส ไม่ต้องติดระบบ VMS  ซึ่งลดความเดือดร้อนไปได้พอสมควร เนื่องจากเรือที่ติดตั้งอยู่ในปัจจุบันก็ยังมีปัญหาพอสมควร” นายมงคลกล่าว