ครึ่งทางประกันรายได้ รัฐเท 38,000 ล้าน อุ้มเกษตรกร

Photo by LILLIAN SUWANRUMPHA/AFP via Getty Images

เดินมาครึ่งทางแล้วสำหรับโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตรสำคัญ 5 พืช ได้แก่ ข้าว ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งได้เริ่มนับหนึ่งมาตั้งแต่ปลายปี 2562 จนถึงปัจจุบัน ปรากฏว่ามีเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้แล้ว 2,480,470 ครัวเรือน ได้รับการชดเชยส่วนต่างจากโครงการประกันรายได้ รวม 38,357.56 ล้านบาท คิดเป็น 56.59% ของวงเงินโครงการทั้งหมด 67,778.53 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่า การประกันรายได้เป็นการจ่ายชดเชยส่วนต่างราคาให้เกษตรกรที่ขายผลผลิตได้ในราคาที่ต่ำกว่าราคาประกัน โดย “ไม่เข้าไปแทรกแซงกลไกตลาด” เช่นเดียวกับโครงการรับจำนำในอดีต ซึ่งจากการตรวจสอบสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรทั้ง 5 พืช เปรียบเทียบก่อนและหลังประกันรายได้พบว่า “ราคาพืช 3 ใน 5 ชนิดปรับสูงขึ้นตามกลไกตลาด” โดยปาล์มน้ำมันปรับขึ้น 132.% ข้าวเหนียว 23.% มันสำปะหลัง ปรับขึ้น 9.10% และข้าวโพดปรับขึ้น 1.86% มีเพียงข้าวหอมมะลิที่ราคาลดลง 2.30% และยางแผ่นดิบ ลดลง 12.50%

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยผลการดำเนินการรายสินค้าพบว่า ชาวนาที่มีสิทธิทั้งหมด 4.31 ล้านราย โอนเงินแล้ว 942,345 ราย 19,177.01 ล้านบาท คิดเป็น 91.58% ของงบประมาณ, ปาล์มน้ำมันมีเกษตรกรที่มีสิทธิ 3 แสนราย โอนแล้ว 329,257 ราย 2,770.47 ล้านบาท คิดเป็น 21.31% ของงบประมาณ, ยางพารา มีเกษตรกรที่มีสิทธิ 1.71 ล้านราย โอนเงินแล้ว 1,090,995 ราย 12,715.66 ล้านบาท คิดเป็น 54.17% ของวงเงินรวม, มันสำปะหลัง มีเกษตรกรที่มีสิทธิ 5.2 แสนราย โอนแล้ว 119,324 ราย 3,402.03 ล้านบาท คิดเป็น 36.03% ของวงเงินรวม และเกษตรกรข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีสิทธิ 4.5 แสนราย โอนแล้ว 93,842 ราย 292.39 ล้านบาท คิดเป็น 31.67% ของวงเงินรวม

อย่างไรก็ตาม รัฐไม่เพียงจะดำเนินโครงการประกันรายสินค้าเท่านั้น แต่ยังมีมาตรการคู่ขนานเพื่อดึงราคาสินค้าเกษตรด้วย โดยมาตรการคู่ขนานข้าว ประกอบด้วย การให้เกษตรกรเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางเป็นเวลา 5 เดือน รัฐช่วยค่าเก็บตันละ 1,500 บาท ซึ่งขณะนี้มีผู้ร่วมโครงการ 142,884 ราย กู้แล้ว 9,958.72 ราย คิดเป็นข้าว 950 ตัน ล่าสุดกรมเสนอคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ขยายเป้าหมายอีก 5 แสนตัน เป็น 1.5 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินจาก 10,000 ล้านบาท เป็น 15,000 ล้านบาท พร้อมทั้งให้สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรกู้ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยให้ 3% ไปแล้ว 95 ราย วงเงิน 5,261 ล้านบาท คิดเป็นข้าว 430 ตัน, โรงสี 261 ราย วงเงินสินเชื่อ 66,113 ล้านบาท และเร่งรัดการส่งออก อาทิ จับคู่ซื้อข้าวนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2562-ก.พ. 2563 รวม 156,000 ตัน มูลค่า 3,893 ล้านบาท ทั้งจากฮ่องกง ตุรกี เยอรมนี ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์

ส่วนปาล์มน้ำมันรัฐให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบผลิตไฟฟ้า บังคับใช้น้ำมันไบโอดีเซล บี10 และบี7 และบี20 ในวันที่ 1 มี.ค. 63 การติดตั้งอุปกรณ์ตรวจระดับน้ำมันปาล์มในถัง กำกับดูแลการถ่ายลำผ่านแดน และสนับสนุนส่งออกยางพารานั้น เน้นกำกับดูแลด้านปริมาณการรับซื้อ เพิ่มปริมาณการใช้โดยหน่วยงานภาครัฐ และสนับสนุนวงเงินสินเชื่อ 60,000 ล้านบาท เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนเกษตรกร/ผู้ประกอบการ

ส่วนมันสำปะหลัง เน้นสร้างความเป็นธรรมในการซื้อขาย บริหารจัดการการนำเข้าส่งออก ชดเชยดอกเบี้ย 3% ให้เกษตรกร สถาบันเกษตรกร รวมถึงส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ การใช้เอทานอลในอุตสาหกรรมอื่นนอกจากการผลิตเชื้อเพลิง

ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ภาครัฐกำหนดสัดส่วนให้เอกชนต้องซื้อข้าวโพดในประเทศด้วย 1 ส่วน เพื่อนำเข้า 3 ส่วน ช่วงเดือนก.พ.- ส.ค. ของแต่ละปี การดูแลความเป็นธรรมในการซื้อขาย การแจ้งปริมาณครอบครอง นำเข้า ปริมาณและสถานที่จัดเก็บ รวมถึงเชื่อมโยงการขายผลผลิตให้กับผู้รับซื้อ 5 ล้านบาท และชดเชยดอกเบี้ย 3% ในสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพด วงเงินชดเชย 45 ล้านบาท และให้ผู้ประกอบการค้าข้าวโพดอีก 15 ล้านบาท ในวงเงินสินเชื่อ 1,500 ล้านบาท จากคณะกรรมการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.)

แม้ว่าช่วงครึ่งแรกผ่านไปด้วยดี แต่ครึ่งทางหลัง หาก “ราคาพืช 5 ชนิด” ปรับลดลง รัฐอาจต้องจ่ายชดเชยมากขึ้น ซึ่งหลังจากนี้ต้องจับตาส่งออกของไทยที่อาจจะส่งผลต่อราคาในประเทศ หลังโควิด-19 ทำให้ระบบโลจิสติกส์สะดุดทั่วโลก ก็อาจเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของไทยนับจากนี้