ปิดด่านชายแดนทั่วประเทศ เชียงใหม่-ภูเก็ตสูญ 3 พันล้าน

จังหวัด​ภูเก็ต

ปิดสถานบริการ-บันเทิงทำผู้ประกอบการ-พนักงานอ่วม รายได้เข้าร้านคิดเป็นศูนย์ “เชียงใหม่-ป่าตอง” เสียหาย 3,800 ล้านบาท ร้องรัฐขอ “ยกเว้น” ส่งเงินประกันสังคม-ภาษีป้าย/โรงเรือน นำเงินเดือนพนักงานไปลดหย่อนภาษี 2 เท่า ขอเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้รัฐบาลมีคำสั่งปิดสถานบริการ-สถานประกอบการบันเทิงทั่วประเทศเบื้องต้นเป็นเวลา 14 วัน ได้ส่งผลกระทบต่อรายได้ผู้ประกอบการ-พนักงาน รวมไปถึงผู้ซัพพลายสินค้า และยังลุกลามไปถึงคำสั่งปิดด่านถาวรและจุดผ่อนปรนการค้าชายแดนทั้ง สปป.ลาว-เมียนมา-กัมพูชา และมาเลเซีย

โดย นายธนวรรธน์ พลวิชัย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ประเมินว่า หากรัฐบาลประกาศปิดประเทศจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเสียหายมูลค่าเดือนละ 240,000 ล้านบาท หรือ 8,000 ล้านบาทต่อวัน แบ่งเป็น ความเสียหายจากนักท่องเที่ยวที่ไม่สามารถเข้ามาในประเทศไทย คิดเป็นมูลค่า 180,000 ล้านบาท หรือ 6,000 ล้านบาทต่อวัน และผลกระทบจากการค้าชายแดนต้องหยุดชะงักลง 60,000 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 2,000 ล้านบาทต่อวัน

เชียงใหม่-ป่าตองกระอัก

นายธนิต ชุมแสง นายกสมาคมร้านอาหารและสถานบันเทิงเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันจำนวนร้านอาหารและสถานบันเทิงในจังหวัดเชียงใหม่มากกว่า 3,000 แห่ง ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 มาตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม มีผู้เข้ามาใช้บริการลดลงอย่างต่อเนื่องมากถึง 80% เกิดความความเสียหายไปแล้วมากกว่า 800 ล้านบาทต่อเดือน โดยเฉพาะเดือนมีนาคมถือเป็นช่วงวิกฤตที่สุด พนักงานร้านอาหารและสถานบันเทิงระหว่าง 15,000-20,000 คน “ตกอยู่ในสภาพไม่มีงานทำ หรือต้องทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง (leave without pay)” และเมื่อทางจังหวัดมีประกาศปิดสถานบันเทิงชั่วคราว 14 วัน พนักงานที่เหลืออยู่ต้องหยุดงานและอาจไม่ได้รับค่าจ้าง และยังกระทบไปถึงกลุ่มซัพพลายเออร์ที่ส่งผลผลิตหรือสินค้าให้กับร้านอาหารและสถานบันเทิงด้วย

ส่วนที่จังหวัดภูเก็ต หลังมีคำสั่งปิดสถานบริการจำนวน 130 แห่ง นายวีรวิชญ์ เครือสมบัติ ประธานชมรมผู้ประกอบการสถานบันเทิงหาดป่าตอง จ.ภูเก็ต กล่าวว่า กลุ่มผู้ประกอบการหาดป่าตองได้รับผลกระทบต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวสถานบริการทั้งหมดเป็นห่วงโซ่เป็นวงกว้าง มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจที่ป่าตองไม่ต่ำกว่าวันละ 100 ล้านบาท ในขณะที่ยังมีนักท่องเที่ยวคงเข้ามาใช้บริการกันอยู่ “ผมว่าทางจังหวัดภูเก็ตจะใช้นโยบายแบบเดียวกับส่วนกลางมาใช้ที่ป่าตองไม่ได้ และได้ทำหนังสือคัดค้านส่งถึงผู้ว่าฯไปแล้ว”  

