อย่าลืมแล้ง! กรมชลฯเตือนเขื่อนใหญ่เหลือน้ำใช้แค่ 30% ทุ่ม 4 พันล้าน จ้างงานกระตุ้นเศรษฐกิจด่วน

เมื่อวันที่ 10 มี.ค.2563 นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบมาตรการด้านงบประมาณเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า ( โควิด-19) และสถานการณ์ภัยแล้ง โดยให้แต่ละหน่วยงานที่รับงบประมาณ ไปจัดสรรการใช้งบประมาณภายในหน่วยงานใหม่ เพื่อเอาไปดำเนินการจ้างแรงงาน กรมชลประทานได้งบประมาณปี 2563 วงเงิน 38,000 ล้านบาท ล่าสุด ได้ดำเนินการปรับงบประมาณใหม่ เพื่อสำงบประมาณไปใช้ในการจ้างงาน เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ในภาวะแล้ง ตามมติ ครม.เป็นวงเงินรวม 4,050 ล้านบาท สามารถจ้างงานได้ 58,300 คน

ทั้งนี้ งบประมาณดังกล่าวแบ่งได้ดังนี้คือ งบประมาณเดิมในการจ้างงานเอง  3,100 ล้านบาท จ้างงานได้ 41,000 คน หลัง ครม.มีคำสั่งให้เกลี่ยงบประมาณ สามารถดำเนินการเพิ่มได้ 700 ล้านบาท จ้างงานได้ 10,000 คน และยังมีงบกลางเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินประจำปี 2563 กรมชลประทานได้งบประมาณรวม 2,500 ล้านบาท ได้มีการดึงในส่วนนี้มา 10% หรือ 250 ล้านบาท สามารถจ้างงานได้ 7,300 คน

“หลังงบประมาณมีผลและสามารถใช้ได้ กรมชลประทานได้ดำเนินการจ้างงานไปแล้ว 6,000 คน และในการจ้างงานรอบแรกตามแผน วงเงิน 3,100 ล้านบาทจะสามารถจ้างงานเกษตรกร เพื่อสร้างรายได้ จากวิกฤตแล้ง ที่เกษตรกรในพื้นที่ต่างๆไม่มีน้ำในการประกอบอาชีพเกษตรกร ได้เต็มจำนวน 41,000 คนในเดือนเม.ย. จากนั้นก็จะทะยอยจ้างไปเรื่อยๆ จนกว่าจะครบตามวงเงินที่ตั้งไว้ 4,050 ล้านบาท โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมดครงการจ้างงานกับกรมชลประทาน จะได้ค่าจ้างวันละ 377 บาท ค่าจ้างที่จะได้เฉลี่ย 70,000-75,000 บาทต่อคน โดยอายุโครงการจ้างงานจะอยู่ที่ 2-7 เดือนแล้วแต่โครงการ ”

นายทองเปลว กล่าวว่า  กรมชลประทาน ได้จัดทำแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง ปี 2562/63 เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและลดผลกระทบจากสถานการณภัยแล้งที่เกิดขึ้นต่อภาคการเกษตร ชาวนา ชาวไร่ และเพื่อสนับสนุนช่วยเหลือการแก้ไขปัญหาระยะสั้นในฤดูแล้ง  โดยดำเนินการจ้างแรงงานเพื่อการชลประทาน มอบหมายหน่วยงานในกำกับพิจารณาดำเนินการเตรียมการจ้างแรงงานชลประทานโดยคัดเลือกโครงการที่เป็นงบลงทุน ประเภทงานซ่อมแชม บำรุงรักษา ขุดลอก ปรับปรุงงานชลประทานโครงการส่งเสริมการดำเนินงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ก่อสร้างแหล่งน้ำและระบบส่งน้ำเพื่อชุมชน ชนบทแก้มลิง การจัดการคุณภาพน้ำและโครงการป้องกันและบรรเทาภัยจากน้ำ ดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม กรมชลประทาน ได้ประกาศการจ้างงานให้เกษตรกรรับทราบโดยทั่วกัน โดยให้พิจารณาจ้างงานตามลำกับความสำคัญดังนี้คือ จ้างเกษตรกรในพื้นที่ และสมาชิกผู้ใช้น้ำของกรมชลประทานในพื้นที่ดำเนินโครงการ รวมถึงประชาชนและผู้ใช้แรงงานทั่วไปในพื้นที่ และหากแรงงานในพื้นที่เป้าหมายไม่เพียงพอ ให้พิจารณาจ้างเกาตรกร หรือแรงงานในพื้นที่ใกล้เคียง จากหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ลุ่มน้ำ ตามลำดับ

สำหรับเอกสารหลักฐานต่างๆต้องมีการรวบรวม จัดเก็บหลักฐานการประกาศรับสมัคร การจ้างงานแรงงาน ทุกคน ทุกครั้ง และต้องมีการถ่ายภาพในการร่วมปฏิบัติงานทุกกิจกรรม โดยต้องมีการบันทึกข้อมุลเพื่อเก็บเป็นหลักฐาน เพื่อความโปร่งใส ดดยดครงการจ้างงานทั้งหมดต้องเร่งรัดให้เสร็จภายใน 30 ก.ย.2563

นายทองเปลว กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศว่า ปัจจุบัน(12 มี.ค. 63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันประมาณ 38,212 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 54 ของความจุอ่างฯ โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 14,859 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 31 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 9,680 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 39 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 2,984      ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 16 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน

สำหรับผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งทั้งประเทศ ปัจจุบัน (12 มี.ค. 63) มีการใช้น้ำตามแผนฯไปแล้ว 12,234 ล้าน ลบ.ม.(แผนฯ 17,699 ล้าน ลบ.ม.) หรือร้อยละ 69 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำตามแผนฯไปแล้วประมาณ 3,328 ล้าน ลบ.ม.(แผนฯ 4,500 ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 74 ของแผนฯ

“ปัจจุบันมีเขื่อนขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำใช้การได้ น้อยกว่าร้อยละ 30 ทั้งสิ้น 18 แห่ง ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนแม่มอก เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนมูลบน เขื่อนลำแซะ เขื่อนลำนางรอง เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนทับเสลา เขื่อนกระเสียว เขื่อนคลองสียัด เขื่อนบางพระ เขื่อนหนองปลาไหล และเขื่อนประแสร์ โดยจะเน้นส่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น