“บอร์ดอีอีซี” เปิดแผนน้ำยันพอใช้ พร้อมเสนอ ก.พลังงาน บรรจุแผนจัดหาพลังงานแสงอาทิตย์เข้า PDP

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 1/2563 ซึ่งมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการ กพอ. เป็นประธานได้พิจารณารับทราบถึง แผนบริหารจัดการน้ำในอีอีซี โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งทั้งระยะสั้นและระยะยาว

แผนระยะสั้น 3 มาตรการเร่งด่วน จะเพิ่มปริมาณน้ำในพื้นที่อีอีซี ด้วย 1.โครงการสูบน้ำกลับคลองสะพาน มายังอ่างเก็บน้ำประแสร์ คาดว่าจะมีปริมาณน้ำ 1.5 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดย East Water ประสานกับกรมชลประทาน เร่งดำเนินการ

2.โครงการผันน้ำคลองหลวง มายังอ่างเก็บน้ำบางพระ คาดว่าจะมีปริมาณน้ำ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยกรมชลประทาน เร่งดำเนินการ

4.โครงการผันน้ำจากลุ่มน้ำวังโตนด จ.จันทบุรี มายังอ่างเก็บน้ำประแสร์ คาดว่าจะมีปริมาณน้ำ 10–35 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งกรมชลประทาน และคณะกรรมการลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำวังโตนดได้ลงนาม MOU เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 สามารถเริ่มผันน้ำ 4.3 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา

ส่วนมาตรการเสริม เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีน้ำเพียงพอ คือ 1.ขอให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) จัดทำแผนลดใช้น้ำ 10% ช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน 2563

2.โครงการเจรจาซื้อน้ำจากบ่อดินเอกชน เข้าระบบจังหวัดชลบุรี และฉะเชิงเทรา คาดว่าจะมีปริมาณน้ำ 16 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยการประปาภูมิภาค ประสานกับ East Water เร่งดำเนินการ

3.โครงการสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ มายังหนองปลาไหล สามารถผันน้ำ 1 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยกรมชลประทาน ดำเนินการแล้วเสร็จ 28 กุมภาพันธ์ 2563

4.โครงการวางท่อคลองน้ำแดง เพิ่มการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ มาอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ คาดว่าจะมีปริมาณน้ำ 1.3 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดย East Water ประสานกับกรมชลประทานเร่งดำเนินการ

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบเรื่องที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ พิจารณาข้อเสนอซองที่ 3 (ด้านราคา) จากเอกชนที่ผ่านข้อเสนอซองที่ 2 (ด้านเทคนิค) ทั้ง 3 ราย และมีมติให้กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ที่เสนอเงินประกันรายได้เป็นผลตอบแทนให้ภาครัฐสูงที่สุด เป็นผู้ได้รับการคัดเลือก และเข้าสู่กระบวนการเจรจา เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563 ทั้งนี้ การเจรจาจะได้ข้อสรุปภายในเดือนมีนาคม 2563 และสามารถเสนอร่างสัญญาที่สำนักงานอัยการสูงสุด พิจารณาให้ สกพอ. และ ครม. พิจารณาเมษายน 2563 นี้

และยังเห็นชอบหลักการโครงการจัดหาพลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) ในพื้นที่อีอีซี โดยมอบหมายให้ สกพอ. เสนอกระทรวงพลังงาน นำเข้าบรรจุในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หารือกับกระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำหนดอัตราราคาไฟฟ้าที่เหมาะสม