ADVERTISMENT

โคราชขอยกเว้นเงินประกันสังคม

นายสหพล กาญจนเวนิช ผู้บริหารสถานบริการกินซ่า นครราชสีมา กล่าวว่า ผู้ประกอบการยินดีให้ปิดสถานบริการเพื่อให้เกิดความสบายใจและเป็นการรับผิดชอบต่อสังคม “แน่นอนมันกระทบต่อรายได้ถึงขั้นเป็นศูนย์หรือติดลบ” 

ADVERTISMENT

ดังนั้นจึงได้มีการปรับแผนเพื่อให้พนักงานในร้านมีรายได้เข้ามาแทนรายได้จากทิปของแต่ละคืน ด้วยการจำหน่ายอาหารผ่านออนไลน์และนำส่งแบบดีลิเวอรี่ เช่น ก๋วยเตี๋ยวหลอด ที่เป็นเมนูขึ้นชื่อของกินซ่า แต่ก็อยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ โดย 1) ขอให้ยกเว้นการเก็บเงินประกันสังคมส่วนที่ผู้ประกอบการต้องจ่ายให้พนักงานครึ่งหนึ่งเพื่อเข้ากองทุนประกันสังคม 2) ขอให้ผู้ประกอบการสามารถนำค่าใช้จ่ายเงินเดือนพนักงานไปเป็นยอดลดหย่อนภาษีให้กับผู้ประกอบการในช่วงปลายปี 2-3 เท่า และ 3) งดการเก็บภาษีป้ายและโรงเรือนเพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ

ขณะที่นายกมล สุทธิวรรณโนภาส เจ้าของผู้จัดการโรงแรมไชน่าการ์เด้น ในฐานะนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ทางสมาคมต้องการให้รัฐบาลประกาศปิดประเทศไปเลย 14 วัน เพื่อคัดกรองไวรัสโควิด-19 โดยไม่จำเป็นต้องปิดผับ บาร์ ร้านอาหาร เพราะ “ภายในประเทศยังพอมีกำลังซื้ออยู่” ขณะเดียวกันรัฐบาลควรสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 50,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 0.50% เข้าสู่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่มีอยู่กว่า 80,000 แห่ง และผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ รัฐควรลดหย่อนภาษีอย่างน้อย 1 ปี เช่น ภาษีป้าย ภาษีโรงเรือน ภาษีน้ำเสีย รวมถึงลดค่าน้ำประปา-ค่าไฟฟ้า

ทยอยปิดด่านถาวร-จุดผ่อนปรน

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ปัจจุบันมีการปิดด่านชายแดนถาวรไปแล้ว 13 จุด จากทั้งหมด 42 จุดทั่วประเทศ โดยด่านที่ปิดแล้ว ได้แก่ ด่านชายแดนไทย-สปป.ลาว ปิดแล้ว 4 จุด จากทั้งหมด 20 จุด ด่านชายแดนถาวรเชื่อมต่อไทย-มาเลเซีย 9 จุด เช่น จังหวัดยะลา สตูล นราธิวาส โดยการปิดด่านชายแดนถาวรเป็นการปิดการเดินทางทุกรูปแบบ ส่วนด่านชายแดนถาวรที่ยังเปิดบริการปกติ ประกอบด้วย ด่านชายแดนถาวรไทย-กัมพูชา 7 จุด ด่านชายแดนถาวรไทย-เมียนมา 6 จุด แต่คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าอาจมีการปิดด่านชายแดนถาวรเพิ่มขึ้นอีก ขึ้นอยู่กับการประเมินสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19  

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานจากจังหวัดหนองคายเข้ามา หลังรัฐบาล สปป.ลาวได้สั่งปิดจุดผ่อนปรนไทย-ลาวทั้งหมด 4 แห่ง (บ้านม่วง ต.บ้านม่วง อ.สังคม-บ้านหม้อ ต.บ้านหม้อ อ.ศรีเชียงใหม่-เทศบาลตำบลโพนพิสัย อ.โพนพิสัย-บ้านเปงจาน ต.โพนแพง อ.รัตนวาปี) ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม

ถึง 20 เมษายน 2563 คงเหลือไว้แต่จุดผ่านแดนสากล โดยชาวต่างประเทศที่จะข้ามแดนไป สปป.ลาว จะต้องขอวีซ่าจากสถานทูตลาวในไทย ไม่สามารถใช้บัตรผ่านแดนข้ามไปได้ ส่วนที่จังหวัดนครพนม ก็ได้มีการสั่งปิดจุดผ่อนปรนทั้งหมด 5 แห่ง ได้แก่ จุดผ่อนปรนอำเภอบ้านแพง, จุดผ่อนปรนอำเภอท่าอุเทน, จุดผ่อนปรนอำเภอเมืองนครพนม, จุดผ่อนปรนอำเภอธาตุพนม และจุดผ่านแดนถาวรท่าเทียบเรือเทศบาลเมืองนครพนม โดยมีการเปิดใช้บริการเพียงจุดเดียว คือ จุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3 เท่านั้นส่วนจุดผ่านแดนด้านอื่น ๆ ของประเทศนั้นมีรายงานจากจังหวัดสระแก้วว่า ได้ปิดช่องทางอนุโลมชั่วคราว 15 จุด ในพื้นที่ 4 อำเภอชายแดน (ตาพระยา-โคกสูง-อรัญประเทศ-คลองหาด) ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม-5 เมษายน 2563 ไปแล้ว

ขณะที่ นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ก็ได้มีคำสั่งปิดจุดผ่อนปรนที่เป็นเขตติดต่อกับประเทศเมียนมา 3 จุด จากทั้งหมด 4 จุด ได้แก่ จุดผ่อนปรนหัวฝาย, จุดผ่อนปรนเกาะทราย และจุดผ่อนปรนดินดำ โดยคงเหลือเพียงจุดผ่อนปรนปางห้า ต.เกาะช้าง ที่ยังเปิดตามปกติ แต่ด่านถาวรบริเวณฝั่ง จ.ท่าขี้เหล็ก 

ยังไม่มีคำสั่งให้ปิด แต่มีมาตรการคัดกรองชาวต่างชาติอย่างเข้มงวด ล่าสุด ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรีได้ออกคำสั่งปิดจุดผ่านแดนถาวร จุดผ่อนปรนการค้าและช่องทางอื่น ๆ ตลอดแนวชายแดนจังหวัดกาญจนบุรี เป็นการชั่วคราวแล้ว

มาเลย์ปิดด่านให้น้ำยางข้น

นายประพันธ์ บุณยเกียรติ ประธานคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังรัฐบาลมาเลเซียประกาศปิดประเทศ ทำให้การส่งออกยางพาราทางบกผ่านเข้ามาเลเซีย เพื่อไปลงที่ท่าเรือปีนัง ต้องหยุดชะงักตามไปด้วย แต่เนื่องจากมาเลเซียเป็นผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่ที่สุดในโลก การปิดประเทศทำให้วัตถุดิบน้ำยางข้นขาดแคลน เนื่องจากต้องนำเข้าจากประเทศไทยเป็นหลัก ส่งผลให้มาเลเซียยอมเปิดด่านนำเข้าน้ำยางจากประเทศไทย จึงถือเป็นโอกาสที่ไทยจะเร่งการส่งออกน้ำยางให้มากขึ้น การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จึงหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งดำเนินการดังกล่าว

ด้านนายสุเทพ เดชานุรักษ์ อุปนายกสมาคมน้ำยางข้นไทย กล่าวว่า การส่งออกน้ำยางข้นไปมาเลเซีย แต่ละเดือนสูงถึง 50,000 ตัน หรือคิดเป็น 55% ของการส่งออกน้ำยางข้นของไทย ประมาณ 110,000 ตันต่อเดือน การปิดประเทศจึงส่งผลให้สต๊อกน้ำยางของมาเลเซียขาดแคลน ในขณะที่ออร์เดอร์ถุงมือยางของไทยทุกโรงงานก็เต็มยาวไปจนถึงสิ้นปีนี้ และทำให้ทุกโรงงานต้องเพิ่มเต็มกำลังการผลิตเช่นกัน