ซีอีโอ TU จุดพลุสตาร์ตอัพ บ่มเพาะ ‘7FoodTech’ ส่งลงสนามพิตชิ่ง

เป็นที่ทราบกันดีว่ารัฐบาลมุ่งส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมและสตาร์ตอัพอย่างต่อเนื่อง สร้างความคึกคักในตลาดสตาร์ตอัพเมืองไทยไม่น้อย  

ล่าสุด “นายธีรพงศ์ จันศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือทียู บิ๊กธุรกิจทูน่าระดับอินเตอร์ของไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ในโอกาสที่ออกโรงนำสตาร์ตอัพที่บ่มเพาะตามโครงการสเปซ-เอฟ (Space-F) มาอวด
โฉมต่อนักลงทุน (pitching) ครั้งแรกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

แผนการต่อยอดสตาร์ตอัพ

สเปซ-เอฟ เราตั้งขึ้นร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยมหิดล ต้องการสร้างแพลตฟอร์ม
สตาร์ตอัพมาใช้ สร้างอีโคซิสเต็มไม่ว่าจะเป็นสถานที่เครื่องมือ อุปกรณ์ ความรู้ในการบริหารจัดการ รวมถึงการหานักลงทุนเข้ามาร่วม นี่จึงเป็นการคิกออฟในแบตแรก จาก 200 บริษัทที่สมัครเข้าร่วมคัดเลือกชุดแรกเหลือ 23 บริษัททั้งในประเทศและต่างประเทศ 

“เราต้องการสร้างความสนใจให้กับเอกชนรายอื่น ๆ เข้ามาร่วมด้วย ก็ถือว่าประสบความสำเร็จมีมาร่วมถึง 150 คน แต่ด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เราจึงจัดทั้งแบบมานำเสนอเอง และแบบทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพราะจะเลื่อนไม่ได้แต่ละบริษัทก็ต้องการที่จะลงทุน” 

แพลตฟอร์มแบบนี้จะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อเราเปิดให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วม   และต้องตระหนักถึงความสำคัญการมี
อินโนเวชั่นซึ่งในวันนี้เป็นวิธีการคิดใหม่ที่จะต้องคอลลาบอเรชั่น (collaboration) ไม่เหมือนความคิดเก่าที่ต้องปิด ๆ แต่ความรู้ต้องแชริ่ง เป็นแนวคิดใหม่ที่ต้องการให้คนสร้างองค์ความรู้ให้มากขึ้น และสร้างโอกาสให้สตาร์ตอัพให้เป็นตัวอย่างของความสำเร็จในการสร้าง deep food tech จากที่ได้ยินแต่เรื่อง FinTech ซึ่งเรื่องนี้ยากและต้องใช้พลังเยอะ  ไทยยูเนี่ยนหวังจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้าง new S-curve มิติใหม่

 “โปรตีนทางเลือก” เทรนด์โลก

เทรนด์ของโลกขณะนี้ให้ความสนใจเรื่อง alternative protein (โปรตีนทางเลือก) ทั้ง plant base, insect base มีเรื่อง health และ medical เกิดขึ้น และประเทศไทยมีจุดแข็งที่เราเป็นผู้ผลิตอาหารรายหนึ่งของโลก ฉะนั้น บริษัทสตาร์ตอัพเหล่านี้จึงต้องการหาความร่วมมือกับ strategic partner กับไทยด้วย บางรายต้องการตั้งบริษัทในไทยเลย เขาไม่ได้มาเพราะเงิน เราไม่ได้มีเงินมากกว่าคนอื่น แต่เขามาเพราะทรัพยากรธรรมชาติและวัตถุดิบ อุตสาหกรรมอาหารที่เข้มแข็ง และมีตลาดทั่วโลก 

แผนลงทุนสตาร์ทอัพที่สนใจ 

เป้าหมายเราต้องการให้บริษัทต่าง ๆ เข้ามาร่วม  ส่วนประโยชน์ของเราคือ ได้มีโอกาสได้เข้าถึงองค์ความรู้มากขึ้น ได้เห็นสตาร์ตอัพมากขึ้น มีโอกาสที่จะศึกษาและดึงมาใช้ในบริษัทได้เช่นกัน 

