“จุรินทร์” สั่งตรวจสอบเคสกักตุนหน้ากากอนามัย 200 ล้านชิ้น หากผิดดำเนินคดีทันที

“จุรินทร์” สั่งกรมการค้าภายในเข้าตรวจสอบกรณีขายหน้ากาก 200 ล้านชิ้น หากพบกระทำผิดสามารถดำเนินคดีตามกฎหมายได้ทันที พร้อมตอบกระแสสมาคมร้านขายยาไม่ได้หน้ากากด้วย กระทรวงพาณิชย์ยันพร้อมกระจายหน้ากากให้เพียงพอ และปรับสัดส่วนการกระจายตามความต้องกา

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีที่มีการกักตุนหน้ากากอนามัย 200 ล้านชิ้น และขายใน 14 บาท ซึ่งเป็นคนใกล้ชิดทีมงานของรัฐมนตรีนั้น ว่า เบื้องต้นได้สั่งการให้กรมการค้าภายในเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จที่เกิดขึ้นแล้ว ทั้งนี้ ยังไม่ทราบรายละเอียด เพราะยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลว่ามีการกักตุนจริงหรือไม่และที่ไหน แต่หากใครมีเบาะแสที่ชัดเจนและตรวจสอบพบว่าจริง สามารถแจ้งมายังกรมการค้าภายในได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการร้องเรียนปัญหาเข้ามามาก โดยเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปตรวจสอบและจับกุมเกือบทุกวัน และยืนยันว่าจะดำเนินการเป็นไปตามข้อกฎหมาย โดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ หากมีการกระทำความผิดจริง

ด้าน วิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า กรณีดังกล่าวนั้นได้ส่งทีมงานเข้าไปตรวจสอบตั้งแต่เช้า หลังจากที่มีกระแสข่าวเกิดขึ้น เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น แต่อยากให้สังคมพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ โดยเฉพาะเรื่องของการซื้อหน้ากากอนามัย อีกทั้งการออกมาโพสต์ขายหน้ากากอนามัยแล้วบอกว่ามี 200 ล้านชิ้น แต่กำลังการผลิตต่อวันของไทยแค่ 1.2 ล้านชิ้น หากมีในปริมาณดังกล่าวเท่ากับว่าจะต้องมีการสต๊อกสินค้าที่ผลิตมากกว่า 1 ปี ถึงจะมีสต๊อกดังกล่าวได้จำนวน 200 ล้านชิ้น นอกจากนี้ ยังพบว่าบางครั้งการโพสต์ขายสินค้าบางทีไม่มีสินค้าจริง เพราะกรมฯมีการตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย และหากมีการนำเข้าสินค้าพบว่าคุณภาพไม่ได้ตรงที่ต้องการ ซึ่งนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม จึงมองว่าต้องตรวจสอบอย่างละเอียด

นอกจากนี้ สำหรับกรณีสมาคมร้านขายยาไม่ได้รับหน้ากากอนามัยนั้น เบื้องต้นที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้มีการประชุมหารือร่วมทุกหน่วยงาน รวมถึงสมาคมดังกล่าวด้วย ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วจำนวนที่ต้องการอยู่ที่ 25,000 ชิ้นต่อวัน ส่วนการจัดส่งหรือกระจายนั้นเป็นหน้าที่ระหว่างโรงงานและร้านขายยาที่ดำเนินการกันโดยตรง ซึ่งกรมฯ เป็นเพียงจัดสรรเรื่องของตัวเลข แต่การจัดส่ง สั่งซื้อ เป็นการดำเนินการระหว่างกันและตามกฎหมายไม่ได้รองรับเนื่องการซื้อ-ขายระหว่างโรงงานกับสมาคมร้านขายยา แต่เป็นการซื้อ-ขายระหว่างร้านขายยาและโรงงาน ดังนั้น กรณีที่เป็นกระแสนั้นอาจจะมีการสื่อสารที่ขาดเคลื่อนได้ เพราะอย่างไรก็ดี กรมฯจะจัดสรรให้หน่วยงานที่ต้องการและให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นอยู่แล้ว ส่วนกรณีของโรงพยาบบาลทุกสังกัด กระทรวงสาธารณสุขได้ดูแลและหากยังมีความต้องการศูนย์กระจายฯ ก็อาจจะเพิ่มจำนวนจัดสรรเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ แต่ก็ต้องยอมรับว่าในส่วนของร้านค้าทั่วไปก็อาจจะลดจำนวนลงตามไปด้วย

ส่วนการส่งออกหน้ากากอนามัย กระทรวงพาณิชย์ยังไม่อนุญาตให้มีการส่งออกยกเว้นกรณีที่เป็นหน้ากากที่ติดลิขสิทธิ์และเป็นหน้ากากที่ประเทศไทยไม่ได้ใช้ ส่วนหน้ากากที่ประเทศไทยใช้ไม่ได้อนุญาตให้มีการส่งออกแต่อย่างไร อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ได้มีผลบังคับใช้ในเรื่องของการควบคุมราคาไม่เกิน 2.50 บาท/ชิ้น และการครอบครองจำหน่าย ซึ่งหากมีการขายเกินราคาจะมีโทษจำคุก 5 ปี ปรับ 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ผลการจับกุมผู้ค้าหน้ากากอนามัยที่กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ปัจจุบันจับกุมดำเนินคดีไปแล้ว 102 ราย โดยแบ่งเป็นกรุงเทพฯ 74 ราย ส่วนต่างจังหวัดอีก 28 ราย ในความผิด 2 ข้อหา คือ มาตรา 28 ไม่ปิดป้ายแสดงราคา ซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และความผิดตามมาตรา 29 และ 30 คือการค้ากำไรเกินควรและกักตุนสินค้า ซึ่งมีโทษหนักจำคุก 7 ปี ปรับสูงสุด 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในส่วนการจับกุมผู้ค้าออนไลน์ จับกุมไปทั้งหมด 14 ราย อย่างไรก็ดี หากพบเห็นการกระทำความผิด แจ้งข้อมูลและหลักฐานมายังกรมการค้าภายใน สายด่วน 1569