‘กยท.’ หวั่นออร์เดอร์ส่งออกยางไปจีนวูบ 2 ล้านตัน

โควิด-19 พ่นพิษหนัก กยท.หวั่นใจออร์เดอร์จีนวูบ 50% ทุบน้ำยางส่งไปจีนชะงัก 2 ล้านตัน ฉุดราคาน้ำยางลง เร่งสปีดหน่วยงานรัฐใช้ยาง ล่าสุดดึง รพ.รามาธิบดี เอ็มโอยูปั๊มอุปกรณ์การแพทย์แปรรูปจากยาง

นายขจรจักษณ์ นวลพรหมสกุล รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงส่งผลให้ตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดหลักเลื่อนชิปเมนต์ส่งมอบยางออกไปก่อนในขณะนี้ และแรงงานที่อยู่ในภาคโลจิสติกส์และอุตสาหกรรมยางพารายังไม่สามารถเข้าปฏิบัติงานที่โรงงานได้เต็มที่ ปีนี้จึงอาจจะล่าช้า อย่างไรก็ตาม คาดว่าช่วงเดือนมีนาคมนี้น่าจะคลี่คลายดีขึ้น เพราะจีนเริ่มควบคุมสถานการณ์ได้ 

แผนการรักษาเสถียรภาพราคายางพารา ในปีงบประมาณ 2563 ทาง กยท.ยังดำเนินนโยบายเพิ่มการใช้ยางพาราภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยาง และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ลดผลกระทบต่อราคายางพาราในประเทศ 

“ปี 2563 กยท.ตั้งเป้าหมายว่าจะมีการใช้ยางพาราในประเทศ 300,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ตั้งเป้าหมายไว้ 160,000 ตัน และมีการใช้ยางพาราจริงประมาณ 140,000 ตัน คาดว่าจะมีการใช้เพิ่มขึ้นจากการสร้างถนน และหน่วยงานนำยางแปรรูปผลิตภัณฑ์ โดยจะมีงบฯการวิจัยและพัฒนา 400 ล้านบาท”

นางณพรัตน์ วิชิตชลชัย รองผู้ว่าการ กยท. ด้านอุตสาหกรรมยางและการผลิตยาง เปิดเผยว่า ราคายางพาราในปัจจุบันยังทรงตัว เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว และเข้าสู่ช่วงปิดการกรีดยาง รวมทั้งผลจากโรคใบด่างส่งผลให้ผลผลิตลดลงและยังได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ออร์เดอร์จากจีนหยุดชะงัก โดยปกติจีนมีการสั่งออร์เดอร์น้ำยางสดจากไทยกว่า 50% ของปริมาณน้ำยางทั้งหมดในประเทศ หรือออร์เดอร์หายไปประมาณ 2 ล้านตัน ดังนั้น กยท.จึงต้องเร่งผลักดันการใช้ยางในประเทศจากการสร้างถนน สร้างถนนพาราซอยล์ซีเมนต์และหน่วยงานนำยางแปรรูปผลิตภัณฑ์ 

นายประพันธ์ บุญยเกียรติ ประธานคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า ล่าสุดได้บันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ด้านการวิจัยและพัฒนา ระหว่าง กยท.กับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อพัฒนาแบบจำลองสื่อการเรียนการสอนทางการแพทย์จากยางพาราแปรรูปที่เป็นประโยชน์ต่อนักวิจัยในการพัฒนาวิจัย ทดแทนการนำเข้า และเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับยางพารา ในระยะเวลา 3 ปี  

ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันมีการใช้ยาง เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทางการแพทย์เพียง 15-17% ของปริมาณยางทั้งหมดทั่วประเทศเท่านั้น แต่หลังจากนี้จะมีการลดการนำเข้าอุปกรณ์ที่ทำจากยางพารา เพราะมีราคาสูงมากกว่า 40 เท่ามาทำอุปกรณ์แพทย์ที่ผลิตภายในประเทศซึ่งมีต้นทุนการผลิตต่อชิ้น ประมาณ 15,000 บาทต่อชิ้นเท่านั้น

รายงานจาก กยท.ระบุว่า ขณะนี้ระดับราคาน้ำยางสด ณ วันที่ 4 มี.ค. 2563 อยู่ที่ กก.ละ 42.80 บาท จากเดือนก่อนหน้า (3 ก.พ.) อยู่ที่ กก.ละ 39.80 บาท ส่วนราคาเอฟโอบีอยู่ที่ กก.ละ 50.55 บาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่เคยอยู่ที่ กก.ละ 47 บาท 

ไทยมีการส่งออกยางพาราในเดือนมกราคม 2563 ปริมาณ 296,348 ตัน เพิ่มขึ้น 0.94% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีมูลค่า 388 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 12.02%