“จุรินทร์” รับมือราคาผลไม้ดิ่ง ดึง 12 แพลตฟอร์มโลกจับคู่ธุรกิจส่งออก

Photograph: Taylor Weidman/Bloomberg via Getty Images

“จุรินทร์” สั่งเดินเกมเร็ว รับมือ “ราคาผลไม้” ดึงผู้นำเข้าจับคู่ซื้อหาตลาดรองรับล่วงหน้า เชื่อม 12 แพลตฟอร์มโลก พร้อมคิกออฟดึง MOU โมเดิร์นเทรดช่วยกระจายสินค้า 9 มี.ค.นี้ จัดระเบียบล้ง-ชดเชยดอกเบี้ยผู้ส่งออก 1.5 พันล้าน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้เตรียมมาตรการดูแลราคาผลไม้ที่จะออกสู่ตลาด 1-2 เดือนข้างหน้า ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบจากการส่งออกไปยังตลาดจีนสะดุด หลังจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยมอบหมายให้อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ประชุมร่วมกับการบินไทย และสายการบินต่าง ๆ เพื่อพิจารณาแนวทางดำเนินการจัดหาชาร์เตอร์ไฟลต์ ช่วยเหลือผู้ส่งออก ตามที่ได้ประชุมทูตพาณิชย์เมื่อสัปดาห์ก่อน ต้องการดำเนินการรวบรวมผลผลิตและส่งออกผลไม้ไปตลาดต่างประเทศด้วยกัน เพื่อลดปัญหาเรื่องโลจิสติกส์

ล่าสุด นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า กรมได้บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐทั้งภายในและภายนอกกระทรวง จับคู่ธุรกิจสินค้าผลไม้สดและผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูป ระหว่างวันที่ 4-5 มีนาคม 2563 เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้กับผลไม้ของไทยในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก และเพื่อให้ผู้ส่งออกได้มีโอกาสในการขยายตลาดส่งออกใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ รวมทั้งยังทำให้ผู้ซื้อ ผู้นำเข้า ได้รับรู้ถึงภาพลักษณ์และศักยภาพของไทย ในฐานะเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพดี และได้มาตรฐานส่งออก และมีความก้าวหน้าในด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปต่าง ๆ

โดยในวันที่ 4 มีนาคม 2563 นายจุรินทร์ได้เป็นประธานกิจกรรมจับคู่เจรจาการค้าระหว่างผู้ซื้อ ผู้นำเข้า ตัวแทนจำหน่าย 50 บริษัท จากอินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อาเซียน ตะวันออกกลาง สหภาพยุโรป อเมริกา และแอฟริกา กับผู้ประกอบการไทยในกลุ่มสินค้าผลไม้สด ผลไม้แปรรูป และผลิตภัณฑ์เกษตรอื่น ๆ กว่า 80 บริษัททั้งออฟไลน์และออนไลน์

โดยในส่วนของออนไลน์มีแพลตฟอร์มเข้าร่วมมากถึง 12 แพลตฟอร์ม ซึ่งแต่ละแพลตฟอร์มจะมีความเชี่ยวชาญในตลาดที่แตกต่างกันได้แก่ Bigbasket.com (อินเดีย) Tmall(จีน) Jatujakmall (ไทย) CloudCommerce (สหรัฐ ยุโรป และเอเชีย) KlangThai (CLMV) blibli.com (อินโดนีเซีย) JD.com (จีน) Ourshop (AirAsia) (ไทย) The Hub Thailand (ไทย/CLMV) Thailand Post Mart (ไทย) Thaimart (ตะวันออกกลาง) และ Amazon (สิงคโปร์) โดยกรมได้ตั้งเป้ามูลค่าการเจรจาซื้อขายที่จะเกิดจากการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ไว้ ประมาณ 800 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีการลงนามความตกลงทางการค้าระหว่างผู้ส่งออกไทยกับคู่ค้า ได้แก่ ฮ่องกง และสิงคโปร์ 2 ฉบับ รวมมูลค่า 36.5 ล้านเหรียญสหรัฐโดยสิงคโปร์เป็นผลไม้อบแห้ง และฮ่องกง

เป็นผลไม้และผักสด เช่น ทุเรียน ส้มโอ มะม่วง ลำไย สละ มะนาว หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวโพดอ่อน พริก เป็นต้น พร้อมทั้งมีนิทรรศการสินค้าผลไม้ไทย เสริมสร้างภาพลักษณ์ผลไม้มีคุณภาพและได้มาตรฐานส่งออก ส่วนวันที่ 5 มีนาคม 2563 จะเป็นการจัดกิจกรรมเยี่ยมชมสวนผลไม้และสถานประกอบการผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูป ณ จังหวัดชลบุรี และจันทบุรี เพื่อให้ผู้ซื้อ ผู้นำเข้า และผู้จัดจำหน่าย ได้เห็นสถานที่ปลูก สถานที่ผลิตเพื่อแสดงให้เห็นถึงการเป็นผู้ผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานระดับสากล

