Workshop หอการค้า “พี่ช่วยน้อง” ฝ่าโควิด-19

ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ “ไทยช่วยไทย : โอกาสจากวิกฤตโควิด-19” ซึ่งจัดขึ้นโดยหอการค้าไทย เมื่อวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อระดมความเห็นพร้อมทั้งกำหนดแนวทางให้ความช่วยเหลือจาก 8 กลุ่มธุรกิจเข้าร่วม ได้แก่ กลุ่มธุรกิจที่พัก/โรงแรม/รีสอร์ต, กลุ่มธุรกิจค้าปลีก, กลุ่มธุรกิจอาหาร/เครื่องดื่ม/ภัตตาคาร, กลุ่มธุรกิจ entertainment and man made (สวนสนุก สวนน้ำศูนย์การประชุม), กลุ่มธุรกิจการเดินทาง, กลุ่มธุรกิจบริการทัวร์, กลุ่มธุรกิจ health and wellness และกลุ่มธุรกิจสื่อสารและประชาสัมพันธ์ในเครือข่ายของหอการค้ากว่า 1,000 รายซึ่งมีการจ้างแรงงานในระบบกว่า 10,000 คน

นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เบื้องต้นพบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อธุรกิจทั้ง 8 กลุ่ม ดังนั้น ทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกัน โดยเฉพาะรายใหญ่ต้องช่วยรายเล็กภายใต้มาตรการพี่ช่วยน้อง โดยผู้ประกอบการที่เข้าร่วมสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการดำเนินการไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 2 เท่า ส่วนรัฐคาดว่าจะมีมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 2% ต่อปี ให้ธนาคารพาณิชย์นำไปปล่อยสินเชื่อให้กับ SMEs

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า รัฐจะใช้โอกาสนี้ชี้แนะผู้ประกอบการ และกำหนดทิศทางการทำงาน 3 เรื่องเพื่อให้รอดในวิกฤตนี้ให้ได้ คือ

1.รัฐจะสื่อสารเชิงรุกเพื่อสร้างความมั่นใจในการป้องกันแพร่ระบาดของโรค

2.ผู้ประกอบการไม่ใช่แค่ลดราคา แต่ต้องการตลาดใหม่ ปรับสัดส่วนรายได้ของนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนไทยให้สมดุลกัน ลดพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างประเทศลง เน้นไปที่ตลาดประเทศที่มีศักยภาพใหม่ ๆ ไม่ใช่แค่ปริมาณ

3.สนับสนุนผู้ประกอบการให้รีบิลด์ตนเองในช่วงนี้ ทั้งซ่อมแซมตนเอง สร้างคุณภาพ เช่น สร้างมาตรฐานด้านความปลอดภัยในการท่องเที่ยว การเดินทาง ขณะที่ธุรกิจสามารถลงทุนปรับปรุงธุรกิจตัวเอง

นายจอมศักดิ์ ภูติรัตน์ กรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญการเผาพลอยคณะ 16 (GCT) ตัวแทนกลุ่มธุรกิจค้าปลีก กล่าวว่า วิกฤตครั้งนี้ถือเป็นจังหวะเหมาะ สามารถใช้ช่วงเวลา 2-3 เดือนนี้ที่ผู้ประกอบการจะลงทุนปรับปรุงธุรกิจตัวเอง ลงทุนคนพัฒนาคนให้มีคุณภาพ พัฒนาระบบความปลอดภัย โรงแรมสามารถปรับปรุงพื้นที่เพื่อรอวันที่การท่องเที่ยวกลับมา โดยรัฐเองเตรียมมาตรการสินเชื่อเข้ามาช่วย

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าห่วงว่าสถานการณ์ปัจจัยเสี่ยงจากโควิด-19ไม่ใช่เรื่องเดียวที่ภาคเอกชนกังวล สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือน ก.พ. 2563 ปรับตัวลดลงอยู่ที่ 44.9 จากเดือน ม.ค.อยู่ที่ 45.4 ต่ำสุดในรอบ 27 เดือน จากความกังวลจำนวนนักท่องเที่ยวหายไป

ภาวะภัยแล้ง ความกังวลจากปัญหาฝุ่น PM 2.5 ค่าเงินบาทอ่อนค่าจากเงินทุนจากต่างประเทศที่ไหลออกจากไทย และเศรษฐกิจโลกปรับตัวลดลง คาดการณ์ว่าเม็ดเงินจะหายไปจากระบบเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรก 500,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐอัดฉีดเงินเข้าระบบเพียง 150,000 ล้านบาทเท่านั้น

โดยภาคอุตสาหกรรมหดตัวสูงสุด รองลงมาคือ ภาคบริการ และท่องเที่ยวซึ่งพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลดัชนีลดลงสูงที่สุด ทั้งยังส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเสียหายไปไม่ต่ำกว่ารายละ 484,847 บาท จากยอดขาย กำไรลดลง ต้นทุนเพิ่ม และขาดสภาพคล่อง ซึ่งอาจส่งผลให้เอสเอ็มอีกว่า 73% มีโอกาสปรับลดแรงงานลง หรือบางรายจะเริ่มใช้วิธีลดการทำงานนอกเวลา (โอที) ลดสวัสดิการ ให้พนักงานหยุดงาน และใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงาน ลดเงินเดือน หรือให้พนักงานเกษียณเร็วขึ้น รวมถึงขอยืดระยะเวลาเครดิตกับคู่ค้าจาก 45 วันเป็น 90 วัน

ดังนั้น รัฐจะต้องเร่งออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำมาช่วย เพื่อเสริมทุนของผู้ประกอบการด้านสภาพคล่อง ลดการเก็บภาษีและอุดจุดเสี่ยงทั้งการบริหารจัดการน้ำ การกระตุ้นการจับจ่ายซื้อสินค้าและการท่องเที่ยว เร่งเบิกจ่ายงบประมาณกระจายลงไปถึงรากหญ้า และที่สำคัญต้องเพิ่มความมั่นใจให้ประชาชนว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ของไวรัสโควิด-19 หากอีก 6 เดือนข้างหน้าสถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลายจะส่งผลดีต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค