การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจฐานรากถือเป็นภารกิจหลักที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการสร้างแผนงานบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อเร่งกระตุ้นให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยมีหลักการในการดำเนินการ คือ ดูแลและยกระดับประชาชนผู้มีรายได้น้อยให้มีความเข้มแข็ง เพื่อลดปัญหาความยากจนของประชาชน ให้ประชาชนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนจะลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 10
ล่าสุด นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า หลังจากพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 โดยมีวงเงินงบประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท เป็นงบประมาณของกระทรวงเกษตรฯวงเงินรวม 109,113 ล้านบาท
แยกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบุคลากรภาครัฐ 25,536 ล้านบาท 2) กลุ่มงบประมาณรายจ่ายของกระทรวง/หน่วยงาน (function) 32,667 ล้านบาท 3) กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ (agenda) 14 แผนงาน กษ. เกี่ยวข้อง รวม 8 แผนงาน วงเงินรวม 42,996 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่อยู่ที่แผนงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ วงเงิน 41,033 ล้านบาท และ 4) กลุ่มงบประมาณรายจ่ายพื้นที่ (area) วงเงิน 7,914 ล้านบาท
สำหรับ “แผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก” ซึ่งเป็น 1 ใน 14 แผนงานบูรณาการ มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ และสศก.เป็นเจ้าภาพ ผ่านการบูรณาการร่วมกัน 6 กระทรวง 24 หน่วยงาน งบประมาณรวม 3,018 ล้านบาท
นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการ สศก. กล่าวว่า แผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก กำหนดแนวทางดำเนินงานให้ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อุปทาน ประกอบด้วย
1.พัฒนาศักยภาพประชาชนกลุ่มเป้าหมาย (ต้นทาง) เพื่อให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายเข้าถึงแหล่งทุนและที่ดินทำกินไม่น้อยกว่า 200,000 ราย จัดที่ดินให้แก่เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินทั้ง 72 จังหวัด ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากด้วยกองทุนชุมชน เพื่อให้สมาชิกกู้ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกินกฎหมายกำหนด เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ ลด ปลด หมดหนี้
พร้อมทั้งพัฒนาและส่งเสริมอาชีพไม่น้อยกว่า 500,000 ราย พัฒนาองค์ความรู้ผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร พัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง ส่งเสริมและสร้างทักษะอาชีพทั้งในและนอกภาคเกษตร เป็นต้น
2.พัฒนาความเข้มแข็งของกลุ่มและผลิตภัณฑ์ชุมชน (กลางทาง) ประกอบด้วย พัฒนากลุ่มเกษตรกร 1,900 กลุ่ม พัฒนาผู้ประกอบการ 24,800 ราย ในการผลิตสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ OTOP และพัฒนาผลิตภัณฑ์ 5,900 ผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตรในระดับชุมชน และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาสร้างสรรค์
3.พัฒนาระบบบริหารจัดการและกลไกการตลาด (ปลายทาง) เพื่อเพิ่มรายได้จากการจำหน่ายสินค้าชุมชนร้อยละ 10 โดยส่งเสริมการพัฒนาระบบตลาดภายในสำหรับสินค้าเกษตร พัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และธุรกิจชุมชน สร้างศักยภาพผู้ประกอบการค้าส่ง ค้าปลีก การค้าธุรกิจชุมชน ตลาดออนไลน์ พัฒนาระบบประกันภัย และติดตามประเมินผลการดำเนินงาน
เป้าหมายการดำเนินการครั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ เน้นขับเคลื่อนภารกิจต่างๆ เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี รายได้สุทธิทางการเกษตรเพิ่มขึ้น สถาบันเกษตรกรมีความเข้มแข็ง มีความสามารถในการดำเนินธุรกิจ สินค้าเกษตรได้รับการยกระดับคุณภาพมาตรฐาน และสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งทรัพยากรการเกษตรมีการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม ได้รับการอนุรักษ์ปรับปรุงและฟื้นฟูให้เกิดความสมดุลอย่างยั่งยืน