7 จังหวัดทั่วไทย-ภาคตะวันออก EEC ยังแล้งหนัก รัฐบีบ “อีสท์ วอเตอร์” ช่วยหาน้ำเพิ่มอีก 14 ล้านลบ.ม.

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ติดตามความก้าวหน้าโครงการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำปี 62/63 เร่งรัดหน่วยงานที่ได้รับจัดสรรงบกลางให้ดำเนินการโดยเร็วตามแผนงานที่วางไว้ พร้อมหารือมาตรการหาแหล่งน้ำต้นทุนและนำน้ำจากแหล่งน้ำเอกชนเข้าสู่ระบบลดความเสี่ยงขาดแคลนน้ำพื้นที่ EEC ทั้งยังยืนยันจัดส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกให้ทุ่งบางระกำ 1 เม.ย. 63

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ครั้งที่ 5/2563 ว่า ที่ประชุมวันนี้ (6 มีนาคม 2563) ได้มีการติดตามผลการสำรวจพื้นที่ประสบภัยแล้ง และการให้ความช่วยเหลือน้ำแล้ง ปี 2563 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ได้มีการดำเนินการสำรวจและวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค พบพื้นที่ประกาศเขตฯ ให้ความช่วยเหลือภัยแล้ง จำนวน 22 จังหวัด

โดยแบ่งเป็นพื้นที่ขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค จำนวน 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์ นครราชสีมา ชัยภูมิ ศรีษะเกษ เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี อุทัยธานี โดยขณะนี้มีหน่วยงานลงพื้นที่เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาแล้ว เช่นเดียวกับพื้นที่สวนผลไม้เสี่ยงขาดแคลนน้ำ ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือโดยการสูบน้ำ และเจาะบ่อบาดาลเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ยังเร่งรัดโครงการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2562/63 ของ หน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบกลาง โดยขณะนี้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และกองทัพบก ได้ดำเนินการขุดเจาะบ่อบาดาลในพื้นที่ที่ได้รับมอบหมายไปแล้วกว่า 40 แห่ง และ 80 แห่ง ตามลำดับ และในส่วนของแผนงาน/โครงการ ที่เหลือ ก็กำลังเข้าสู่กระบวนการขับเคลื่อนอย่างเต็มรูปแบบ ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบของท้องถิ่น เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ตรงกับพื้นที่ที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งนี้

สำหรับ ภาคตะวันออก โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ที่มีมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหลักไม่เพียงพอกับความต้องการ จึงมีความจำเป็นต้องมีการนำน้ำจากจังหวัดใกล้เคียงมาเสริมในระบบเครือข่ายอ่างเก็บน้ำของพื้นที่ EEC โดย สทนช. ได้บูรณาการหน่วยงานต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาโดยได้พิจารณาแบ่งปันน้ำมา จากอ่างเก็บน้ำประแกด จังหวัดจันทบุรี มาเติมให้อ่างเก็บน้ำประแสร์จำนวน 10 ล้านลูกบาศก์เมตร (เริ่มสูบผันน้ำตั้งแต่ 1 มีนาคม – 25 มีนาคม 2563) ซึ่งจะทำให้อ่างเก็บน้ำประแสร์มีปริมาณน้ำเพียงพอที่สนับสนุนพื้นที่การเกษตรและส่งน้ำไปช่วย 3 อ่างเก็บน้ำ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และอ่างเก็บน้ำดอกกราย (ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวมกันเพียง 38 ล้านลูกบาศก์เมตร) และจะทำให้สามารถส่งน้ำให้ภาคอุตสาหกรรมและอุปโภค-บริโภค ในเขตจังหวัดระยองได้จนถึง 30 มิถุนายน 2563

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของพื้นที่จังหวัดชลบุรี ที่ปัจจุบันใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำบางพระ อ่างเก็บน้ำหนองค้อ และอ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทรฯ เพื่อให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำสามารถใช้ได้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 เช่นเดียวกัน จึงต้องปรับลดการจ่ายน้ำให้กับบริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์ วอเตอร์

ดังนั้น ที่ประชุมจึงได้ร่วมหารือกับกรมชลประทานและอีสท์ วอเตอร์ ถึงมาตรการในการเร่งหาแหล่งน้ำต้นทุนเพิ่มเติมจากแหล่งน้ำเอกชนอีก 14 ล้านลูกบาศก์เมตร เข้ามาในระบบเครือข่ายอ่างเก็บน้ำเพื่อทดแทนกับปริมาณน้ำที่ไม่สามารถสูบใช้ได้จากอ่างเก็บน้ำบางพระของกรมชลประทาน

นายสมเกียรติกล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการเจรจากับเอกชนเจ้าของแหล่งน้ำดังกล่าว ในส่วนพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ใช้น้ำจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาเข้ามาเสริมในระบบประปาฝั่งขวาของแม่น้ำบางปะกง ส่วนฝั่งซ้ายของแม่น้ำนั้นใช้น้ำจากอ่างคลองสียัดและอ่างคลองระบมเป็นหลัก ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 รัฐบาลได้อนุมัติงบกลางเพิ่มเติมในการดำเนินการวางระบบประปาหนองกลางดง-พัทยา จังหวัดชลบุรี ใช้เวลาในการดำเนินการ 120 วัน

“วันนี้ มี 2 เรื่อง ที่กังวล ไม่ว่าจะเป็น ภาคตะวันออก ต้องเจรจาซื้อน้ำเอกชนเพิ่ม และเรื่องของการติดตามงานงบกลาง โครงการขุดบ่อ 1,000 กว่าแห่งที่ยังล่าช้า ตอนนี้อยู่ที่150บ่อเท่านั้น รวมถึงงบประมาณใหม่ 10,000 กว่าล้าน จะให้ท้องถิ่นกับมหาดไทยตรวจสอบเพื่อเร่งรัด รวมถึงบ่ายนี้ (6มี.ค.) จะมีการประชุมน้ำอีอีซีกับรองนายก เพราะแล้งนี้น้ำตะวันออกยังขาด120 ล้านลบ.ม. คาดว่าพ.ค.กว่าฝนจะมา ต้องยอมรับว่าปัญหาก่อนหน้านี้โรงงานมีการใช้น้ำเกินแผน แม้ปัจจุบันใช้น้ำลดลงตามความร่วมมือ” นายสมเกียรติกล่าว

สำหรับภาคกลางและลุ่มเจ้าพระยา ได้การเตรียมส่งน้ำให้พื้นที่ทุ่งบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก จำนวน 265,000 ไร่ ซึ่งจะมีการจัดสรรน้ำจากเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก และเขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ประมาณ 300 ล้านลูกบาศก์เมตรเพื่อเริ่มการเพาะปลูกข้าวนาปี ในวันที่ 1 เมษายน 2563 เช่นเดียวกับทุกปีที่ผ่านมา เพื่อช่วยให้สามารถเก็บเกี่ยวได้ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมนี้ และใช้เป็นพื้นที่แก้มลิงรองรับน้ำหลากในช่วงดือนกันยายนถึงตุลาคมต่อไป