ผลไม้ทะลัก 3 ล้านตัน พาณิชย์วาง 9 มาตรการรับมือ

เหลือเวลาอีก 1 เดือน ก่อนที่ผลผลิตผลไม้จะออกสู่ตลาดในช่วงเดือนเมษายน 2563 และในปีนี้คาดว่าจะมีปริมาณมากถึง 3 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ทว่า “จีน” ตลาดส่งออกผลไม้หลักอันดับ 1 ของไทย กำลังประสบปัญหาการระบาดของโควิด-19 จึงส่งออกไม่ได้ ทำให้หลายฝ่ายวิตกว่า ปีนี้ราคาผลผลิตไทยจะดิ่งเหวแน่นอน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประชุมร่วมกับภาครัฐและเอกชนกว่า 40 องค์กร ร่วมมือขับเคลื่อนมาตรการช่วยผลไม้ไทย สู้ภัย COVID-19 โดยกำหนดมาตรการ 9 มาตรการ ประกอบด้วย

1) การรับรองสวนผลไม้ GAP เพื่อให้เกษตรกร โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อนุมัติเงินเพิ่ม 3 ล้านบาท เพื่อเร่งการดำเนินการแล้ว และการเก็บเกี่ยวผลไม้ และอาศัยเยาวชนเข้าไปช่วยเสริมในเรื่องแรงงาน

2) ตั้งศูนย์รวบรวมผลไม้ที่จันทบุรี

3) ระบบการกระจายผลไม้ในประเทศร่วมกับสมาคมตลาดกลางและสมาชิก 20 ตลาดทั่วประเทศ ช่วยดูดซับผลผลิต 60-70% และมีโมเดิร์นเทรดต่าง ๆ ให้ความร่วมมือไปกระจายสู่ผู้บริโภคโดยตรง และประสานสายการบิน ประกอบด้วย แอร์เอเชีย ไทยสมายล์ บางกอกแอร์เวย์ส นกแอร์ ไลอ้อนแอร์ และการบินไทย ให้บริการผู้โดยสารสามารถหิ้วผลไม้ขึ้นเครื่องน้ำหนักไม่เกิน 20 กิโลกรัม ฟรี

4) การกระจายผลไม้ด้วยระบบออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น ไทย Post Mart ของไปรษณีย์ไทย ลาซาด้า ช้อปปี้ จตุจักรมอลล์ ไทยเทรดดอทคอม เป็นต้น

5) การส่งเสริมการขายในประเทศ โดยร่วมกับภาคเอกชนและศูนย์การค้าต่าง ๆ จัดเทศกาลผลไม้ในหลายพื้นที่ทั่วทุกภูมิภาค และการจัดโรดโชว์เพื่อส่งเสริมการขาย เช่น เทศกาลผลไม้ในต่างประเทศ การจับคู่ธุรกิจ การจัด food festival และกิจกรรมส่งเสริมการบริโภค

6) แก้ปัญหาสภาพคล่องโดยเตรียมวงเงิน 1,000 ล้านบาท ช่วยชดเชยดอกเบี้ย 3% ให้ผู้ส่งออกเป็นเวลา 6 เดือน เพื่อช่วยลดต้นทุนส่งเสริมการส่งออก และชดเชยให้กับสหกรณ์การเกษตรที่รวบรวมผลไม้ในประเทศเป็นเวลา 10 เดือน เพื่อช่วยรวบรวมผลไม้กระจายดีขึ้น และสมาคมตลาดกลาง สมาคมผู้ค้าส่งมีการบริการให้กรมการค้าภายใน ช่วยสนับสนุนการส่งออกให้คล่องตัวยิ่งขึ้น

7) มาตรการทางกฎหมายจัดการกับล้งที่รับซื้อผลไม้ที่กดราคารับซื้อ ล้งต้องติดป้ายแสดงราคาชัดเจนและเป็นธรรม การทำเกษตรพันธสัญญาต้องเป็นไปตามมาตรฐาน

8) ระบบโลจิสติกส์ ขอความร่วมมือให้การบินไทยเข้ามาช่วยเสริมในเรื่องคาร์โก้ เพื่อเพิ่มพื้นที่และช่วยให้การส่งออกสะดวกคล่องตัวมากขึ้น

9) กระทรวงเกษตรฯจะจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังผลกระทบสินค้าการเกษตร จาก COVID-19 โดยผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถให้ข้อมูลและขอความช่วยเหลือที่ www.nabc.go.th

อย่างไรก็ตาม เรื่องสำคัญที่สุดนอกจากระบบการกระจายผลไม้แล้ว คือ การแก้ปัญหาการส่งออก โดยเฉพาะมาตรฐานส่งออกไปตลาดจีน ที่ยังมีความซ้ำซ้อนถือเป็นเรื่องสำคัญ จากนี้ไปเซ็นทรัลแล็บ และ CCIT ของจีน จะลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อให้การยอมรับมาตรฐานร่วมกัน ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยแก้ปัญหาการส่งออกผลไม้ได้ในที่สุด