กระทรวงแรงงาน ยืดอายุให้ต่างด้าวทำงานได้อีก 3 เดือน

คณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) เห็นชอบการผ่อนปรนให้แรงงานต่างด้าวที่การอนุญาตทำงานสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2563 สามารถอยู่ต่อในราชอาณาจักร และทำงานได้ต่อไปถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 โดย กระทรวงแรงงานและมหาดไทย จะออกประกาศดำเนินการ ที่สอดคล้อง

วันที่ 20 มีนาคม 2563 ที่ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 กระทรวงแรงงาน หม่อมราชวงศ์ จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการ การทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) ครั้งที่ 2/2563 โดยมี นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ พรชัยวิเศษกูล อธิบดีกรมการจัดหางาน คณะผู้บริหารกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น

หม่อมราชวงศ์ จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังการประชุมฯว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่มีการแพร่กระจายเป็นวงกว้าง ซึ่งรัฐบาลได้มีมาตรการป้องกัน โดยให้ปิดสถานที่ที่มีความเสี่ยงหรือสถานที่ที่มีประชาชนเป็นจำนวนมากชั่วคราว ส่งผลให้นายจ้างที่ต้องพาแรงงานต่างด้าวมายื่นขอรับใบอนุญาตทำงานภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563 อาจสุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด

กระทรวงแรงงานได้ปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวเพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันการแพร่ระบาด โดยออกประกาศกระทรวงแรงงาน ปรับปรุงรูปแบบการดำเนินการของศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ และเพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินการในศูนย์ฯ ที่ประชุมฯ จึงมีมติเห็นชอบมาตรการให้แรงงานต่างด้าวและผู้ติดตาม สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไปได้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 และให้แรงงานต่างด้าวสามารถทำงานได้ต่อไปถึงวันที่ 30มิถุนายน 2563 โดยให้กระทรวงแรงงานออกประกาศกระทรวงแรงงานเพื่อผ่อนผันให้แรงงานที่การอนุญาตทำงานสิ้นสุด สามารถทำงานได้ต่อไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ไปพลางก่อน และใช้บัญชีรายชื่อ (Name list) ที่กรมการจัดหางานออกให้แทนใบอนุญาตทำงานไปพลางก่อน และกระทรวงมหาดไทยออกประกาศกระทรวงมหาดไทย เพื่อผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวที่การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุด อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไปจนได้ถึง 30 มิถุนายน 2563 และยกเว้นค่าเปรียบเทียบปรับการอยู่เกินกำหนด (Over Stay)

นอกจากนี้ ยังขยายอายุใบรับรองแพทย์ ให้มีอายุ 90 วัน โดยจะนำผลการประชุมเข้าสู่การพิจารณาของครม. ต่อไปและในระหว่างนี้ ขอให้นายจ้าง/สถานประกอบการ รอฟังข่าวสารจากทางหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องต่อไป