รายงาน ‘เวิลด์แบงก์’ ชี้ อัตราความยากจนไทยเพิ่มขึ้น หลังรายได้และการบริโภคภาคครัวเรือนหดตัว

ธนาคารโลก หรือ เวิลด์แบงก์ เปิดเผยรายงานความยากจนและความไม่เท่าเทียมในประเทศไทย ในวันนี้ (5 มี.ค. 2020) พบว่าช่วงระหว่างปี 2015 – 2018 อัตราความยากจนของประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 7.2% สู่ระดับ 9.8% ซึ่งมีสาเหตุมาจากการลดลงของรายได้และการบริโภคของภาคครัวเรือน โดยพบว่ารายได้ของภาคครัวเรือนทั้งจากธุรกิจและการเกษตร ระหว่างช่วงปี 2015 – 2017 มีอัตราการเติบโตที่ติดลบ

ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของอัตราความยากจนในประเทศไทยซึ่งมีสาเหตุมาจากการหดตัวของรายได้และการบริโภคภาคครัวเรือนสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ชะลอตัว โดยพบว่าประเทศไทยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับภูมิภาค ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับการลดความยากจนในประเทศ

นอกจากนี้รายงานยังระบุอีกว่า ในช่วงระยะเวลา 2015-2018 การบริโภคของกลุ่มคนฐานล่าง 40% ของประเทศยังลดลงอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามชนบท ซึ่งนอกจากจะแสดงถึงความเหลื่อมล้ำแล้วยังแสดงถึงความเปราะบางทางเศรษฐกิจของกลุ่มคนฐานล่างของประเทศ โดย “เบอร์กิท ฮาร์นส์” ผู้จัดการเวิลด์แบงก์ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ภาคครัวเรือนของไทยยังมีความเปราะบางต่อภาวะการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ซึ่งการที่ประเทศไทยจะก้าวสู่ประเทศรายได้สูงตามที่ตั้งเป้าไว้นั้น ภาคครัวเรือนต้องมีภูมิคุ้มกันต่อความเสี่ยงที่อาจกระทบต่อรายได้มากกว่านี้”

รายงานของเวิลด์แบงก์กล่าวสรุปว่าอัตราความยากจนที่เพิ่มขึ้นมีสาเหตุมาจากการลดลงของรายได้จากภาคธุรกิจและภาคการเกษตร โดยเวิลด์แบงก์ชี้ว่ามาตรการอุดหนุนจากรัฐบาล เช่น โครงการประชารัฐ เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการลดลงของรายได้ อย่างไรก็ตามมาตรการเหล่านี้อาจส่งผลต่อการพัฒนาผลิตภาพซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศรายได้สูงในระยะยาว

รายงานเน้นย้ำความสำคัญของการพัฒนาด้านทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาลุ่มคนรุ่นใหม่อย่างเท่าเทียมกันทั้งในด้านโอกาสทางการศึกษาและด้านสุขภาพ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มผลิตภาพและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย