“ดร.โกร่ง” ฟันธงเศรษฐกิจ 2020 ต้นปีเผาจริง-ปลายปีเก็บกระดูก

(แฟ้มภาพ) Photo by Mladen ANTONOV / AFP) (Photo by MLADEN ANTONOV/AFP via Getty Images

วีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาเรื่อง “ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจไทย 2020” ที่พรรคเพื่อไทย จัดโดยสถาบันสร้างไทย ว่า ขณะนี้เราอยู่ในวิกฤตการณ์แล้ว ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และกฎหมาย ซึ่งทั้ง 3 อย่างเป็นเหตุให้โครงสร้างเศรษฐกิจ การเมือง กระบวนการยุติธรรมของประเทศพังพินาศเกือบทั้งสิ้น ถือว่าเป็นมหาวิกฤตการณ์

“ส่งออกวูบ-นทท.หาย”

นายวีรพงษ์กล่าวว่า เศรษฐกิจเป็นพื้นฐานของวิกฤตอื่น ๆ ซึ่งวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นนั้น ประเทศไทยต้องพึ่งการส่งออกเป็นหลัก เพราะส่งออกมีมูลค่าสูงถึง 70% ของรายได้ประชาชาติ ดังนั้น ใครที่พูดว่าการส่งออกไม่สำคัญ แสดงว่าไม่เข้าใจโครงสร้างเศรษฐกิจไทย เมื่อได้ยินรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจของรัฐบาลปัจจุบันพูดเหมือนการส่งออกไม่สำคัญ และเราสามารถสร้างความต้องการภายในรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ ถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะถ้าหากประเทศไทยไม่ส่งออก ไม่มีนักท่องเที่ยว รายได้ประชาชาติจะเหลือแค่ 30% ของรายได้ประชาชาติ จะเกิดวิกฤตการณ์อย่างแน่นอน

ศก.ชะงักเพราะรัฐประหาร

ขณะเดียวกันเมื่อมองย้อนกลับไป สถานการณ์วิกฤตมาจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เริ่มจากสหรัฐแล้วเพิ่มไปยังภูมิภาคอื่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ กระทบต่อการส่งออกของประเทศจีน ในระยะหลังประเทศจีนเป็นหัวรถจักรในเศรษฐกิจของภูมิภาคที่ขนานนามว่า จีนเป็น world factory ไม่ผิด เพราะจีนกลายเป็นโรงงานของโลก แล้วสหรัฐ และสหภาพยุโรปกลายเป็นผู้บริโภค การที่จีนเป็นผู้ผลิตส่งผลให้ไทยได้รับประโยชน์อย่างมาก อีกทั้ง 70% ของอุตสาหกรรมในประเทศไทย เป็นสินค้ายี่ห้อญี่ปุ่น แต่เป็นสินค้าไทย รถโตโยต้าเกือบจะ 100% กลายเป็น local content ทำให้ประเทศไทยได้ขยับจากการที่เป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตร และสินค้ากึ่งเกษตร เช่น ข้าว ยาง น้ำตาล กลายเป็นสินค้าอุตสาหกรรมมากขึ้น ไม่ใช่เป็นประเทศที่ด้อยพัฒนาหรือกึ่งพัฒนา แต่เป็นประเทศกึ่งพัฒนาขั้นสูง

“แต่เราโชคร้ายที่มีการรัฐประหาร ที่ถีบให้การเป็นประเทศพัฒนาแล้วต้องหยุดชะงัก ในเวทีการค้าการเจรจาการลงทุนระหว่างประเทศ ผู้นำของเราไม่สามารถเดินทางไปได้ เพราะยังมียศนายพลนำหน้าบนโต๊ะเจรจาประเทศเดียว แม้แต่พม่ายังมียศพลเรือนเป็นส่วนใหญ่แล้ว การที่ระบอบปกครองไม่เหมือนอารยะ เป็นปัจจัยที่ดึง รั้ง ถ่วง ไม่ให้ประเทศไทยก้าวหน้าเหมือนประเทศเจริญแล้ว เดิมเราคิดว่าจะเป็นเสือตัวที่ 5 ในเอเชีย แต่หลังจากปฏิวัติรัฐประหาร ทุกสิ่งชะงักงันล้าหลังไปหมด”

ต่างประเทศไม่คบ ศก.ถดถอย

นายวีรพงษ์กล่าวว่า การที่รัฐบาลทหารคิดว่าระบอบการปกครองไม่มีความสำคัญนั้นไม่จริง การที่ผู้นำไม่สามารถเดินทางไปเจรจาการค้าแบบทวิภาคีกับประเทศต่าง ๆ ได้ ไปได้เฉพาะพหุภาคี เป็นเหตุให้ภาวะเศรษฐกิจของเราอยู่ในภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยลง การส่งออกประสบปัญหา ขณะเดียวกัน รัฐบาลไม่เข้าใจบทบาทอัตราแลกเปลี่ยน ในช่วง 1 ม.ค.-31 ธ.ค. 2562 เงินบาทเป็นสกุลเงินที่แข็งที่สุดในโลก ซึ่งเป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง ที่ไม่ดูแลผู้ส่งออกของเรา ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนมีความสำคัญที่สุด การขยายตัวการส่งออกจึงถดถอยมาเรื่อย ๆ ปัจจุบันมูลค่าการส่งออกของเรากำลังติดลบ

เราเคยหวังพึ่งการท่องเที่ยวที่จะเป็นตัวอุ้มชูเศรษฐกิจ ชดเชยการถดถอยการส่งออกสินค้า ปรากฏว่าเราได้ทำหลายสิ่งที่เป็นลบต่อกิจการการส่งออกของประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศจีน เมื่อมีอุบัติเหตุที่เกาะภูเก็ต ก็พูดจากระทบกระเทือนจิตใจของคนจีน เมื่อมีโรคระบาด เราก็ได้ทำบางอย่างที่กระเทือนใจคนจีน ไม่ตระหนักว่าการท่องเที่ยวนั้น จีนเป็นตลาดที่สำคัญที่สุดของประเทศ และหวังพึ่ง ถ้าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั่งก้นไม่ติดแล้ว ต้องดิ้นรนเจรจาการค้าทุกวิถีทาง ไม่ให้เศรษฐกิจเป็นแบบนี้

แม้เศรษฐกิจโลกเราจะทำอะไรไม่ได้ เพราะเราตามราคาตลาดโลก แต่ความเข้าใจเศรษฐกิจของโลก ความเข้าใจโครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีความสำคัญอย่างยิ่ง ดังนั้น การเป็นผู้นำประเทศที่ดี ต้องหาคนดีมีฝีมือมาใช้

ต้นปีเผาจริง ปลายปีเก็บกระดูก

อดีตรองนายกฯกล่าวว่า ตามสถิติถ้าอยากให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว 4% ค่าเงินบาทต้องอยู่ที่ 33 บาทต่อดอลลาร์ ถ้าให้ขยายตัว 5% เงินบาทต้องอยู่ในระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์ ถ้าเงินบาทอยู่ที่ 30 บาทต่อดอลลาร์ อัตราขยายตัวจะเท่ากับ 0 ดังนั้นจึงเป็นห่วงความไม่รู้เรื่องของทางการมากกว่า

“บวกกับการที่เราคาดการณ์ว่าจะอาศัยการท่องเที่ยวเป็นตัวช่วย เมื่อเกิดโควิด-19 ทุกอย่างผิดพลาดหมด ดังนั้นภาวะเศรษฐกิจปีกลายเผาหลอก ต้นปีนี้เผาจริง และปลายปีจะเก็บกระดูกไปลอยอังคาร ให้เตรียมการไว้ ไม่ใช่ผมไม่ชอบรัฐบาลแล้วมาพูด แต่มาจากตัวเลขและความรู้ที่สะสมมา บางครั้งเศรษฐกิจไม่ได้ฟื้น แต่ฟื้นหน่อยแล้วก็ฟุบลง เป็นฟันปลาเหมือนดัชนีหุ้น เราจะประสบปัญหาแบบนี้ไปหลายปี จากประสบการณ์วัฏจักรการขึ้นลงของเศรษฐกิจจะขึ้นลงทุก ๆ 10 ปี รัฐบาลปัจจุบันเข้ามาก็เริ่มลงมา 5 ปี ดังนั้นน่าจะเหลือ 5 ปี เป็นอย่างน้อยที่เศรษฐกิจเราจะเริ่มฟื้น และสัญญาณจากการฟื้นต้องมาจากต่างประเทศ”

ถ้าพูดถึงความเหลื่อมล้ำให้ถูกต้อง จะต้องลดความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพชีวิต มาตรการการใช้เงินสดแจกเฉย ๆ แต่แจกให้ถึงคนที่ควรได้รับแจก ก็ยังมีชนชั้นกลางที่รายได้สูงกว่าระดับที่จะได้รับแจกเงินจึงไม่ทั่วถึง จึงควรมีมาตรการลดภาษี ระบบสถิติบิ๊กดาต้าต้องให้ละเอียดอย่าให้ซ้ำกัน ถ้าทำอย่างนี้จะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่อยู่ในภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ส่วนการกระตุ้นเศรษฐกิจ ชิม ช้อป ใช้ ไม่มีประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น เป็นปาหี่ หลอกคนในเมือง