ทูตสหรัฐ “ไมเคิล จี. ดีซอมบรี” ชูธงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ขยายลงทุนในไทย

ไมเคิล จี. ดีซอมบรี เอกอัครราชทูตสหรัฐ ประจำประเทศไทย

หลังได้รับการเสนอชื่อจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ให้เป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐ ประจำประเทศไทย เมื่อ 17 ก.ค. 2562 และวุฒิสภาสหรัฐให้ความเห็นชอบ เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2563 ที่ผ่านมา ล่าสุดเอกอัครราชทูต ไมเคิล จี. ดีซอมบรี ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับนโยบายและภารกิจในการสานต่อความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ ตลอดจนการส่งเสริมผลประโยชน์ของสหรัฐ และการดูแลคุ้มครองบุคคลสัญชาติสหรัฐในประเทศไทย หลังเข้ามาดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการ

3 แนวทางสานสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ

ด้วยภูมิหลังและประสบการณ์ในการทำงานที่ต้องอาศัยความรู้ทั้งด้านเศรษฐศาสตร์ นิติศาสตร์ ซึ่งเป็นสาขาหลักที่สำเร็จการศึกษา บวกกับคลุกคลีอยู่ในวงการธุรกิจ เพราะเป็นหนึ่งในผู้บริหารสำนักกฎหมายที่ดำเนินงานด้านการควบคุมและการเข้าซื้อกิจการในทวีปเอเชียมากว่า 20 ปี ทำให้ทูตสหรัฐประจำประเทศไทยคนใหม่รับรู้ และเข้าใจสถานการณ์เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ในภูมิภาคเอเชีย อินโด-แปซิฟิก รวมทั้งประเทศไทยอย่างดียิ่ง ประกอบกับหลายสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ได้ไปร่วมประชุมกับเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อพูดคุยกันเกี่ยวกับนโยบายของสหรัฐ หนึ่งในนั้นคือนโยบายเกี่ยวกับอาเซียน รวมทั้งไทย ซึ่งสหรัฐให้ความสำคัญและมองว่าเป็นจุดศูนย์กลางของเอเชีย-แปซิฟิก

นายดีซอมบรีกล่าวว่า ในการทำหน้าที่ทูตสหรัฐประจำประเทศไทย แนวทางในการดำเนินนโยบายแบ่งเป็น 3 เรื่องหลัก ๆ ได้แก่ 1.การเสริมสร้างความเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับสหรัฐ 2.การส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับสหรัฐ และ 3.การส่งเสริมธรรมาภิบาลและความโปร่งใส

การส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ

การเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับสหรัฐ ถือเป็นนโยบายที่ทั้ง 2 ฝ่ายให้ความสำคัญ และจากที่ได้ร่วมลงนามในสนธิสัญญาความร่วมมือทางการค้าระหว่างกันตั้งแต่อดีต ที่ผ่านมาจึงมีธุรกิจสหรัฐเข้ามาลงทุนในประเทศไทยต่อเนื่อง ขณะที่ธุรกิจไทยก็เข้าไปลงทุนในสหรัฐเช่นเดียวกัน อย่าง บมจ.บ้านปู กลุ่ม ซี.พี. บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC)

โดยสรุปปัจจุบันทั้ง 2 ประเทศ มีความร่วมมือระหว่างกัน 3 ส่วน ได้แก่ 1.โครงการความช่วยเหลือในด้านโครงสร้างพื้นฐาน 2.โครงการความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเป็นไปตามนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไทยแลนด์ 4.0 และ 3.โครงการความร่วมมือทางด้านพลังงาน

การผลักดันการลงทุนไทย-สหรัฐ

นายดีซอมบรีกล่าวว่า นโยบายเศรษฐกิจอีกด้านหนึ่งที่จะพยายามผลักดัน และเป็น 1 ในเสาหลักที่สหรัฐมีนโยบายต่อประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก คือ ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ประชุมหารือบริษัทสหรัฐบางส่วนที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในประเทศไทย ซึ่งบริษัทเหล่านี้มีพนักงานรวมแล้วกว่า 1.6 หมื่นคน โดยมีแผนจะทำงานร่วมกับบริษัทต่าง ๆ ของสหรัฐที่อยู่ในประเทศไทย และจะพยายามส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศ ทั้ง 2 ด้าน คือ การขยายการลงทุนของบริษัทสหรัฐในไทย และการลงทุนของธุรกิจไทยในสหรัฐ และมองว่าจะให้สิ่งเหล่านี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการปรับแก้ไขกฎหมายที่ยังมีปัญหา เพื่อจูงใจต่างชาติเข้ามาลงทุนหรือเข้ามาดำเนินธุรกิจมากกว่านี้

นโยบายเกี่ยวกับอีอีซี

และพร้อมจะสนับสนุนการลงทุนของธุรกิจสหรัฐในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) รวมทั้งการเข้าไปลงทุนในพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ เพราะอีอีซีเป็นโครงการหนึ่งที่มีขนาดใหญ่ที่ภาคเอกชนสนใจ ที่ผ่านมามีโอกาสได้พบปะกับภาคเอกชนสหรัฐที่เป็นสมาชิกหอการค้าอเมริกัน มีทั้งตัวแทนกูเกิล เฟซบุ๊ก และบริษัทสหรัฐอีกจำนวนมากที่ลงทุนในประเทศไทยอยู่แล้ว ส่วนหนึ่งมีการหารือเกี่ยวกับการแสวงหาลู่ทางการลงทุนในพื้นที่อีอีซีด้วย

สงครามทางการค้าสหรัฐ-จีน

สำหรับประเด็นเทรดวอร์ ทูตสหรัฐชี้แจงว่าการค้าที่ไม่เป็นธรรมของจีนส่งผลกระทบด้านลบต่อสหรัฐมานานแล้ว และมีการเจรจาระหว่าง 2 ประเทศเมาตลอด อย่างไรก็ตาม ยินดีที่สถานการณ์ล่าสุดมีแนวโน้มดีขึ้น และทั้ง 2 ฝ่ายจะเจรจากันเพื่อลดอุปสรรคปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นต่อไปอีก

การรับมือไวรัสโควิด-19

ส่วนปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นเชื้อไวรัสที่อันตราย และเป็นภัยคุกคามทั่วโลก เพราะแพร่ระบาดไปหลายประเทศรวดเร็ว จึงค่อนข้างเป็นห่วง แต่มองว่าประเทศไทยมีมาตรการในการรับมือที่ดีพอ และสหรัฐก็พร้อมร่วมมือกับไทยในการควบคุมป้องกัน ก่อนหน้านี้ ทางการสหรัฐก็ได้มอบเครื่องมือและเวชภัณฑ์สำหรับใช้ในการป้องกันโควิด-19 สำหรับใช้ในการสนับสนุนการป้องกันแก้ไขปัญหาไวรัสโควิด

นายดีซอมบรีระบุว่า ที่ผ่านมากล่าวได้ว่าสหรัฐกับไทยมีความร่วมมือกันทางด้านสาธารณสุขไทยอย่างใกล้ชิด และมีการทำงานร่วมกันทางด้านสาธารณสุขหลายด้าน ที่ยืนยันได้ชัดเจนประการหนึ่ง คือ หน่วยงานด้านสาธารณสุขที่ใหญ่ที่สุดที่อยู่นอกประเทศสหรัฐก็อยู่ในประเทศไทย และสหรัฐพร้อมจะร่วมมือป้องกันแก้ไขปัญหาไวรัสโควิดซึ่งเป็นภัยกับคนทั้งโลก

ห่วงอาชญากรรมข้ามชาติ “แม่โขง”

นอกจากนี้ สหรัฐกับไทยยังมีความร่วมมือด้านการทหาร เมื่อเร็ว ๆ นี้เพิ่งจะมีการฝึกร่วมประจำปีระหว่างทหารไทยกับทหารสหรัฐ หรือ Cobra Gold เป็นครั้งที่ 39 มี 29 ประเทศเข้าร่วม เพื่อรับมือความท้าทายด้านความมั่นคงระดับภูมิภาคและระดับโลก และส่งเสริมความร่วมมือและเสถียรภาพระหว่างประเทศทั่วภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยเพิ่มขีดความสามารถเพื่อให้สามารถปฏิบัติการที่ซับซ้อนร่วมกันในระดับพหุภาคี ทั้งทางอากาศ บนบก และทางทะเล

ทั้งนี้ ในประเด็นเกี่ยวกับความมั่นคง นายดีซอมบรีกล่าวถึงความกังวลของรัฐบาลสหรัฐเกี่ยวกับสถานการณ์ในแม่น้ำโขง โดยมองว่าแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำสายสำคัญระหว่างประเทศ ไหลผ่านประเทศจีน เมียนมา ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม มีประชากรหลายสิบล้านคนเกี่ยวข้องและใช้ประโยชน์ แต่ปัจจุบันแม่น้ำโขงมีหลายปัญหาที่มีความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นด้านกายภาพที่ด้านบนมีเขื่อน ขณะที่ด้านล่างนอกจากไม่มีมาตรการควบคุมดูแลอย่างดีพอแล้ว ยังมีความพยายามระเบิดเกาะแก่งในลำน้ำ มีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตราย นอกจากนี้ยังมีปัญหาอาชญากรข้ามชาติ ยาเสพติด สิ่งเหล่านี้ถือเป็นภัยที่คุกคามประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน

หนุนธรรมาภิบาล-โปร่งใส

ด้านการส่งเสริมสนับสนุนด้านธรรมาภิบาล เสรีภาพขั้นพื้นฐาน รวมทั้งความโปร่งใส ทูตสหรัฐย้ำว่า สนับสนุนการดำเนินการตามแนวทางประชาธิปไตยเต็มที่ และคิดว่าประชาธิปไตยในประเทศไทยอยู่ในระดับที่ดีและยังมีการพัฒนา เพราะหลังมีการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ทุกอย่างกำลังเดินหน้า มีความก้าวหน้าและมีแนวโน้มที่ดี เพียงแต่กระบวนการต่าง ๆ ในระบอบประชาธิปไตยอาจเป็นเรื่องยุ่งยาก และต้องใช้เวลา เพราะบางครั้งในบางประเทศอาจยุ่งเหยิง แต่ก็เป็นไปตามขั้นตอนประชาธิปไตย

เช่นเดียวกับกรณีแฟลชม็อบที่นิสิต นักศึกษา คนรุ่นใหม่ ออกมารวมตัวและแสดงความคิดเห็นทางการเมือง มองสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้ว่า เป็นการแสดงออกของทุกฝ่าย เป็นเรื่องที่ต้องรับฟัง แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย หรือมีความเอนเอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง รวมทั้งเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา สหรัฐก็มองเป็นด้านบวก และเข้าใจดีว่า ประชาธิปไตยเป็นความท้าทาย และบางครั้งก็วุ่นวายอยู่บ้าง นอกจากนี้ ยังพร้อมสนับสนุนการดำเนินนโยบายป้องกันและปราบปรามการคอร์รัปชั่นในอาเซียน และในประเทศไทยอย่างเต็มที่