กลุ่มอินเซค โปรตีน (โปรตีนจากแมลง) เป็นตัวหนึ่งที่เราสนใจ เพราะทียูผลิตทั้งอาหารมนุษย์ และอาหารสัตว์ สามารถนำมาแอปพลายใช้ได้ นอกจากนี้ ก็สนใจหลายตัว เช่นเทคโนโลยีที่ใช้ในระบบฟาร์มกุ้ง แต่เราก็ต้องเลือกการลงทุนให้ดี เนื่องจากเราเป็นผู้ช่วยก่อตั้ง เราจะไม่ได้มองเฉพาะเรื่องการลงทุน แต่เรายังมีหน้าที่ทำให้สตาร์ตอัพเหล่านี้ยืนขึ้นได้ ด้วยการช่วยสร้างองค์ความรู้ โค้ชชิ่ง เหมือนพี่ช่วยน้องมากกว่า 

ภาพสตาร์ตอัพใน 3-5 ปีข้างหน้า

“ผมคิดว่านี่คิดจุดเริ่มต้น เมื่อเกิดความสำเร็จขึ้นแล้ว จะนำไปสู่การค้นพบสตาร์ตอัพใหม่ ๆ มากขึ้น และที่สำคัญ จะก่อให้เกิดการยอมรับว่าประเทศไทยมี ecosystem ที่ดีพอที่จะสนับสนุนสตาร์ตอัพ โดยเฉพาะในกลุ่มอาหาร จุดนี้หวังว่า จะเป็นตัวดึงดูดสตาร์ตอัพใหม่ ๆ เข้าหาเรามากยิ่งขึ้น เพราะไทยต้องการสร้างเทคโนโลยีต่าง ๆ มาพัฒนา นี่จึงไม่ใช่แค่จะจุดประกายแต่เราจะทำให้เห็นเลย ทำอย่างจริงจังต่อเนื่องด้วย” 

ภาครัฐหนุน-กองทุนนวัตกรรม

สำนักงานนวัตกรรมช่วยสม่ำเสมออยู่แล้ว และถ้ากองทุนนวัตกรรมที่มีอยู่ สามารถนำมาใช้ช่วยให้เกิดการพัฒนาสตาร์ตอัพมากยิ่งขึ้น อันนั้นก็จะยิ่งทำให้เกิดประโยชน์เร็วและมากขึ้นด้วย ซึ่งภาครัฐช่วยได้ทั้งเรื่องเงิน กฎระเบียบ กฎหมาย เช่น ถ้าสตาร์ตอัพจะมาจดทะเบียนในไทยรัฐอาจจะช่วยอำนวยความสะดวกให้เร็วขึ้น 

 สตาร์ตอัพไทยยังแพ้สิงคโปร์

ถ้าทำจริง เราก็พัฒนาได้เช่นเดียวกัน ภาครัฐอาจไม่ได้วางสตรักเจอร์มาสำหรับธุรกิจแนวใหม่ขนาดนี้ ก็ต้องเกิดการเรียนรู้และปรับตัวเพื่อรองรับ กระทรวงการอุดมศึกษาฯ โดยท่าน รมต.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ได้จัดคณะทำงานมาดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว และรองนายกฯสมคิด มีนโยบายชัดเจนในการผลักดันนวัตกรรมเพื่อหา new S-curve มาตลอด 

 สตาร์ตอัพ TU-อิสราเอล

เราลงทุนร่วมกับสตาร์ตอัพโปรตีนแมลงจากอิสราเอลไปแล้ว อยู่ระหว่างตั้งโรงงานในที่ จ.สมุทรสาคร ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น คือ การลงทุนและองค์ความรู้จะอยู่ในประเทศไทย แต่สเกลยังเล็กอยู่ในจุดเริ่มต้น ซึ่งเราเพียงเข้าไปถือหุ้นส่วนน้อยไม่ใช่การเข้าไปคอนโทรล จะเริ่มทดลองทำและนำโปรตีนเหล่านี้ไปขายในเครือข่ายของเราก่อน เพื่อดูว่าผลตอบรับจะเป็นอย่างไร