แนะเจรจายูเคก่อน Brexit จบ หวังลดภาษี‘ประมง-เกษตร’

หอการค้าฯชงพาณิชย์ชิงเปิดเจรจาความตกลงแบบพันธมิตรทางการค้า “strategic partnership” ไทย-ยูเค ก่อนจบ Brexit หวังลดภาษีสินค้าเกษตร-ประมง เป็น 0-5% ปี’64 ด้าน “โบลลิเกอร์” เผยผลการศึกษาเห็นโอกาสขยายการค้า-ลงทุนยูเค 

นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย และในฐานะกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับสหราชอาณาจักร (ยูเค) เป็นสิ่งที่ไทยควรเดินหน้าโดยเร็ว ส่วนรูปแบบการเจรจาอาจใช้รูปแบบการสร้างพันธมิตรทางการค้า (strategic partnership) ไม่ต้องใช้รูปแบบเอฟทีเอก็ได้ เพื่อให้สามารถขยายมูลค่าการค้า การลงทุนระหว่างกัน และหากสรุปได้ภายในปี 2563 และให้มีผลบังคับใช้ได้ภายในปี 2564 จะส่งผลดีมาก  

สำหรับกลุ่มสินค้าที่ต้องการให้เปิดเจรจาก่อน คือ สินค้าเกษตรและอาหาร เช่น ข้าว ผัก ผลไม้ ไก่ สินค้าประมง ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกไปยูเคถึง 25% เป้าหมายลดภาษีลง 0-5% ส่วนกลุ่มสาขาที่ควรให้ความสำคัญในการดูแล เช่น เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและสิทธิบัตรยา เนื่องจากมีผลต่อประชาชนโดยรวม

เหตุผลที่ต้องการให้รัฐเดินหน้าเจรจาการค้ารูปแบบพันธมิตรการค้าก่อนเป็นเอฟทีเอนั้น เนื่องจากที่ผ่านมาอังกฤษให้ความสำคัญโดยจัดให้ไทยเป็นประเทศที่อยู่ในรายชื่อที่ต้องการเปิดเจรจาการค้าด้วย ทั้งยังพร้อมเปิดเจรจาการค้าก่อนที่ผลเบร็กซิตจะบังคับใช้ในปลายปี 2563 เนื่องจากยูเคให้ความสำคัญเรื่องความมั่นคงทางด้านอาหาร ซึ่งประเทศไทยถือว่าเป็นผู้ส่งออกอาหารสำคัญของโลก นอกจากนี้ในแต่ละปีมีนักลงทุนและนักท่องเที่ยวไทยเข้าไปในยูเคจำนวนมาก

“มีโอกาสสูงที่จะเริ่มเจรจาไม่ต้องรอให้เบร็กซิตมีผลบังคับใช้ก่อน การศึกษาโมเดลข้อตกลงจากประเทศอื่น ๆ เช่น เวียดนาม สหรัฐ ไม่สำคัญ เพราะหากเปิดโต๊ะเจรจาการค้าได้ผลการเจรจานั้นก็ขึ้นอยู่กับข้อตกลงที่จะหารือกัน”

ส่วนการเจรจาเอฟทีเอกับอียูนั้น มองว่าอียูต้องใช้เวลานาน 4-5 ปี เนื่องจากเป็นการเจรจากลุ่มประเทศ 27 ประเทศ การเจรจาและหาข้อตกลงร่วมกันใช้เวลานาน เห็นได้จากหลายประเทศที่หาข้อสรุปไม่ได้ในปัจจุบัน

ด้าน ดร.รัชดา เจียสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยผลการศึกษา “โอกาสและแนวทางการขยายการค้าและการลงทุนของไทยและสหราชอาณาจักร” ว่า ปัจจุบันไทยมีข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับ 17 ประเทศทั่วโลกคิดเป็นมูลค่าการค้าครอบคลุมประมาณ 64% ของการค้าไทย ส่วนอีก 36% ของการค้าไทยที่ประเทศไทยไม่มีเอฟทีเอด้วย ซึ่งในกลุ่มนี้มีอังกฤษเป็นประเทศที่มีมูลค่าการค้ากับไทยมากที่สุดเป็นอันดับ 3 รองจากสหรัฐ และสหภาพยุโรป (อียู) อีกทั้งไทยยังได้ดุลการค้าจากยูเคดังนั้น ยูเคถือว่าเป็นประเทศที่น่าสนใจในการเปิดเจรจาเอฟทีเอ เพื่อขยายโอกาสทางการค้า ลดปัญหาและอุปสรรคการค้าทั้งในรูปแบบภาษีและไม่ใช่ภาษีระหว่างกัน

ในปี 2561 ไทย – ยูเคมีการค้ากันมูลค่า 7,039 ล้านเหรียญสหรัฐ ไทยส่งออกมูลค่า 4,027 ล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้ามูลค่า 3,012 ล้านเหรียญสหรัฐ ได้ดุลการค้า 1,015 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น สินค้าเกษตร อุปกรณ์ขนส่ง เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรที่ไม่ใช้ไฟฟ้า แร่และโลหะ ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เครื่องจักรที่ไม่ใช้ไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ แร่และโลหะ  

“ด้านการลงทุน ในปี 2561 ยูเคเข้ามาลงทุนในไทย ประมาณ 137.89 ล้านเหรียญสหรัฐ ในธุรกิจ เช่น การผลิตคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ กิจกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ กิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย การผลิตกระดาษ และการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า ซึ่งตัวเลขยังน้อย ดังนั้น โอกาสจะดึงการลงทุนยังมีอีกมาก”