“หอการค้า” หั่นเป้าจีดีพีเหลือ 1.1% ชี้ “โควิด-ภัยแล้ง” เสียหาย 8.4 แสนล้าน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ศูนย์พยากรณ์ฯ ปรับจีดีพีไทยเหลือ 1.1% จากปัญหาโควิด-19 ภัยแล้ง กระทบเศรษฐกิจหนัก สูญเสียเม็ดเงินกว่า 8.4 แสนล้ายบาท แรงงานกว่า 2.3 ล้านคนกระทบ ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นต่ำสุดในรอบ 251 เดือน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ศูนย์พยากรณ์ฯ ปรับลดประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ลงจากเดิมขยายตัว 2.8% เหลือ 1.1% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดไวรัสโควิด-19 ไปทั่วโลก รวมถึงปัญหาภัยแล้งที่มีผลต่อพืชผลทางการเกษตร ความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบลงทุนและปัญหาฝุ่นพีเอ็ม2.5 ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจไทยได้รับความเสียหายรวม 841,498 ล้านบาท และมีผลต่อแรงงานที่เกี่ยวข้องกว่า 2.3 ล้านคน อีกทั้งพบว่าบริษัทเลิกจ้างงาน ลดการทำงานโอที ลดชั่วโมงการทำงาน หรือหยุดงานชั่วคราวมากขึ้น

ทั้งนี้ หากพิจารณาจากผลกระทบเป็นรายเหตุการณ์ พบว่า ผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยรวม 749,077 ล้านบาท แบ่งเป็นกระทบต่อการท่องเที่ยว 401,825 ล้านบาท ผลกระทบต่อการบริโภคเอกชนลดลง 117,333 ล้านบาท ผลกระทบการลงทุนภาคเอกชนลดลง 93,894 ล้านบาท และผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าลดลง 136,025 ล้านบาท

ขณะที่ ผลกระทบที่เกิดจากปัญหาภัยแล้ง คาดความเสียหาย 54,220 ล้านบาท และผลกระทบจากปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เสียหาย 6,200 ล้านบาท และ ปัญหาความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณ เสียหาย 32,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในส่วนของแรงงานที่ได้รับผลกระทบจำนวนกว่า 2.3 ล้านคน ผลกระทบเกิดจากการถูกเลิกจ้าง การถูกลดเวลาทำงาน การถูกลดชั่วโมงทำงานซึ่งมีผลต่อรายได้ของแรงงาน ทั้งนี้ หากพิจารณาเฉพาะผลกระทบที่เกิดจากไวรัสโควิด-19 ทำให้แรงงานได้รับผลกระทบกว่า 1.67 ล้านคน แบ่งเป็น แรงงานในธุรกิจภัตตาคารและโรงแรมได้รับผลกระทบจำนวน 629,064 คน การค้าส่งและค้าปลีก 283,472 คน การบริการ 180,391 คน การขนส่งและการสื่อสาร 42,515 คน การผลิตอาหาร 25,671 คน การเพาะปลูก 400,128 คน เป็นต้น ขณะที่ปัญหาจากภัยแล้งแรงงานได้มีผลกระทบจำนวน 643,613 คน แบ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรรม 623,065 คน, อุตสาหกรรมเคมี 1,561 คน, ค้าส่งค้าปลีก 9,961 คน, การบริการ 2,091 คน เป็นต้น

นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการปรัลประมาณการเศรษฐกิจลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.1% ศูนย์พยากรณ์ฯ ให้ความสำคัญมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และไม่สามารถคลี่คลายปัญหาได้ภายในเดือนพ.ค. นี้ และนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาเที่ยวในไทยลดลงเหลือ 33.5 ล้านคนหรือลดลง 15.7% จากปีก่อน และเสถียรภาพทางการเมืองมีความเปราะบาง

นอกจากนี้ ปัจจัยบวกที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจมาจากสหรัฐและจีนปฎิบัติตามข้อตกลงการค้าเฟสที่ 1 และไม่มีการปรับเพิ่มอัตราภาษีระหว่างกันอีก เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 30.50-31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ สถานการณ์ภัยแล้งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2557-2558

อย่างไรก็ตาม โอกาสที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลงจากการปรับประมาณ เหลือ 0.6% นั้น คือการระบาดไวรัสโควิด-19 ยังระบาดและคลีคลายภายในเดือน ส.ค. 63 จนมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเหลือ 30.7 ล้านคน สงครามการค้าเข้มข้นขึ้น ภัยแล้งหนักสุดรอบ 20 ปี ก็มีความเป็นไปได้

ในทางกลับกัน โอกาสที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มจากการปรับประมาณการณ์อยู่ที่ 1.6% คือ การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลงในเดือนเม.ย. 63 ทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 34.7 ล้านคน สงครามการค้าผ่อนคลาย เงินบาทอ่อนกว่า 31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัว ได้

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือน ก.พ. 63 อยู่ระดับ 64.8 ปรับลดลง 12 เดือนต่อเนื่อง ต่ำสุดในรอบ 251 เดือน หรือ 20 ปี 11 เดือน นับตั้งแต่เดือน เม.ย. 42 เป็นต้นมา แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคมีมุมมองต่อเศรษฐกิจไม่ดีอย่างมาก ทั้งเรื่องของรายได้ การจ้างงาน และอื่นๆ ปัจจัยหลักมาจากเรื่องของการระบาดไวรัสโควิด-19 จนทำให้ผู้บริโภคต้องระดมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่อง โดยทั้งในส่วนของผู้บริโภคและนักธุรกิจได้ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นตัวได้ในต้นปี 2564