ด้านนายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ในวันที่ 9 มีนาคมนี้ กระทรวงพาณิชย์จะเป็นผู้จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับห้างค้าปลีกโมเดิร์นเทรดทั่วประเทศ และเตรียมจัดมหกรรมผลไม้ขึ้นทั่วทุกภาค โดยในวันที่ 11 มีนาคม จะคิกออฟโครงการที่ จ.เชียงใหม่ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน ภายในงานจะมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการบริโภคผลไม้ พร้อมกันนี้จะประสานไปยังสายการบินต่าง ๆ ในประเทศให้สามารถขนส่งผลไม้ขึ้นเครื่องบินได้ฟรี 20-30 กก.ต่อคนต่อเที่ยว

โดยจะมีการจัดกล่องบรรจุผลไม้ไว้ให้บริการด้วยขนาด 5-10 กก. และสูงสุดถึง 20 กก. เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนที่ได้รับผลกระทบจากการส่งออกผลไม้ไปจีนชะลอตัวจากปัญหาโควิด-19 ระบาด กระทบการส่งออกและการท่องเที่ยว

“จากการตรวจสอบสถานการณ์ราคาขณะนี้ ผลผลิตทุเรียนยังอยู่เหนือ กก.ละ 100 บาท โดยราคาทุเรียนหมอนทองอยู่ที่ กก.ละ 150 บาท ทุเรียนชะนี กก.ละ 110-120 บาท และทุเรียนกระดุม นกกระจิบราคาก็ยังสูงกว่า กก.ละ 100 บาทแต่นี่เป็นช่วงต้นฤดูประมาทไม่ได้ เราต้องเตรียมทิศทางว่าจะทำอย่างไรเพื่อช่วยเหลือชาวสวน เพราะส่วนหนึ่งส่งออกไปจีนไม่ได้ และนักท่องเที่ยวซึ่งนิยมบริโภคก็ไม่เดินทางเข้ามา แนวทางหลักก็ต้องส่งเสริมการบริโภคในประเทศ”

สำหรับแนวทางดูแลเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากล้งนั้น ขณะนี้กรมการค้าภายในประสานร่วมกับหน่วยงานรัฐบาลจีน จัดทำรายชื่อล้ง เพื่อจัดระเบียบล้งที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม และเอารัดเอาเปรียบเกษตรกร หากพบก็จะรายงานไปที่จีนทันที ส่วนเกษตรกรหรือผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบต้องการส่งออกสินค้าสามารถขอรับความช่วยเหลือจากกรมการค้าภายใน ซึ่งได้จัดโครงการชดเชยดอกเบี้ย 3% ให้กับผู้ส่งออก โดยมีวงเงินชดเชยดอกเบี้ย 1,500 ล้านบาท ทั้งนี้ ผู้สนใจจะต้องมีหลักฐานการกู้เงินจากสถาบันการเงินจริง โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นสถาบันการเงินใด และต้องมีเอกสารแสดงว่ามีการส่งออกจริง

นางสาวสายทอง สร้อยเพชร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ประจำกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย เปิดเผยว่า สคต.มีแผนนำคณะผู้นำเข้าผลไม้เข้าร่วมงานจับคู่ธุรกิจ 5-6 ราย โดยสินค้าผลไม้เป็นสินค้าที่มีโอกาสสูงในตลาดอินเดีย เพราะไทยได้แต้มต่อการลดภาษี 0% สินค้าผลไม้ลำไยมังคุด ทุเรียน ฝรั่ง ตามกรอบความตกลงเขตการค้าไทย-อินเดีย และนักท่องเที่ยวอินเดียที่เดินทางมาประเทศไทยนิยมบริโภคผลไม้ไทยมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มมะพร้าวน้ำหอม

“ลำไย และมังคุดติดตลาดแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงสูงแต่จากระบบการขนส่งที่ค่อนข้างต้องมาตรฐานสูง ในการดูแลผลไม้ทำให้การขนส่งไปมีราคาสูง เช่น มังคุด 500 รูปีต่อแพ็ก ส่วนมะพร้าวยังคงมีภาษีนำเข้า เพราะทางใต้อินเดียมีการปลูกมะพร้าวแต่ไม่ใช่มะพร้าวน้ำหอม จึงมีนักท่องเที่ยวที่เคยเดินทางมาไทยชอบผลไม้นี้”

ส่วนแผนการทำตลาดผลไม้ สคต.จะจัดกิจกรรมส่งเสริมร่วมกับห้างค้าปลีก Reliance ช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. 2563 จำนวน 20 สาขาใน 9 เมือง เช่นเมืองนิวเดลี ชัยปุระ จาติกา อมาริตสา รูเธียน่า เป็นต้น และเตรียมส่งเสริมการขายร่วมกับห้างสเปนเซอร์ และเนเจอร์บาสเก็ตในทางตอนเหนืออินเดีย ช่วง ส.ค.-ก.ย.นี้ เน้นกลุ่มเครื่องปรุง อาหารแปรรูป และผลไม้