อุตสาหกรรมเหล็กหืดจับอีกปี ซัพพลายท่วมดีมานด์ก่อสร้างวูบ 2 ล้านตัน

file.Photographer: George Frey/Bloomberg via Getty Images

อุตสาหกรรมเหล็กไทยปี’63 ยังเหนื่อย ดีมานด์ทรุดเหลือ 16-17 ล้านตัน กำลังซื้อแผ่ว เหล็กนำเข้าดัมพ์ราคา คู่แข่งโรงเหล็กเตาอินดักชั่นโผล่ อีก 7 ล้านตัน ซัพพลายเหล็กเส้นท่วมตลาด ลุ้นเมกะโปรเจ็กต์ภาครัฐเพิ่มสัดส่วนการใช้เหล็กในประเทศ ชุบชีวิตอุตสาหกรรมครึ่งปีหลัง ดันราคาเหล็กขยับเกิน กก.ละ 18 บาท

นายประวิทย์ หอรุ่งเรือง กรรมการสมาคมอุตสาหกรรมเหล็กไทย เปิดเผยคาดการณ์อุตสาหกรรมเหล็กปี 2563 ว่า อัตราการเติบโตจะยังคงทรงตัว และถือเป็นปีที่หนักมากของอุตสาหกรรมเหล็ก โดยคาดการณ์ว่าปีนี้ปริมาณความต้องการใช้เหล็กในประเทศ น่าจะปรับลดลงเหลือ 16-17 ล้านตัน จาก 18 ล้านตัน ขณะที่สถานการณ์ราคาจะเป็นไปตามกลไกของตลาดซึ่งทรงตัวที่ กก.ละ 18 บาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหรือปรับขึ้นเล็กน้อย

เนื่องจากยังคงมีปัจจัยลบทั้งยอดขายรถยนต์ที่ลดลงถึง 30% ส่งผลกระทบมาก เพราะการผลิตรถยนต์ต้องใช้เหล็กเกรดพิเศษถึง 50% ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงซบเซา โครงการก่อสร้างภาครัฐชะลอตัว นักท่องเที่ยวลดลงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 เศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว ภัยแล้งที่ส่งผลต่อภาคเกษตรกระทบต่อกำลังซื้อ อีกทั้งปัจจุบันอุตสาหกรรมเหล็กยังคงประสบกับปัญหาการดัมพ์ราคา โดยเฉพาะนักลงทุนบางรายที่ได้รับการอนุญาตจากทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ให้สามารถตั้งโรงงานผลิตเหล็กเส้นขึ้นมาได้ โดยใช้กระบวนการหลอมเศษเหล็กด้วยเตาอินดักชั่น หรือระบบ induction furnace (IF) ในพื้นที่ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง กำลังการผลิตกว่า 7 ล้านตัน/ปี นับว่าสูงมากเป็นการเข้ามาแย่งตลาดในประเทศอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งขณะนี้ผ่านการรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เรียบร้อยแล้ว และอยู่ในขั้นของการทำประชาพิจารณ์

“เตาอินดักชั่นมันมีกระบวนการหลอม มีวิธีการใส่ส่วนผสมค่าเคมีที่ต่างจากเตาอาร์กเฟอร์เนซ ซึ่งเตาอินดักชั่นที่ผ่านมาพบว่ามันสร้างมลพิษทางอากาศ และผลิตเหล็กที่คุณภาพไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ทำให้ปัจจุบันมีเหล็กเบาขายในท้องตลาดจำนวนมาก และหากนักลงทุนรายนี้สามารถผลิตเหล็กขายได้ แน่นอนว่าจะมีเหล็กด้อยคุณภาพออกสู่ตลาดและมาดัมพ์ราคาแน่นอน แม้ว่าเหล็กเหล่านี้จะเข้าโครงการรัฐไม่ได้ แต่สามารถเข้าโครงการก่อสร้างทั่วไปได้ ประชาชนก็ตรวจสอบคุณภาพเหล็กยากอยู่ดี”

นอกจากนี้หลังจากการประกาศกระทรวงของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ห้ามตั้งโรงงานหรือขยายโรงงานผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตหรือเหล็กแท่งเล็ก สำหรับเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตทุกขนาดทุกท้องที่ในราชอาณาจักร เป็นเวลา 5 ปี ส่งผลให้มีบางโรงงานต้องปิดกิจการ และยังพบว่ามีการเร่ขายใบอนุญาตโรงงานที่ยังไม่หมดอายุ สุดท้ายเหล็กเส้นก็ยังล้นตลาดอยู่ดี

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการเหล็กในประเทศ คาดหวังปัจจัยบวกจากมาตรการทางภาครัฐ เข้ามาช่วยอุตสาหกรรมเหล็กที่คาดว่าจะประกาศขึ้นในไม่ช้า รวมถึงงบประมาณที่จะทยอยออกมาเพื่อลงทุนโครงการก่อสร้างของรัฐ โครงการก่อสร้างเอกชนที่จะส่งผลให้เกิดการลงทุนเร็วขึ้น และมาตรการสนับสนุนใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศ (local content) มากขึ้น

หลังจากทางสมาคมได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งล่าสุดได้มีคำสั่งให้กรมบัญชีกลางกำหนดคำนิยามของคำว่า เหล็กที่ผลิตในประเทศ จะหมายถึงอะไร เช่น บิลเลตก่อนจะมาเป็นเหล็กเส้นถูกผลิตที่ไหน ผู้นำเข้าเหล็กแล้วหลอมออกมาขายในประเทศด้วยหรือไม่ หรือหมายถึงนักลงทุนต่างชาติรายใดก็ตามที่ผลิตเหล็กขายในประเทศ หรือหมายถึงเฉพาะนักลงทุนไทยที่ผลิตเหล็กขายในประเทศเท่านั้นหลังจากกำหนดคำนิยามแล้วเสร็จ ทางกรมบัญชีกลางจะกำหนดการจัดซื้อจัดจ้าง การใช้เหล็กในโครงการรัฐ โดยเหล็กต้องได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.)

“เรามีหวังถึง 50% การผลักดัน local content กำลังจะเป็นไปได้จริง ทางกรมบัญชีกลางจะเริ่มประชุมเรื่องนี้ในไม่ช้า และจะต้องคำนึงถึงต่างประเทศด้วย เพราะมีโครงการจากการลงทุนของต่างชาติหลายโครงการที่ต้องใช้เหล็กจากประเทศเขา เช่น รถไฟรางคู่ ที่จีนมีแผนลงทุนในไทย เพราะไทยยังไม่สามารถผลิตเหล็กรางรถไฟได้ ดังนั้นก็อาจเป็นการกำหนดให้ใช้วัสดุก่อสร้างของไทยในโครงการนี้แทน สำหรับ local content ได้กำหนดให้ใช้ในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์แล้ว และในอนาคตจะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมเหล็กแน่นอน”